x close

ทริคประหยัดง่าย ๆ กับการช้อปของเข้าบ้าน



ทริคประหยัดง่าย ๆ กับการช้อปของเข้าบ้าน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ เลยนะคะ ว่าข้าวของทุกอย่างมีราคาพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ๆ แถมไม่ใช่ข้าวของแค่อย่างสองอย่าง แต่ดูเหมือนจะทยอยขึ้นราคาทีละหลายอย่างพร้อม ๆ กัน (สาบานจริง ๆ นะว่าไม่ได้รู้สึกไปเอง !) ทำเอาผู้บริโภคอย่างเรากระเป๋าเหี่ยวกระเป๋าแห้ง เพราะข้าวของแต่ละอย่างก็ยังต้องกินต้องใช้กันอยู่ทุกวันในขณะที่เงินเดือนก็ยังเท่าเดิม อย่างนี้ถ้ายังมีพฤติกรรมการกินการใช้แบบเดิมคงเสี่ยงที่จะชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือไม่ก็เงินเก็บลดน้อยร่อยหรอ ถ้าเกิดเรื่องฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมาคงจะลำบากแน่ ๆ

          ในสภาวะเช่นนี้จึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องรัดเข็มขัดจัดระเบียบการจับจ่ายใช้เงินของตัวเองซะ เริ่มต้นง่าย ๆ จากการจับจ่ายซื้อของกินของใช้เข้าบ้านนี่แหละค่ะ เพราะนับเป็นการช้อปปิ้งที่ใกล้ตัวที่สุด ใคร ๆ ก็ต้องทำกัน แต่ไม่ใช้ใครทุกคนที่จะสามารถจับจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไป แต่เรื่องแบบนี้ก็ฝึกและปรับปรุงตัวกันได้ กระปุกมันนี่จึงนำทริคประหยัดกับการช้อปของเข้าบ้านมาฝากกันค่ะ

วางแผนการใช้จ่าย

          เริ่มต้นแบบเบสิกสุด ๆ ด้วยการวางแผนค่าใช้จ่าย เพื่อที่คุณจะได้รู้คร่าว ๆ ว่า มีงบประมาณสำหรับการจับจ่ายแต่ละหมวดเท่าไหร่ แบ่งคร่าว ๆ เช่น กันไว้เพื่อการออม 20%, ค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์ 20%, ค่าบันเทิงเริงใจ กินข้าวนอกบ้านบ้าง 10%, กินใช้ประจำวัน 30% ที่เหลืออีก 20% สำหรับซื้อข้าวของเข้าบ้าน

          สมมติว่าคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท ก็จะมีเงินสำหรับช้อปปิ้งอยู่ 20% คือ 4,000 บาทต่อเดือน คราวนี้ก็ถึงเวลามาจัดสรรแล้วว่าจะบริหารเงิน 4,000 บาท ในการช้อปปิ้งและซื้อข้าวของเข้าบ้านอย่างไร การวางแผนการใช้จ่ายแบ่งเงินเป็นสัดส่วนเช่นนี้จะทำให้ควบคุมพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองได้มากขึ้น

