เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ธปท. เตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพสวมรอยบัตร แนะข้อควรรู้ก่อนใช้ตู้เอทีเอ็มเพื่อพ้นภัยจากการแฮกข้อมูล
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 นางชนาธิป จริยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้เสียหายถูกแฮกข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มที่อาคารออลลซีซั่น ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 และที่อาคารซีพี ทาวเวอร์ 3 ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศคง. จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่ใช้บัตรเอทีเอ็มเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรและรหัสประจำบัตร
โดย นางชนาธิป กล่าวว่า สำหรับวิธีการล้วงข้อมูลของมิจฉาชีพจะมี 2 แบบ คือ
1. การใช้เครื่องคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็กหรือเครื่องสกิมเมอร์ (Skimmer) โดยนำเครื่องไปติดตั้งที่ช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็มเพื่อคัดลอกข้อมูล พร้อมติดตั้งเครื่องครอบกดตัวเลข หรือติดกล้องขนาดจิ๋วเพื่อแอบดูรหัสขณะกดเงิน
2. การใช้เครื่องคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็กขนาดพกพาหรือเครื่องแฮนด์เฮลด์สกิมเมอร์ (Handheld Skimmer) ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนสามารถซ่อนในฝ่ามือได้ โดยแอบรูดบัตรของเจ้าของบัตรเพื่อคัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็ก ขณะอีกฝ่ายเผลอหรือส่งบัตรให้แก่มิจฉาชีพที่อาจทำทีเข้ามาช่วยเหลือหรือให้บริการ
นางชนาธิป กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมาก ทำให้มิจฉาชีพมีวิธีที่ล้ำสมัยเพื่อขโมยเงินของเรา ดังนั้นเราควรรู้วิธีป้องกันเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ดังนี้
1. ก่อนที่จะใช้ตู้เอทีเอ็มทุกครั้ง ควรสังเกตช่องสอดบัตรและแป้นกดตัวเลขว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ หากสงสัยก็ไม่ควรใช้เครื่องและรีบแจ้งให้ธนาคารทราบทันที
2. สังเกตความผิดปกติบริเวณตู้เอทีเอ็ม เช่น กล่องใส่โบรชัวร์ เพราะอาจเป็นที่ซ่อนกล้องรูเข็มเพื่อแอบดูการกดรหัส
3. ควรใช้มือบังแป้นกดตัวเลขขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้กล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้หรือคนที่อยู่ด้านหลังเห็นรหัสผ่าน
4. ควรเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เสมอ และรีบเปลี่ยนรหัสทันที เมื่อสงสัยว่า บุคคลอื่นทราบรหัสของเรา
นอกจากนี้ นางชนาธิป ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง อนาคตเหล่ามิจฉาชีพคงมีวิธีใหม่ที่ล้ำสมัยมากขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภคควรติดตามข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันกลวิธีของมิจฉาชีพอยู่เสมอ โดย ศคง. จะนำข้อมูลมาเผยแพร่ใน เฟซบุ๊ก ศคง. 1213 ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถติดตามข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการเงินได้
อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภครายใด พบว่าตนเองถูกแฮกข้อมูลและถูกขโมยเงินจากบัญชี สามารถโทรปรึกษาได้ที่คอลเซ็นเตอร์ ศคง. โทร. 1213
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก