หุ้นกู้ออกใหม่ ดอกเบี้ยสูง เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 มีชุดไหนบ้างที่คนทั่วไปซื้อได้

          หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 มีชุดไหนให้ดอกเบี้ยสูง น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วไปบ้าง
หุ้นกู้

          สำหรับคนที่อยากลงทุนหุ้นกู้ แต่ยังไม่แน่ใจว่า หุ้นกู้ คืออะไร จะซื้อได้จากไหน มีความเสี่ยงอะไรบ้าง บทความนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ มาให้ศึกษากัน พร้อมรวบรวมรายชื่อหุ้นกู้ออกใหม่ ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อได้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 มาบอกกันด้วย

หุ้นกู้คืออะไร ซื้อยังไง ?

          หุ้นกู้ ภาษาอังกฤษ คือ Corporate Bond หรือ Debenture เป็นตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนเปิดขายเพื่อระดมทุนนำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ หรือนำไปชำระหุ้นกู้รุ่นเดิมที่ใกล้ครบกำหนด โดยบริษัทจะจ่ายดอกเบี้ยให้ตามที่ตกลงไว้ตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และชำระเงินต้นคืนในวันที่ครบกำหนดอายุของหุ้นกู้

         สำหรับหุ้นกู้ของประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท และส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลงทุนขั้นต่ำ 100 หน่วย หรือ 100,000 บาท โดยติดต่อซื้อได้ที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายตามประกาศของหุ้นกู้แต่ละบริษัท 

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีการเปิดจำหน่ายหุ้นกู้ดิจิทัลที่สามารถซื้อได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งหุ้นกู้บางรุ่นให้เริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000-5,000 บาท

หุ้นกู้มีกี่ประเภท ?

หุ้นกู้

หุ้นกู้จะมีอยู่หลายลักษณะ ได้แก่

  • หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หมายถึง หุ้นกู้นี้มีสินทรัพย์ต่าง ๆ ค้ำประกันอยู่ ถ้าเกิดปัญหาที่บริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นให้เราได้ เราจะมีสิทธิ์ในหลักประกันนั้น
  • หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้ กรณีบริษัทที่ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาทางการเงินจะต้องแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิ์และสัดส่วนที่ถือ
  • หุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ที่ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิ์ได้รับคืนเงินต้นหลังจากผู้ถือหุ้นที่มีประกัน กล่าวว่าอยู่ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ
  • หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ คือ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ที่ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะมีสิทธิ์ได้รับคืนเงินต้นในอันดับที่ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

          โดยหากจัดอันดับสิทธิ์ในการเรียกร้องสินทรัพย์ หรือการได้รับคืนเงินต้นจากผู้ออกตราสารเมื่อกิจการล้มละลาย จะเป็นดังนี้

          ลำดับที่ 1 หุ้นกู้มีประกัน
          ลำดับที่ 2 หุ้นกู้ไม่มีประกัน
          ลำดับที่ 3 หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
          ลำดับที่ 4 หุ้นบุริมสิทธิ
          ลำดับที่ 5 หุ้นสามัญ

ต้องพิจารณาอะไรบ้างเมื่อจะลงทุนหุ้นกู้

บริษัทน่าเชื่อถือหรือไม่

          การซื้อหุ้นกู้คือการให้บริษัทกู้ยืมเงิน ดังนั้นจึงควรดูให้แน่ใจก่อนว่าบริษัทมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน ฐานะการเงินเป็นอย่างไร จะมีเงินจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้เราได้หรือไม่ โดยสามารถพิจารณาได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่จัดทำโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไปจนถึง AAA จัดเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) เพราะออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี มีโอกาสที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนค่อนข้างต่ำ

          แต่หากเป็นหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D จะเป็นหุ้นกู้ในกลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) นอกจากนี้ที่ต้องระวังในการลงทุนคือ หุ้นกู้ในกลุ่มไม่มีเรตติ้ง (Unrated) ที่แม้จะให้ดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้เงินลงทุนคืนกลับมาสูงตามไปด้วย

อายุของหุ้นกู้นานแค่ไหน

          หุ้นกู้จะกำหนดอายุเอาไว้ เช่น 1 ปี 6 เดือน, 3 ปี, 10 ปี เป็นต้น เมื่อครบกำหนดบริษัทจะคืนเงินต้นให้กับผู้ลงทุน ซึ่งควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุสอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องการลงทุน แต่ก็มีหุ้นกู้ประเภทที่มีเงื่อนไขสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้อยู่ 2 กรณี คือ บริษัทสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้กู้ขอคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด และอีกกรณีคือ ผู้ถือหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้ให้กู้ขอเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด

ผลตอบแทน/ดอกเบี้ยเป็นเท่าไร

          โดยทั่วไปแล้วหุ้นกู้จะมีรูปแบบการจ่ายดอกเบี้ย 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ แบบกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ตายตัวตลอดระยะเวลาของหุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี กับแบบกำหนดเป็นขั้นบันได ซึ่งปกติจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น เช่น หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 3% ต่อปี ปีที่ 3-5 เท่ากับ 4% ต่อปี และปีที่ 6 เป็นต้นไป เท่ากับ 5% ต่อปี ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเภทของหุ้นกู้ หรืออายุของหุ้นกู้ นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่ได้รับจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วย

ใครมีสิทธิ์จองซื้อ

          บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะเสนอขายหุ้นกู้ตามกลุ่มนักลงทุน ดังนั้นก่อนซื้อต้องศึกษาให้ดีว่าเรามีสิทธิ์ซื้อหรือไม่ โดยแบ่งกลุ่มผู้ลงทุนออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP10) คือ การขายตราสารหนี้ให้กับผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ฉบับ หรือ 10 ราย ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบัน กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นเกิน 10% และบริษัทในเครือเท่านั้น
  2. ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor : II) เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน บริษัทประกัน
  3. ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth : HNW) คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ รายได้ต่อปี หรือลงทุนในหลักทรัพย์ตามที่กำหนด โดยกรณีเป็นบุคคลธรรมดา (รวมคู่สมรสตามกฎหมาย) จะใช้เกณฑ์ดังนี้ (เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง)
  • มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
  • มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 8 ล้านบาทขึ้นไป ถ้ารวมเงินฝากจะเป็น 15 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
  • มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมที่อยู่พักอาศัยประจำ 

          แต่ในกรณีที่มีฐานะทางการเงินไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะพิจารณาคุณสมบัติด้านความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนเพิ่มเติม โดยหากเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ก็สามารถเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ได้ 

  • มีประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องมีการลงทุนเป็นประจำและต่อเนื่อง หรือ
  • มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน หรือ
  • เป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ
  • ได้รับวุฒิบัตรที่เกี่ยวกับการลงทุน

      4. ผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering : PO) คือ ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหุ้นกู้ได้

หุ้นกู้ มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

หุ้นกู้

ความเสี่ยงของหุ้นกู้หลัก ๆ นั้นจะมีอยู่ 3 ด้าน คือ

  • ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย : ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปลดลง หุ้นกู้จะมีมูลค่าสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม หุ้นกู้ก็จะมีมูลค่าลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้น ทำให้ราคาที่ขายได้อาจมากหรือน้อยกว่าราคาที่ซื้อมา ขึ้นอยู่กับระดับและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ตรงนี้อาจมีค่าเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง : หากลงทุนในระยะยาวมาก ๆ แล้วประสบปัญหาจำเป็นต้องใช้เงินก้อนก่อนหุ้นกู้ครบอายุ ทำให้ต้องนำไปขายที่ตลาดรอง ซึ่งมีราคาลดลงหรืออาจขาดทุนได้
  • ความเสี่ยงด้านเครดิต : การลงทุนหุ้นกู้กับบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำจะมีความเสี่ยงสูง เช่น บริษัทเลิกกิจการหรือล้มละลาย จนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามที่สัญญา แต่ก็จะมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นกู้ของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่า

          นอกจากนี้หากผู้ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาทางการเงิน อาจจะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือคืนเงินต้นให้เราได้ เท่ากับผิดนัดชำระหนี้ (Default) ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อไป

หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนมิถุนายน 2566

          หุ้นกู้แต่ละชุดจะระบุว่าเสนอขายให้คนกลุ่มไหนบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้นักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันจองซื้อ แต่ก็ยังมีหุ้นกู้บางตัวที่เปิดให้นักลงทุนทั่วไป (PO) สามารถซื้อได้ ดังนี้

1. บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI)

หุ้นกู้

ภาพจาก : Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          บริษัทพัฒนาและบริการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย เปิดจำหน่ายหุ้นกู้ 2 ชุด ในเดือนมิถุนายน คือ
  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย :  

    • อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568

    • อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป และ/หรือผู้ลงทุนสถาบัน

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 1,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 1-2 มิถุนายน และ 6 มิถุนายน  2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า

ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

2. บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC)

หุ้นกู้

ภาพจาก : Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทสินเชื่อมาตั้งแต่ปี 2535 โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อประเภทอื่น ได้แก่ สินเชื่อรถยนต์ทุกประเภท สินเชื่อรถเพื่อการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อโฉนดที่ดิน รวมทั้งรับทำ พ.ร.บ. เสนอขายหุ้นกู้ 4 ชุด ดังนี้
  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย :

    • อายุ 1 ปี 4 เดือน 27 วัน อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567

    • อายุ 2 ปี 1 วัน อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568

    • อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.45% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

    • อายุ 3 ปี 11 เดือน 30 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.65% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ผู้ลงทุนทั่วไป ผู้ลงทุนสถาบัน (เฉพาะบุคคลธรรมดา) และผู้ลงทุนรายใหญ่

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 6-8 มิถุนายน 2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส

ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

3. บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS)

หุ้นกู้

ภาพจาก : Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

         บริษัทผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด ในเดือนมิถุนายน 2566
  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.60% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2571

    • อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.25% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2573  

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ผู้ออกหุ้นกู้สามารถขอไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป ผู้ลงทุนรายใหญ่ และ/หรือผู้ลงทุนสถาบัน 

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 12-15 มิถุนายน 2566

  • ช่องทางการขาย : บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย), บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย), บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์, บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน, บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ 

ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

4. บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX)

หุ้นกู้

ภาพจาก : ธนาคารไทยพาณิชย์

          บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะ Holding Company ซึ่งลงทุนในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจอื่น ๆ เสนอขายหุ้นกู้ 7 รุ่น ในเดือนมิถุนายน 2566 โดยประชาชนทั่วไปจะสามารถซื้อได้เฉพาะชุดที่ 1 เท่านั้น ส่วนชุดที่ 2-7 เสนอขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนสถาบัน

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.10% ต่อปี ครบกำหนด พ.ศ. 2570

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 6 เดือน

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี
  • อันดับความน่าเชื่อถือ : AA+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 2 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป 

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 1,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท 

  • วันที่เปิดจอง : คาดว่า 21-29 มิถุนายน 2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านแอปฯ SCB EASY

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ธนาคารไทยพาณิชย์ 

หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนกรกฎาคม 2566

5. บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (ORI)

หุ้นกู้

ภาพจาก : บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้

         บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ประเภทคอนโดมิเนียมตามแนวสถานีขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เสนอขายหุ้นกู้จำนวน 2 ชุด ในเดือนกรกฎาคม 2566 ดังนี้
  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.40% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

    • อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.60% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570  

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ผู้ลงทั่วไป และ/หรือผู้ลงทุนสถาบัน 

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 6-7 และ 10 กรกฎาคม 2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย), บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน

ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

6. บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI)

          บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงินในตลาดรถยนต์ทั้งใหม่และเก่า รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเช่าซื้อและให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง เสนอขายหุ้นกู้ 1 ชุด ในเดือนกรกฎาคม 2566  
  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
  • อายุ : 3 ปี 6 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570
  • อัตราดอกเบี้ย : 3.45% ต่อปี 
  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน
  • อันดับความน่าเชื่อถือ : A- แนวโน้มคงที่
  • ระดับความเสี่ยง : 3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี
  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป 
  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
  • วันที่เปิดจอง : 11-13 กรกฎาคม 2566
  • ช่องทางการขาย : ธนาคารทหารไทยธนชาต
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

7. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)

          บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ ให้บริการสื่อสารครบวงจร รวมถึงดิจิทัลมีเดียและคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ออกหุ้นกู้เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป จำนวน 4 ชุด ในเดือนกรกฎาคม 2566
  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้
  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 
    • อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.35% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568
    • อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.60% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569
    • อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2571
    • อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2576 (ผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ก่อนวันครบกำหนด)
  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน
  • อันดับความน่าเชื่อถือ : A+ แนวโน้มคงที่
  • ระดับความเสี่ยง : 3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)
  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป 
  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
  • วันที่เปิดจอง : 20-21 และ 24 กรกฎาคม 2566
  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
         สำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดหุ้นกู้ทั้งหมดที่เสนอขายในเดือนนี้ สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ เว็บไซต์ ก.ล.ต. หรือ เฟซบุ๊ก ThaiBMA อย่างไรก็ตาม อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

บทความที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 3 กรกฎาคม 2566


ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (1), (2), (3), (4), (5)ธนาคารไทยพาณิชย์origin.co.th  
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (1), (2), (3), (4), (5), (6), (7)ธนาคารไทยพาณิชย์, Youtube ThaiBMAChannel

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หุ้นกู้ออกใหม่ ดอกเบี้ยสูง เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 มีชุดไหนบ้างที่คนทั่วไปซื้อได้ อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 10:53:38 101,876 อ่าน
TOP
x close