How to ขายไฟให้การไฟฟ้า หลังติดโซล่าเซลล์ 2567 คืออะไร มีขั้นตอนยื่นเรื่องอย่างไร ขายได้กี่บาท ต้องเสียภาษีไหม ไปหาคำตอบกัน
เรียกได้ว่าตอนนี้มีคนสนใจการติดโซล่าเซลล์กันมากเลยทีเดียว สำหรับคนไหนที่กำลังพิจารณาหรือกำลังติดตั้งโซล่าเซลล์อยู่ รู้หรือไม่ว่าประโยชน์ของติดโซล่าเซลล์ นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟในบ้าน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถหาทุนคืนด้วยวิธีการขายไฟให้การไฟฟ้าได้ ถ้าอยากรู้ว่าจะคุ้มค่าไหม ขายได้เท่าไหร่ ต้องเสียภาษีหรือเปล่า และมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง เราจะมาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กันค่ะ
การขายไฟให้การไฟฟ้า คืออะไร ?
การขายไฟให้การไฟฟ้า คือ กระแสไฟฟ้าที่การไฟฟ้า (กฟน. และ กฟภ.) รับซื้อจากบ้านเรือนทั่วไปที่ผลิตไฟฟ้าได้เองจากการติดตั้งโซล่าเซลล์ไว้บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) ภายใต้ชื่อ โครงการ Solar ภาคประชาชน โดยมีจุดประสงค์ให้บ้านเรือนผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง แล้วค่อยขายส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้า อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่ถือเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
อยากขายไฟให้การไฟฟ้า
เตรียมตัวอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?
สำหรับคนที่สนใจอยากขายไฟให้การไฟฟ้า สามารถเตรียมเอกสารและสมัครขอเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยใช้เอกสารและทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณา
- คำขอแจ้งหรือเอกสารหลักฐานประกอบการจดแจ้งที่ได้รับจาก กกพ.
- สำเนาบัตรประชาชนจากเครื่องวัดฯ
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือน และสำเนาบัตร ปชช. กรรมการผู้มีอำนาจลงนามและสำเนา แบบ ภ.พ.01 หรือแบบ ภ.พ.20 (ถ้ามี)
- สำเนาใบแจ้งค่าไฟฟ้าของอาคารที่ติดตั้งแผง
- เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของแผงโฟโตโวลเทอิก
- แผนผังแสดงที่ตั้งของสถานที่ติดตั้งแผงโฟโตโวลเทอิก
- แบบ Single Line Diagram พร้อมมีวิศวกรไฟฟ้าลงนามรับรองแบบตามระดับแรงดันที่ขอเชื่อมต่อ ระดับแรงดัน 230/400 V ใช้ตั้งแต่ระดับภาคีวิศวกร และระดับแรงดัน 12 kV ขึ้นไป ใช้ตั้งแต่ระดับสามัญวิศวกร
- สำเนาใบประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรตามระดับแรงดันที่ขอเชื่อมต่อที่ยังไม่หมดอายุ
- เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของอินเวอร์เตอร์
- รูปถ่ายบ้านอยู่อาศัยที่จะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์
- หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท (กรณีมอบอำนาจ)
วิธีสมัครเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน
- นำเอกสารไปยื่นสมัครขอเข้าร่วมโครงการผ่านทางเว็บไซต์ https://myenergy.mea.or.th
- กรอกหมายเลขสัญญา (CA) และหมายเลขเครื่องวัดฯ ที่ปรากฏในใบแจ้งค่าไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า
- รอผลพิจารณาจากการไฟฟ้า โดยจะแจ้งผู้ผ่านการคัดเลือกทางเว็บไซต์ mea.or.th และอีเมลของผู้สมัคร
- หากผ่านการคัดเลือกให้นำเอกสารข้างต้นพร้อมแบบคำขอขายไฟฟ้าที่ลงนามแล้วไปส่งให้กับการไฟฟ้า
- จ่ายค่าเข้าร่วมโครงการ 2,140 บาท
- นำส่งหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลการโอนเงินฝากธนาคาร พร้อมสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคาร
- นำส่งแบบขอชำระค่าไฟฟ้าโดยหักบัญชีเงินฝากธนาคาร
- นำส่งเอกสารประกอบการทำสัญญา ดังนี้
กรณีเจ้าของเครื่องวัดฯ ลงนามด้วยตนเอง
- บุคคลธรรมดา : สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของเครื่องวัดฯ 2 ชุด
- นิติบุคคล : สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ออกให้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนวันทำสัญญา และสำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ 2 ชุด
กรณีมอบอำนาจ
- หนังสือมอบอำนาจตัวจริง พร้อมติดอากรแสตมป์ (มอบอำนาจ 1 เรื่อง ติด 10 บาท มอบอำนาจมากกว่า 1 เรื่อง ติด 30 บาท) ตัวจริงพร้อมสำเนา 1 ชุด
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ 2 ชุด
ขายไฟให้การไฟฟ้าได้กี่บาท
ต้องเสียภาษีไหม กี่ปีคืนทุน ?
