x close

สภาพัฒน์ ชงขึ้น VAT เป็น 10% เหตุผู้สูงอายุรายได้น้อย แนะเก็บเพิ่มมาเป็นเงินออม

 

           รองเลขาฯ สภาพัฒน์ เสนอขึ้น VAT เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ เหตุผู้สูงอายุไทยรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย แนะเก็บเพิ่มมาเป็นเงินออม มีใช้ในวัยเกษียณ

ผู้สูงอายุรายได้น้อย

           วันที่ 26 สิงหาคม 2566 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานเสวนา "ข้ามรุ่น อนาคตประเทศไทย" ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งประเทศไทย (UNFPA) ระบุว่า โครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบัน ถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

แนวโน้มประชากรผู้สูงอายุ


           - ปี พ.ศ. 2566 มีผู้สูงอายุประมาณ 13.5 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศ

           - ส่วนอีก 10 ปีข้าง หรือในปี 2576 จะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด โดยมีผู้สูงอายุประมาณ 18.38 ล้านคน หรือประมาณ 28% ของประชากรทั้งหมด

           - จากนั้นในปี 2583 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20.51 ล้านคน หรือคิดเป็น 31.37% ของประชากรทั้งหมด

           - เท่ากับว่าประชากรสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ


ผู้สูงอายุของไทยรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย - รายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน


           จากข้อมูลการสำรวจรายได้ผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุของไทยจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน โดยพบว่า 34% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณแล้วของประเทศไทยยังคงทำงานอยู่ แต่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยผู้สูงอายุกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ทำให้ยังต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น

ผู้สูงอายุรายได้น้อย


แหล่งรายได้ของผู้สูงอายุ


           - ส่วนใหญ่มาจากการทำงาน 32.4%
           - เงินจากบุตร 32.2%
           - เบี้ยยังชีพ 19.2%

พบปัญหาผู้สูงอายุเงินออมน้อย


           จากการสำรวจพบอีกว่าผู้สูงอายประมาณ 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท ซึ่งเรื่องการออมสำหรับวัยสูงอายุให้มีรายได้สำหรับการใช้จ่าย ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ต้องมีการวางแผนรองรับ

           หากคิดในแง่ของเงินออมสำหรับวัยเกษียณในปัจจุบัน มีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่เกษียณแล้วมีรายได้จากเงินบำนาญชัดเจนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% จากรายได้ของเดือนสุดท้ายที่ได้รับ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออมเงินอยู่ในช่องทางอื่น ๆ เช่น ประกันสังคม หรือกองทุนการออมแห่งชาติ ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในวัยเกษียณ

           โดยปัญหามาจากการที่คนส่วนใหญ่เริ่มการออมเงินช้า อายุเฉลี่ยที่เริ่มคือตอนอายุ 42 ปี ขณะที่คนกว่า 26% ไม่มีการออมเงิน และเงินออมสำหรับวัยเกษียณเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 บาทต่อคนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้ในวัยเกษียณอายุอย่างแน่นอน

เสนอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 7% เป็น 10%


           ที่ผ่านมามีการนำเสนอรูปแบบการออมสำหรับผู้สูงอายุหลายรูปแบบ โดยรูปแบบหนึ่งที่มีการเสนอผ่านคณะกรรมการปฏิรูปสังคม และ สศช. เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีคือการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10%

           โดยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอีก 3% รัฐบาลอาจออกกฎหมายเฉพาะมาเพื่อนำเงินที่รัฐเก็บภาษีในส่วนนี้มาเป็นเงินออมของประชาชนเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไทยมีเงินออมไว้ใช้สำหรับการเกษียณอายุ

           นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาฯ สศช. กล่าวว่า "ปกติการขึ้นภาษีนั้นเป็นสิ่งที่จะมีคนไม่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่ถ้าบอกว่าภาษีที่ปรับขึ้น เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาอีก 3% จาก 7% เป็น 10% ตามที่กฎหมายให้เพดานไว้ แล้วเอาภาษีที่ปรับขึ้นมาสำหรับทำระบบเงินออมให้กับประชาชนเพื่อให้มีเงินใช้ในวัยเกษียณก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดี

           และคาดว่าหากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าภาษีที่ขึ้นในส่วนนี้จะเป็นเงินออมในวัยเกษียณประชาชนจะยอมรับ เพราะทำให้ประชาชนมีหลักประกันในวัยเกษียณ และภาครัฐก็มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจนว่าจะเอาเงินในส่วนไหนมาจัดสวัสดิการให้ประชาชนสูงอายุที่มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต"



ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สภาพัฒน์ ชงขึ้น VAT เป็น 10% เหตุผู้สูงอายุรายได้น้อย แนะเก็บเพิ่มมาเป็นเงินออม อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2566 เวลา 22:59:54 28,383 อ่าน
TOP