ภาษีที่ดิน 2567 จ่ายเท่าไหร่ จ่ายที่ไหน เช็กอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง 4 ประเภท

          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2567 เก็บเท่าไร ใครมีบ้าน คอนโด ออฟฟิศ ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ดินรกร้างว่างเปล่า มาศึกษาไว้เพื่อเสียภาษีที่ดินได้อย่างถูกต้อง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

           สำหรับคนที่มีบ้าน คอนโด ที่ดินต่าง ๆ ทราบไหมว่า ในปี 2567 แม้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะยังคงเรียกเก็บตามอัตราเดิม แต่จะไม่มีส่วนลดให้ดังเช่นในปี 2566 อีกแล้ว เท่ากับว่าผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียภาษีที่ดิน 2567 เต็มอัตรา 100% โดยกระทรวงมหาดไทยจะขยายเวลาชำระภาษีออกไปให้อีก 2 เดือน ดังนั้น เราควรตรวจสอบทรัพย์สินที่ตัวเองถือครองอยู่ว่าเข้าข่ายการใช้ประโยชน์ประเภทใด และต้องจ่ายภาษีเท่าไรภายในวันไหน ตามข้อมูลด้านล่างนี้

ใครต้องจ่ายภาษีที่ดิน 2567 ?

  • เจ้าของที่ดิน/เจ้าของสิ่งปลูกสร้าง/เจ้าของห้องชุด คือผู้ที่มีชื่อในโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ 

  • ผู้ครอบครองทรัพย์สิน ทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐ เช่น ผู้เช่าที่ราชพัสดุอยู่ แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของที่นั้น ๆ แต่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายฉบับนี้

  • เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น เช่น 

    • ซื้อคอนโดมิเนียมในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 จะต้องเสียภาษีที่ดินในปี 2567 เพราะถือว่าได้ครอบครองภายในวันที่ 1 มกราคม 2567

    • ซื้อบ้านในวันที่ 2 มีนาคม 2567 จะยังไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน 2567 เพราะยังไม่ได้ครอบครองในวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่ต้องไปเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2568

  • หากเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นไม่ใช่คนเดียวกัน ให้ต่างคนต่างเสียภาษีเฉพาะส่วนที่ตัวเองเป็นเจ้าของ

  • กรณีมีผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป ทุกคนจะต้องรับผิดชอบภาษีดังกล่าวร่วมกัน

ภาษีที่ดิน 2567 จ่ายเท่าไหร่

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาพจาก : กระทรวงการคลัง

           การจัดเก็บภาษีที่ดินแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่ดินนั้น ๆ 4 ประเภท โดยคิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได เพิ่มขึ้นตามมูลค่าราคาประเมิน ได้แก่

1. ที่ดินเกษตรกรรม เพดานภาษีสูงสุด 0.15%

ภาษีที่ดินเกษตรกรรม

          ที่ดินเกษตรกรรม คือ การใช้ที่ดินประกอบการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด แต่ไม่รวมการทำประมงและทอผ้า นอกจากนี้ยังต้องเพาะปลูกในอัตราขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยระบุไว้ เช่น

  • ปลูกกล้วย ขั้นต่ำ 200 ต้น/ไร่

  • ปลูกกาแฟ พันธุ์โรบัสต้า ขั้นต่ำ 170 ต้น/ไร่, พันธุ์อาราบิก้า ขั้นต่ำ 533 ต้น/ไร่

  • ปลูกเงาะ, มะม่วง, มะพร้าว, ทุเรียน, ลิ้นจี่, ลำไย ขั้นต่ำ 20 ต้น/ไร่ 

  • ปลูกพริกไทย 400 ต้น/ไร่

  • ปลูกมะนาว ขั้นต่ำ 50 ต้น/ไร่

  • ปลูกมะขาม 25 ต้น/ไร่

  • ปลูกยางพารา 80 ต้น/ไร่

  • ปลูกส้มโอ, ส้มเขียวหวาน, ส้มจุก 45 ต้น/ไร่

  • ปลูกสตรอว์เบอร์รี 10,000 ต้น/ไร่

อัตราภาษีที่ดินเกษตรกรรมปี 2567

1. เจ้าของที่ดินเป็นบุคคลธรรมดา :

  • ที่ดินทำการเกษตร มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี

  • ที่ดินทำการเกษตร มูลค่าเกิน 50 ล้าน จะได้รับยกเว้น 50 ล้านบาทแรก/เขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทแรก เสียภาษีตามอัตราปกติ

ภาษีที่ดินเกษตรกรรม 2567

2. เจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคล : เสียภาษีที่ดินตามอัตราปกติ คือ
ภาษีที่ดินเกษตรกรรม 2567

2. ที่พักอาศัย เพดานภาษีสูงสุด 0.30%

ภาษีที่ดินบ้าน

          คำว่า "ที่พักอาศัย" ตามกฎหมายฉบับนี้ หมายความว่า

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย 

  • ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น

  • บ้านเช่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดที่ปล่อยเช่ารายเดือน (แต่ถ้าเป็นบ้านหรือห้องพักให้เช่าเป็นรายวันจะจัดอยู่ในหมวดใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น ๆ ซึ่งเสียภาษีแพงกว่า)

  • โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นสถานที่พักชั่วคราวที่เจ้าของดัดแปลงเป็นห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง มีผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน จัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร และเป็นการพักรวมกับเจ้าของในชายคาเดียวกัน อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม

          โดยการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยจะแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

2.1 บ้านหลังหลัก (เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่อในทะเบียนบ้าน)

          บ้านหลังหลัก คือ บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น จะได้รับยกเว้นภาษีในส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ถ้ามีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีตามอัตราปกติ
ภาษีที่ดินบ้านหลังหลัก

2.2 บ้านหลังหลัก (เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)

           บ้านหลังหลักประเภทนี้ บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เช่น ปลูกบ้านในที่ดินของคนอื่น หรือเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียม และมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต้องเสียภาษีที่ดิน ตามอัตรานี้
ภาษีที่ดินบ้านหลังหลัก

2.3 บ้านหลังอื่น ๆ เช่น บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป หรือบ้านที่ไม่มีชื่อเราอยู่ในทะเบียนบ้าน

           หมายถึงบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังขึ้นไป จะต้องเสียภาษีโดยไม่ได้รับการยกเว้น ดังนี้
ภาษีที่ดินบ้านหลังที่ 2

หมายเหตุ : หากเป็นทรัพย์สินที่ได้รับมรดกมาจะได้ลดภาษีอีก 50%

          กรณีเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดา และได้รับมรดกมา โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย หากจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2562 จะได้ลดภาษีที่ดิน 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย

          ตัวอย่างเช่น คุณบีได้รับมรดกบ้านและที่ดิน มูลค่า 70 ล้านบาท โดยเป็นบ้านหลังหลัก มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 กรณีนี้จะได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนเกินอีก 20 ล้านบาท จะเสียภาษี 0.03% คิดเป็น 6,000 บาท แต่ได้ลดภาษี 50% เหลือจ่ายภาษีเพียง 3,000 บาท

3. ที่ดินใช้ประโยชน์อื่น นอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย เพดานภาษีสูงสุด 1.20%

ภาษีที่ดินพาณิชยกรรม

           ในที่นี้หมายถึงที่ดินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม หอพักรายวัน บ้านเช่ารายวัน โรงงาน ซึ่งจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 0.3-0.7%
ภาษีที่ดินพาณิชยกรรม 2567

4. ที่รกร้างว่างเปล่า เพดานสูงสุด 3%

ภาษีที่ดินว่างเปล่า

           สำหรับที่ดินที่ปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่มีการเพาะปลูก ประกอบการเกษตรกรรม ไม่ได้ปลูกสร้างบ้าน อาคาร หรือพัฒนาเพื่อประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ จะถูกจัดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียภาษีแพงที่สุด ดังนี้
ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า

            อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของที่ดินปล่อยรกร้างไว้นานติดต่อกัน 3 ปี เมื่อไปเสียภาษีในปีที่ 4 จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% และจะเพิ่มอัตราภาษีอีก 0.3% ในทุก ๆ 3 ปีที่ปล่อยที่ดินทิ้งไว้โดยไม่นำมาทำประโยชน์อะไร แต่โดยรวมทั้งหมดแล้วจะเก็บภาษีได้ไม่เกิน 3% ซึ่งเป็นเพดานสูงสุด

ภาษีที่ดิน 2567 จ่ายเมื่อไหร่
หมดเขตวันไหน

          กระทรวงมหาดไทยได้ขยายระยะเวลาเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2567 ออกไปอีก 2 เดือน ดังนั้น ไทม์ไลน์การจ่ายภาษีที่ดิน 2567 จึงเป็นดังนี้

  • ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ อัตราภาษี และรายละเอียดอื่นในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/สำนักงานเขต ออกหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน/บ้าน ให้ผู้เสียภาษีทราบก่อนวันที่ 1 เมษายน 2567

  • แจ้งการประเมินภาษีให้ผู้เสียภาษีทราบ : ภายในเดือนเมษายน 2567 ทั้งนี้ หากผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งแล้วพบข้อมูลไม่ถูกต้อง จะสามารถใช้สิทธิ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ภ.ด.ส.6

  • ชำระภาษี : ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ในกรณีที่ต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวนเกิน 3,000 บาท สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่เสียดอกเบี้ย 