การไฟฟ้าจะรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยการไฟฟ้าจะนำกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปคิดเป็นเงินได้ก่อน ซึ่งในส่วนนี้จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% ด้วย จากนั้นนำไปหักลบกับค่าไฟในแต่ละเดือน ก็จะเป็นค่าไฟส่วนที่เหลือที่เจ้าของบ้านต้องจ่ายให้กับการไฟฟ้านั่นเอง และผู้ที่มีรายได้จากการขายไฟให้การไฟฟ้า จำเป็นต้องนำรายได้ในส่วนนี้ไปใช้ยื่นในการเสียภาษีเงินได้ประจำปีกับทางกรมสรรพากรด้วย
โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการติดโซล่าเซลล์เพิ่มเติมได้ที่ ไขข้อข้องใจ ติดโซล่าเซลล์ ประหยัดค่าไฟได้จริงไหม กี่ปีถึงคืนทุน
คุณสมบัติผู้ที่จะยื่นขายไฟให้การไฟฟ้า
- เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย
- เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า หากชื่อไม่ตรงกับชื่อเจ้าของเครื่องวัดฯ จะต้องติดต่อกับการไฟฟ้าเพื่อขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าก่อน
เงื่อนไขการขายไฟให้การไฟฟ้า
- กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ สมัครกับทาง กฟน. (การไฟฟ้านครหลวง) ส่วนจังหวัดอื่น ๆ สมัครได้ที่ กฟภ. (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
- ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองก่อน แล้วค่อยขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือให้การไฟฟ้า ในอัตราหน่วยละ 2.20 บาท ระยะเวลาในการรับซื้อ 10 ปี
- จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ที่ระบุในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าภายใน 270 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า
- มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แรงดันต่ำ (230/400 โวลต์) ตามตารางดังต่อไปนี้
การยื่นขออนุญาตขายไฟให้การไฟฟ้า
- ติดต่อบริษัท/ผู้รับติดตั้งให้ออกแบบระบบ
- ยื่นใบสมัครผ่านทางเว็บไซต์ https://myenergy.mea.or.th
- การไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาภายใน 45 วัน นับแต่วันยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าครบถ้วน
- ผู้ที่ผ่านการพิจารณาลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา
- ผู้ขอเชื่อมต่อขอหนังสือจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผ่านเว็บไซต์ www.erc.or.th ในเมนู "ยื่นคำขอรับใบแจ้งประกอบกิจการพลังงาน ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต"
- การไฟฟ้าทดสอบระบบผลิตไฟฟ้าภายใน 10 วันทำการ
- เชื่อมต่อระบบและจ่ายไฟเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD)
เริ่มสนใจติดโซล่าเซลล์ที่บ้านกันมากขึ้นไหมคะ ? เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟ ได้เปิดแอร์ฉ่ำ ๆ ในช่วงหน้าร้อนแล้ว ยังเป็นการนำพลังงานสะอาดมาทำให้เกิดประโยชน์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือสามารถขายไฟส่วนที่เหลือให้การไฟฟ้าได้อีกด้วย เรียกว่าลงทุนครั้งเดียวได้ถึง 3 ต่อเลย สำหรับใครที่ลังเลเรื่องติดโซล่าเซลล์อยู่ก็ลองนำข้อมูลข้างต้นไปพิจารณากันดูนะคะ