ทำลิสต์รายการของที่จะไปช้อปปิ้งเสมอ

          ก่อนจะมุ่งหน้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำใกล้บ้าน ให้สำรวจเสียก่อนว่าของอะไรในบ้านขาดเหลือเท่าไหร่ แล้วจดรายการของที่จำเป็นต้องซื้อลงในกระดาษ หรือจะทยอยจดไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งเมื่ออะไรหมดไป แล้วติดกระดาษโน้ตใบนั้นไว้กับปฏิทิน ยามไปช้อปก็อย่าลืมที่จะก็ดึงโน้ตแผ่นนี้ไปด้วย วิธีนี้นอกจากช่วยประหยัดเวลาในการเดินช้อปในซูเปอร์ฯ เพราะรู้ว่าจะต้องเดินไปหยิบอะไรตรงไหนแล้ว ยังช่วยให้คุณรู้ตัวตลอดเวลาที่ซื้อของ เพราะจะต้องหยิบจับแต่ข้าวของที่ "จำเป็น" ตามรายการที่จดมาลงไปในตะกร้าเท่านั้น หากเผลอไปคว้าสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่มีในรายการลงไป คุณก็จะทราบทันทีว่านี่เป็นการซื้อของสนองกิเลสแล้วล่ะ เมื่อฉุกคิดได้ก็ต้องพิจารณากันอีกทีว่าของที่อยากได้ชิ้นนี้ ซื้อไปแล้วจะได้ใช้จริง ๆ หรือไม่ ถ้าใช่ก็หยิบไปจ่ายเงินด้วย แต่ถ้าไม่ใช่ก็เดินไปวางคืนไว้ที่ชั้นนะจ๊ะ

กำหนดวันซื้อของเข้าบ้านที่แน่นอน

          ควรไปสักเดือนละ 1-2 ครั้งสำหรับของใช้อย่างพวกแชมพู สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก ฯลฯ และทุก ๆ สัปดาห์สำหรับของกินหรือของสด การกำหนดความถี่แบบนี้จะดีกว่าไปช้อปทุกเมื่อที่นึกออกว่าอยากซื้ออะไร เพราะโอกาสที่คุณจะเผลอหยิบของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ติดไม้ติดมือกลับมาด้วยมีสูงมาก

วางแผนเมนูอาหารที่จะปรุงกินที่บ้านไว้ล่วงหน้า

          วิธีนี้คุณจะรู้ว่าจะต้องซื้อหรือตุนอะไรไว้ในตู้เย็นบ้าง

ใช้เวลาในซูเปอร์มาเก็ตให้สั้น

          อย่าเดินอ้อยอิ่งนานนัก จะเผลอหยิบจับนู่นดูนี่ที่อยู่นอกเหนือความต้องการ สุดท้ายอาจหยิบใส่รถเข็นเอาไปจ่ายเงินด้วย หรือไม่ก็ตกหลุมโซนอาหารชิมฟรี ชิมแล้วก็ถูกโอ้โลมหว่านล้อมชักจูงเชิญชวนให้ซื้อกลับมา และก็อดไม่ได้ที่จะซื้อติดมือมาอย่างน้อย 1 แพ็กทุกทีเลยสิน่า

ใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีส่วนลด

          รู้หรือไม่ว่าการแข่งขันระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละเจ้านั้นดุเดือดไม่น้อย โปรโมชั่นลดราคาหั่นราคาจึงมีออกมาเสมอ ๆ ประโยชน์จึงตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างเราจะได้ซื้อของในราคาประหยัดขึ้น สิ่งที่คุณควรทำก็คือสำรวจราคาสิ่งของที่คุณต้องการจากซูเปอร์ฯ แต่ละแห่ง แม้ข้าวของชิ้นเดียวราคาอาจไม่ต่างกันนัก แต่ถ้ารวมของหลาย ๆ ชิ้นเข้าด้วยกันก็คงเป็นเงินหลายสิบบาทอยู่ เมื่อลองดูแล้วก็จะรู้ว่าจะไปช้อปที่ซูเปอร์ฯ ไหนถึงคุ้มค่า อ้อ ! แต่อย่าลืมคำนวณเรื่องค่าเดินทางเข้าไปด้วยนะคะ ถ้าได้ของถูกกว่าแต่ร้านอยู่ไกล พอเอาค่าสินค้ามารวมกับค่ารถก็อาจเป็นจำนวนเงินพอ ๆ กันก็ได้นะ

สมัครสมาชิกรับสิทธิพิเศษ

          หากคุณใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งไหนเป็นประจำ สมัครสมาชิกไปเสียเลยก็จะดีค่ะ (เดี๋ยวนี้เขาเปิดให้สมัครฟรี ๆ แทบทุกแห่งเลยล่ะ) โดยสมาชิกจะได้ส่วนลดพิเศษในการซื้อของบางรายการ หรืออาจสิ่งตอบแทนเป็นคูปองเงินสดสำหรับซื้อของในครั้งต่อไป ซึ่งจะช่วยคุณเซฟเงินได้อีกวิธีหนึ่ง

