ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รอบใหม่ เริ่ม 5 ก.ย. 65 ส่องคุณสมบัติ ช่องทางลงทะเบียน และสิทธิประโยชน์บัตรคนจน ครบจบที่นี่
ภาพจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
วันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นวันแรก สำหรับการเปิดลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน โดยกระทรวงการคลัง กำหนดการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ในช่วงระหว่างวันที่ 5 กันยายน - 19 ตุลาคม 2565 ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่
เงื่อนไขลงทะเบียนรอบใหม่ สำหรับคนมีบัตร - คนไม่เคยมีบัตร
1. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว ต้องลงทะเบียนใหม่
- หากรอบใหม่ลงทะเบียนผ่าน สามารถใช้บัตรเดิมต่อไปได้ จนถึงก่อนวันที่จะเริ่มใช้บัตรประชาชนในโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565
- หากลงทะเบียนไม่ผ่าน ภาครัฐยังคงให้ใช้สิทธิต่อไปได้ จนถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565
2. ผู้ไม่เคยมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- หากรอบใหม่ลงทะเบียนและได้รับสิทธิ สามารถใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นโครงการเป็นต้นไป (ต้องเป็นบัตรประชาชนแบบสมาร์ตการ์ดเท่านั้น)
ช่องทางการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565
ภาพจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
1.ผ่านช่องทางการลงทะเบียนทางเว็บไซต์ของรัฐ คลิกที่นี่ หรือ คลิกอีกช่องทาง (คลิก)
2.ช่องทางการลงทะเบียน ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนในพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารกรุงไทย
- สำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ สังกัดกรมบัญชีกลาง
- ที่ว่าการอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ ภายใต้กระทรวงมหาดไทย
- สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา เมืองพัทยา
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
วิธีลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์
- เข้าไปที่เว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- จากนั้นเลือกปุ่ม "ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ"
- คลิกคำว่า "เริ่มลงทะเบียน" กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และกดปุ่ม "ตรวจสอบข้อมูล"
- กรอกข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชน ได้แก่ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด และเลข laser หลังบัตร
- กรอกข้อมูลผู้ลงทะเบียน ได้แก่ ที่อยู่ วุฒิการศึกษา สถานภาพครอบครัว (หากมีครอบครัว ต้องกรอกข้อมูลสมาชิกในครอบครัว) อาชีพ รายได้ และหนี้สิน
- ตรวจสอบข้อมูลและกดปุ่ม "ยืนยันข้อมูล"
- ผู้ลงทะเบียนที่โสด/ไม่มีครอบครัว กดยอมรับเงื่อนไขและยืนยันการลงทะเบียน เพื่อจบขั้นตอนการลงทะเบียน โดยไม่ต้องไปยื่นเอกสารหรือเดินทางไปหน่วยงานรับลงทะเบียน
วิธีลงทะเบียนผ่าน 7 หน่วยงาน
- ผู้ลงทะเบียนจะต้องกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วนทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว เพื่อนำไปยื่น ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน
- ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ลงทะเบียน รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตร พร้อมลงลายมือชื่อในกรณีที่คู่สมรสและบุตร ไม่ได้เดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน
- หากคู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียนเดินทางมาแสดงตัว ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียน
วิธีลงทะเบียนให้ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ
- สำหรับผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอ งสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาลงทะเบียนแทนได้ สำหรับ หนังสือมอบอำนาจ สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่ (คลิก) หรือติดต่อขอรับได้ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทุกหน่วย
การตรวจสอบผลการลงทะเบียน
- เมื่อลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ลงทะเบียนสามารถเข้ามาตรวจสอบ สถานะการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์อีกครั้งโดยกดปุ่ม ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน
คุณสมบัติลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รอบใหม่ รายละเอียด
- สัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
- รายได้ ถ้าเป็นบุคคล รายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท ถ้าเป็นครอบครัว เฉลี่ยต่อคนต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท
- ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ เฉลี่ยเกิน 100,000 บาทต่อคน
- จะต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เกินกำหนด เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ พื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา, ห้องชุดไม่เกิน 35 ตารางเมตร, ที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่, ที่ดินทั่วไปไม่เกิน 1 ไร่
- ไม่มีบัตรเครดิต
สิทธิประโยชน์ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น
- ค่าซื้อสินค้า 200 - 300 บาท
- ค่าเดินทางรถโดยสารสาธารณะ 500 บาท
- ส่วนลดแก๊สหุงต้ม 45 บาท (ต่อรอบ 3 เดือน) กรณีกลุ่มเปราะบางจะได้ส่วนลด 100 บาท (ต่อรอบ 3 เดือน)
- เงินช่วยค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาทต่อครอบครัว (ตามที่จ่ายจริง)
- เงินช่วยค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครอบครัว (ตามที่จ่ายจริง)
- เงินพิเศษผู้พิการ 200 บาท
- เงินพิเศษผู้สูงอายุ 50 ถึง 100 บาทขึ้นอยู่กับเกณฑ์รายได้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ภาพจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, กรมบัญชีกลาง, กรุงเทพธุรกิจ