x close

สรุปกรอบหลักโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต หลัง ครม. เห็นชอบ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช็กเลย !

          สรุปกรอบหลักโครงการ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ ดิจิทัลวอลเล็ต มีเงื่อนไขอะไรบ้าง สินค้าไหนใช้ไม่ได้ เช็กเลย !

สรุปกรอบหลักโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          วันที่ 23 เมษายน 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (เงินดิจิทัลวอลเล็ต) ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 และมีมติเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


          ทั้งนี้ ได้ให้ความเห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ เงินดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งด้านวัตถุประสงค์ ความจำเป็น กลุ่มเป้าหมาย เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า คุณสมบัติร้านค้า การจัดทำระบบ แหล่งเงิน ระยะเวลาการดำเนินโครงการ รวมถึงการป้องกันการทุจริต โดยมีรายละเอียดดังนี้

สรุปกรอบหลักโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล


กลุ่มเป้าหมาย :


          - ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน

          - อายุเกิน 16 ปี

          - ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี

          - มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่าย ระหว่างประชาชนกับร้านค้า :


          - ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ

          - การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face)

          - ให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก

          - ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

          - ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า

- ประเภทสินค้า :


          - สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List)

          - Negative List (สินค้าที่ไม่ร่วมโครงการ) ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ

          - กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ

คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ :


          - ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT)

          - ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

การจัดทำระบบ :


          - พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย

แหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการฯ 5 แสนล้านบาท :


          - (1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท

          - (2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท

          - (3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ : ไม่เกินเดือนกันยายน 2569


          การป้องกันการทุจริต : มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ

สรุปกรอบหลักโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า

ขอบคุณข้อมูลจาก thaigov.go.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปกรอบหลักโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต หลัง ครม. เห็นชอบ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช็กเลย ! อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2567 เวลา 11:21:49 9,667 อ่าน
TOP