ซื้อแพ็กใหญ่อาจได้ถูกกว่า

          ถึงคุณจะอยู่คอนโดหรืออยู่หอพักแบบตัวคนเดียว การซื้อของแบบแพ็กใหญ่ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราแนะนำนะคะ โดยเฉพาะของใช้ที่ไม่ได้เน่าเสียกันง่าย ๆ อย่างเช่น กระดาษทิชชู สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ฯลฯ ทั้งนี้เพราะจากการคำนวณราคาสินค้าหลาย ๆ อย่างแล้วมักพบว่า สินค้าที่มาจากแพ็กใหญ่หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาณมากกว่าเมื่อนำมาหาราคาเฉลี่ยต่อหน่วยแล้ว มักมีราคาถูกกว่าแบบที่แยกชิ้นขายเดี่ยว ๆ หรือแบบที่จุปริมาณน้อยกว่าเสียอีก แต่ถ้าไม่แน่ใจ ลองจิ้มเครื่องคิดเลขในโทรศัพท์คำนวณเปรียบเทียบกันดู ณ ที่ตรงนั้นก็ได้นะคะ เพื่อความชัวร์ !

ไม่ซื้อเพียงเพราะของแถมล่อใจ

          กลยุทธ์ทางการค้าที่ผู้ขายใช้ได้ดีเสมอก็คือการแจกของแถม และเมื่อขึ้นชื่อว่าแถมแล้วใคร ๆ ก็ตาลุกวาว เพราะมันให้ความรู้สึกคุ้มค่าในการจับจ่ายมากกว่า แต่มันก็อาจไม่มีประโยชน์กับคุณมากนักหากว่าของแถมที่ให้มานั้นไม่ได้เป็นของที่คุณจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นของประเภทเดียวกับที่คุณมีอยู่แล้วและก็ยังคงใช้งานได้ดีอยู่ อย่างเช่น ซื้อโยเกิร์ตแถมแก้ว (แก้วที่บ้านก็มีเยอะจนใช้ไม่ครบทุกใบอยู่แล้ว) ซื้อช็อกโกแลตแถมกระดาษโน้ต (กระดาษโน้ตก็มีใช้อยู่แล้ว คุณภาพกระดาษดีกว่าด้วยซ้ำ) ฯลฯ เมื่อเป็นแบบนี้ของแถมที่คุณได้มาก็จะไม่ได้มีประโยชน์อะไร นอกจากจะช่วยให้รกห้อง รกบ้าน รกตู้เก็บของมากขึ้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก่อนจะคว้ามือไปหยิบของเพื่อเอาของแถม หยุดคิดสักหน่อยเถอะว่าของที่จะซื้อนั้นจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ และของที่แถมมานั้นมีประโยชน์กับเราจริงหรือเปล่า (แต่ในกรณีของที่ต้องซื้ออยู่แล้วและมีของแถมให้มา อันนี้ก็ไม่ว่ากันนะจ๊ะ)

ซื้อของสดตอนห้างใกล้ปิดอาจได้ราคาพิเศษ

          ช่วงเวลานาทีทองของคุณพ่อบ้านแม่บ้านน่าจะเป็นเวลาค่ำ ๆ เมื่อห้างใกล้ปิด เพราะแผนกเนื้อ กับข้าวสำเร็จรูป และขนมปัง มักจะลดราคาสินค้า เพื่อเคลียร์ของที่ผลิตขึ้นในวันนั้นให้หมดไป หากบังเอิญว่าคุณก็ต้องการซื้อสินค้าในรายการที่ลดราคาอยู่แล้วก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะจะได้ในราคาประหยัด แถมของที่นำมาลดราคาก็ใช่ว่าจะเป็นของเก่าเก็บ แต่เป็นของที่ทางห้างหรือซูเปอร์ฯ ไม่สามารถเก็บข้ามคืนเพื่อขายวันต่อไปได้เพราะผิดนโยบายขายของสดใหม่วันต่อวัน แต่คุณเองก็ต้องตรวจสอบความสดของอาหารก่อนจะหยิบมาใส่ตะกร้าด้วยนะคะ และควรรีบบริโภคให้หมดโดยไวภายในวันรุ่งขึ้น

ซื้อเนื้อก้อน-ผักทั้งต้น-ผลไม้เป็นลูก ถูกกว่าแบบหั่นให้แล้ว

          ตรงโซนของสด คุณจะพบทั้งเนื้อก้อนที่ต้องนำไปหั่นเอง กับเนื้อสไตล์-เนื้อหมักมาแล้วพร้อมทำกิน รวมทั้งผักทั้งต้นและผักแบบมีหลาย ๆ ชนิดปนเข้าด้วยกัน (ส่วนใหญ่มักเป็นผักสลัด) รวมทั้งผลไม้ขายเป็นกิโลหรือเป็นลูก ๆ กับแบบหั่นแล้วพร้อมกิน และคุณก็จะพบด้วยว่าราคาเนื้อก้อน ผักสดทั้งต้น และผลไม้ทั้งลูกนั้นมักถูกกว่าแบบที่เตรียม-หั่นมาให้เรียบร้อย ถ้าคุณเป็นคนที่ปรุงอาหารเองอยู่แล้วและไม่ได้รังเกียจรังงอนอะไรที่จะต้องมาหั่นเนื้อหั่นผักปอกผลไม้เอง ก็ซื้อแบบตัวเลือกแรกดีกว่านะคะ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกนิด แถมยังได้กลับมาล้างเนื้อ ล้างผักผลไม้ และหมักเอง มั่นใจในความสะอาดและรสชาติยังถูกปากอีกต่างหาก

กินให้อิ่มก่อนช้อป

          นี่เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนอาจคาดไม่ถึง แต่หากคุณลองได้สังเกตตัวเองดูสักนิดก็อาจได้พบว่า ยามคุณไปเดินซื้อของในขณะที่ท้องหิวมักจะซื้อของเยอะกว่าปกติ โดยเฉพาะในหมวดของกิน เพราะคุณมีความหิวเป็นแรงผลักดันนั่นเอง เพราะฉะนั้นกินข้าวให้อิ่มเรียบร้อยก่อนจะไปเดินช้อปปิ้งจึงจะดีนะจ๊ะ

ใช้ถุงผ้า

          ตอนนี้มีซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งตื่นตัวเรื่องการใช้ถุงผ้าโดยมีนโยบายตอบแทนเป็นส่วนลด หรือเป็นคะแนนสะสมสำหรับคิดเป็นส่วนลดอีกครั้งให้ลูกค้าที่นำถุงผ้าไปใส่ข้าวของเอง ถ้าคุณกำลังจะออกไปซื้อข้าวของไม่มากมาย หยิบถุงผ้าติดไปสักใบอาจจะได้ส่วนลดพิเศษหรือคะแนนด้วยนะ (แต่ถึงไม่มีส่วนลดใด ๆ เอาถุงผ้าไปใส่ของก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ช่วยลดขยะพลาสติกไปในตัวเนอะ)

          เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้เสมอ ยิ่งในยุคข้าวยากหมากแพงแข่งกันขึ้นราคาแบบนี้อะไรประหยัดได้ก็ต้องทำกัน ถ้าอย่างนั้นอย่าลืมนำทริคประหยัดในการช้อปของเข้าบ้านที่กระปุกมันนี่นำมาฝากฝากไปใช้กันด้วยนะจ๊ะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทริคประหยัดง่าย ๆ กับการช้อปของเข้าบ้าน อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:48:20 8,034 อ่าน
TOP