ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า สิ่งของต่อไปนี้ไม่ต้องสำแดง หากนำเข้ามาก็สามารถเดินเข้าช่องเขียว (Nothing to declare) ได้เลย ประกอบด้วย
- ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณพอสมควรสำหรับใช้ส่วนตัว หรือใช้ในวิชาชีพ มูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้าม ของต้องกำกัด (ของที่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า) เสบียงอาหาร และต้องเป็นของที่ไม่มีลักษณะทางการค้า เช่น ถ้าซื้อกระเป๋า 1 ใบที่มีราคาไม่เกิน 20,000 บาทมาใช้เอง แบบนี้ไม่ต้องสำแดง แต่ถ้าหากซื้อกระเป๋ามา 10 ใบ แม้จะมีราคาไม่เกิน 20,000 บาท ก็อาจเข้าข่ายเป็นการค้า จึงต้องเสียภาษี
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตรไม่เกิน 1 ลิตร
- บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือซิการ์-ยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภทไม่เกิน 250 กรัม (แต่ทั้งนี้บุหรี่ต้องไม่เกิน 200 มวน)
สำหรับของติดตัวที่เมื่อนำเข้ามาในประเทศไทยแล้วต้องสำแดง (เข้าช่องแดง) เพื่อเสียภาษีอากร ประกอบด้วย
- ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท ไม่ว่าจะใช้เองหรือไม่ได้ใช้เอง (สิ่งของที่นำไปจากประเทศไทยจะไม่ถูกนำมาคิดมูลค่า หากมีการสำแดงไว้ก่อนเดินทาง)
- สิ่งของที่มีลักษณะทางการค้า แม้จะมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาท
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกินกว่า 1 ลิตร
- บุหรี่ เกินกว่า 200 มวน
- ซิการ์หรือยาเส้น เกินกว่า 250 กรัม
- ของต้องกำกัด คือ ของที่ต้องมีใบอนุญาต เช่น ยาและอาหารเสริม, เครื่องสำอาง, สัตว์เลี้ยง, อาวุธปืน, พืช, โดรน เป็นต้น
จุดประสงค์หลักของการขายสินค้าปลอดภาษี เพื่อให้คนนำออกไปต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นถ้าซื้อสินค้าปลอดภาษีจากร้านดิวตี้ฟรี (Duty Free) ในเมืองไทย แล้วนำออกไปนอกประเทศ หากนำกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้งจะถือว่าเป็นของติดตัวที่ซื้อจากต่างประเทศ กรณีสินค้ามีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท จะต้องเสียภาษีตามปกติ
แต่ถ้าสินค้าปลอดภาษีที่นำออกไปและนำกลับเข้ามาเป็นของใช้ส่วนตัวที่มีจำนวนไม่มากนัก และมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ก็จะได้รับสิทธิยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้
1. ภาษีนำเข้า
โดยคิดตามอัตราอากรขาเข้าที่ระบุไว้ในพิกัดศุลกากร ซึ่งมีราคาแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้า เช่น
- เสื้อผ้า หมวก เข็มขัด รองเท้า เครื่องสำอาง น้ำหอม คิดภาษี 30%
- กระเป๋าแบรนด์เนม คิดภาษี 20%
- CD DVD อัลบั้มเพลง อัลบั้มคอนเสิร์ต ตุ๊กตา คิดภาษี 10%
- นาฬิกาข้อมือ แว่นตา แว่นกันแดด คิดภาษี 5%
- โทรศัพท์ กล้อง คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ เมาส์ อุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ แผงวงจรไฟฟ้า ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะตีราคาตามใบเสร็จของสินค้า กรณีไม่มีใบเสร็จจะดูราคาจากฐานข้อมูลและเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้านั้น ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของแบรนด์นั้นเอง หรือเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ สินค้านำเข้าบางประเภทยังต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย เช่น น้ำหอม เครื่องดื่ม สุรา บุหรี่ ไพ่ ฯลฯ
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ถ้าใครยังงง ๆ อยู่ว่าเราจะต้องเสียภาษีสินค้าที่นำเข้ามาเท่าไหร่ ก็ลองใช้สูตรนี้คำนวณภาษีเบื้องต้น ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
3. ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ยกตัวอย่าง ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ราคา 100,000 บาท จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย แม้จะเป็นของใช้ส่วนตัว แต่เนื่องจากมีมูลค่าเกิน 20,000 บาท จึงต้องเสียภาษีตามสูตรคำนวณต่อไปนี้
1. คำนวณอากรขาเข้า = ราคาสินค้า (100,000) x อัตราภาษีขาเข้ากระเป๋า (20%)
ดังนั้น อากรขาเข้า = 20,000 บาท
2. คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม = [ ราคาสินค้า (100,000) + อากรขาเข้า (20,000) ] x ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มของกระเป๋าใบนี้คือ 8,400 บาท
3. รวมภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระคือ อากรขาเข้า (20,000) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (8,400) = 28,400 บาท
บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากร
- ศุลกากร แจง หิ้วสินค้าไม่ถึง 2 หมื่นบาทก็เสียภาษีได้ พร้อมเผยวิธีคำนวณภาษี
- เปิดระเบียบศุลกากร เข้า-ออกประเทศต้องสำแดงสิ่งของใช้ขาไป-ขากลับ ทุกครั้ง
- ศุลกากร แจงดิวตี้ฟรียังปลอดภาษี เร่งแก้ถ้อยคำในประกาศ ทำคนเข้าใจผิด
- หาคำตอบ...หิ้วหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศมาไทย ต้องเสียภาษีไหม ?
- ศุลกากรเอาจริง จ่อเก็บภาษีสินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 สายพรีออร์เดอร์มีเครียด
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมศุลกากร (1), (2), (3)
เฟซบุ๊ก กรมศุลกากร : The Customs Department
กรมสรรพสามิต
เฟซบุ๊ก Dharmniti Seminar & Training
dharmniti.co.th
ฐานเศรษฐกิจ