x close

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ชี้ เกษตรกรรับเคราะห์ เป็นบทพิสูจน์จำนำข้าวล้มเหลว


ชูเกียรติ โอภาสวงศ์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ระบุว่า เกษตรกรคือผู้รับเคราะห์จากการบริหารโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่ล้มเหลว แม้สถานการณ์ข้าวไทยปีนี้อาจจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพรวมถือว่ายังน่าเป็นห่วง และต้องใช้เวลานานกว่าจะคลี่คลาย

            เมื่อวานนี้ (24 มกราคม 2557) นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการวิทยุ "สนามข่าว 101" คลื่น FM 101 โดยสรุปใจความได้ว่า สถานการณ์ข้าวไทยในขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะค่อนข้างวิกฤต เพราะนอกจากจะไม่มีการประกาศตัวเลขการส่งออกข้าวในปี 2556 ออกมาอย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่มีการนำข้าวขาวไปเป็นสินค้ามาตรฐานการส่งออก ทางเอกชนก็ไม่มีโอกาสได้เห็นตัวเลขอะไรทั้งสิ้น

            แม้เบื้องต้นคาดว่า ในปี 2557 ตัวเลขการส่งออกน่าจะกระเตื้องขึ้นประมาณ 1 ล้านตัน จากปี 2556 เพราะราคาข้าวใกล้ไทยเคียงกับราคาข้าวของเวียดนาม แต่ตัวเลขการรับจำนำข้าวปี 54/55 และปี 55/56 ที่คิดเป็นข้าวสารประมาณ 27 ล้านตันนั้น การที่รัฐบาลอ้างว่าขายข้าวได้ 1.8 แสนล้านบาท มีสต็อกข้าวเหลือ 14 ล้านตันนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้

            เพราะในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปี รัฐบาลไม่น่าจะขายข้าวได้ถึง 13 ล้านตัน โดยที่ผ่านมารัฐบาลอ้างถึงการขายข้าวระบบจีทูจีหรือระบบรัฐต่อรัฐ  โดยไม่พูดถึงตัวเลขการส่งออกอื่น ๆ รวมทั้งการขายภายในประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วการขายข้าวระบบจีทูจี อย่างมากน่าจะมีตัวเลขไม่น่าจะเกิน 500,000 ตันเท่านั้น

            และที่ผ่านมาในการใช้ระบบจีทูจีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานได้กล่าวว่า ถ้าผู้ซื้อนำเงินมาให้และมารับของถึงหน้าคลัง เขาจะเอาข้าวไปทำอะไรก็ไม่สนใจนั้น ถือว่าผิดหลักการบริหารเป็นอย่างมาก ซ้ำในเวลาต่อมายังตรวจสอบไม่ได้ด้วยว่าข้าวที่ขายไปนั้นไปอยู่ที่ไหนหรือผู้ซื้อนำไปเข้ากระบวนการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้หรือไม่

สมาคมผู้ส่งออกข้าว ชี้ ชาวนารับเคราะห์ เป็นบทพิสูจน์จำนำข้าวล้มเหลว

            นอกจากข้าวที่คงค้างอยู่ในสต็อก ก็ยังมีข้าวสารซึ่งเป็นข้าวใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าวอีกราว ๆ 6 ล้านตัน เมื่อรวมกับสต็อกเดิมที่มีอยู่ 14 ล้าน เท่ากับว่ามีข้าวในสต็อกถึง 20 ล้านตัน แม้จะเป็นเอกชนเองก็ถือว่าเป็นงานที่หนักมากในการบริหารจัดการ และประเด็นนี้ยังไม่รวมเรื่องราคาข้าวตกต่ำ และตัวเลขการส่งออกข้าวไทยที่ล้วนพ่ายแพ้แก่คู่แข่งจากประเทศอื่น ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

            ซึ่งหลังจากนี้คงไม่ต้องพูดเรื่องตัวเลขขาดทุน เพราะคาดว่าขาดทุนหนักอยู่แล้ว แต่การที่รัฐต้องเร่งระบายข้าวออกมา จะยิ่งทำให้ราคาข้าวถูกลง และส่งผลต่อราคาตลาดด้วย แน่นอนว่าผู้ที่น่าสงสารมากที่สุด คือ เกษตรกร เห็นได้จากการที่เกษตรกรจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินจากโครงการ แน่นอนว่าขณะนี้รัฐบาลคงกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะเกษตรเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง ดังนั้นในภาพรวมสถานการณ์ข้าวไทยถือว่าคงต้องทำใจ เพราะยังมองไม่เห็นหนทางว่า จะทำอย่างไรให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด

            อย่างไรก็ตาม แม้จะคาดว่าปัญหาดังกล่าวคงไม่จบภายในหนึ่งปีแน่นอน แต่สิ่งที่รัฐควรทำคือการเร่งระบายข้าวเก่าให้เร็วที่สุด เพราะหากเก็บไว้นานจนข้าวเสื่อมคุณภาพ ราคาข้าวก็จะยิ่งตกต่ำลงอีก ถึงจะเข้าใจว่าระบบราชการอาจทำให้การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ล่าช้า หรือต้องผ่านกระบวนการเยอะ แต่จำนวนข้าวมหาศาลที่อยู่ในสต็อก และกำลังจะเข้าสู่สต็อกเพิ่มอีกนั้น กำลังทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทย เพราะตลาดในปัจจุบันไม่เอื้อให้ไทยขายข้าวได้เป็นจำนวนมาก เพราะถึงแม้ราคาข้าวไทยใกล้เคียงตลาดโลก แต่เรายังมีคู่แข่งรายอื่น ๆ เช่น อินเดีย และเวียดนาม ที่กำลังแย่งตลาดกันอย่างหนักในขณะนี้












เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ชี้ เกษตรกรรับเคราะห์ เป็นบทพิสูจน์จำนำข้าวล้มเหลว อัปเดตล่าสุด 4 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 15:01:25 1,737 อ่าน
TOP