    • ชำระงวดที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน 2567

    • ชำระงวดที่ 2 ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

    • ชำระงวดที่ 3 ภายในเดือนสิงหาคม 2567

  • อปท. มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระ : ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

  • อปท. แจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา : ภายในเดือนสิงหาคม 2567

วิธีคัดค้านการประเมินภาษีที่ดิน

          เมื่อได้รับหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน/บ้าน และพบข้อมูลไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องคัดค้านได้ภายใน 30 วัน ตามขั้นตอนต่อไปนี้

     1. นำเอกสารไปยื่นที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีที่ออกแบบแจ้งประเมิน และแสดงความจำนงขอคัดค้านการประเมิน เช่น หากอยู่ใน กทม. ก็ให้ไปติดต่อสำนักงานเขตที่สิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านช่องทางอื่น ๆ ตามที่ อปท. นั้นกำหนด

     2. กรอกคำร้องคัดค้านการประเมินหรือเรียกเก็บภาษีที่ดินฯ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

          หากไม่คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน จะถือว่ายอมรับการประเมินของเจ้าพนักงาน และต้องเสียภาษีที่ดินตามประเภทของการใช้งานที่ระบุไว้ต่อไป

ภาษีที่ดิน จ่ายที่ไหน

ภาษีที่ดินจ่ายที่ไหน

          ชำระภาษีที่ดินได้ด้วยตัวเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ ได้แก่

  • กทม. : ชำระภาษีที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่

  • เมืองพัทยา : ชำระภาษีที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

  • ต่างจังหวัด : ชำระภาษีที่สำนักงานเทศบาล/ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบล/ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายกำหนด หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด รวมทั้งจุดบริการเคลื่อนที่ที่ อปท. กำหนด

เสียภาษีที่ดินออนไลน์ได้ไหม ?

          การเสียภาษีที่ดินออนไลน์ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ เจ้าของบ้านหรือเจ้าของที่ดินจะต้องเดินทางไปเสียภาษีที่ อปท. ในพื้นที่เท่านั้น หรืออาจใช้วิธีชำระเงินเข้าบัญชีธนาคารของ อปท. นั้น ๆ ซึ่งมีให้เลือกหลายช่องทาง

  • ชำระผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ 

  • ชำระผ่านเครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ 

  • ชำระผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking  

  • ชำระผ่านบัตรกรุงไทยวีซ่าเดบิต หรือบัตรเครดิตของสถาบันการเงินทุกแห่ง 

  • ชำระเงินข้ามธนาคารด้วยบาร์โค้ด หรือสแกน QR Code ผ่าน Mobile Banking ทุกธนาคาร

  • ชำระผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เช่น ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน เช็ค

ภาษีที่ดินจ่ายล่าช้า เสียค่าปรับเท่าไหร่

          การเสียภาษีที่ดินเกินกำหนดเวลาจะต้องเสียภาษีค้างชำระ รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ดังนี้

  • คิดเบี้ยปรับ 10% ของภาษีที่ค้างชำระ : กรณีไม่มาจ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด แต่ภายหลังได้มาจ่ายภาษีก่อนได้รับหนังสือแจ้งเตือน

  • คิดเบี้ยปรับ 20% ของภาษีที่ค้างชำระ : กรณีไม่มาจ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด แต่ได้มาชำระในระยะที่หนังสือแจ้งเตือนระบุเอาไว้

  • คิดเบี้ยปรับ 40% ของภาษีที่ค้างชำระ : กรณีไม่มาจ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด และมาจ่ายช้าเกินระยะที่หนังสือแจ้งเตือนระบุเอาไว้

  • ดอกเบี้ยเงินเพิ่ม : กรณีชำระภาษีล่าช้าให้เสียเงินเพิ่มอีก 1% ต่อเดือนของจำนวนภาษีค้างชำระ เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน

    • กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษี และได้ชำระภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น ให้คิดเงินเพิ่มลดลงเหลือ 0.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือน

    • เบี้ยปรับอาจงดได้ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกยึดหรืออายัดตามกฎหมาย โดยเราจะต้องยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อของดเบี้ยปรับของภาษีที่ค้างชำระ

  • โทษทางอาญา : กรณีนำหลักฐานเท็จมายื่นภาษี มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี และปรับสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท

           ใครได้รับจดหมายแจ้งเรื่องภาษีที่ดิน ขอให้ตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ และอย่าลืมยื่นชำระภาษีให้ตรงตามกำหนด หากมีข้อสงสัยใด ๆ สามารถสอบถามได้ที่ อปท. ของแต่ละพื้นที่

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีที่ดิน 2567 จ่ายเท่าไหร่ จ่ายที่ไหน เช็กอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง 4 ประเภท อัปเดตล่าสุด 24 มกราคม 2567 เวลา 13:17:55 57,022 อ่าน
TOP
x close