โดยเฉพาะนาฬิกา กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง ฯล ที่กลายเป็นประเด็นให้เกิดการพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกับนักท่องเที่ยวอยู่บ่อย ๆ
ฝั่งเจ้าหน้าที่ก็ว่า กฎระเบียบมี เราทำตามหน้าที่ คุณหิ้วของมาเกินก็ต้องปรับ เป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่อยากโดนปรับคุณก็ต้องศึกษากฎหมายก่อนเดินทาง ฝั่งนักท่องเที่ยวก็ว่า จะเอาของที่หิ้วมาไปรวมกับของที่เอาไปจากเมืองไทยได้อย่างไร อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม กฎที่เอาเปรียบประชาชนอย่างนี้ควรจะมียกเลิกได้แล้ว
ล่าสุดมีการแชร์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจยอดฮิต มิตรสหายท่านหนึ่ง ถึงระเบียบปฏิบัติของผู้โดยสารขาออกที่ระบุว่า
"หากผู้โดยสารต้องการนำของใช้ส่วนตัวออกไประหว่างเดินทาง เช่น นาฬิกา สร้อยคอ แหวน กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป วิทยุเทป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ฯลฯ และประสงค์จะนำกลับมาภายในประเทศโดยได้รับการยกเว้นอากร ผู้โดยสารจะต้องนำของดังกล่าวพร้อม Boarding Pass หนังสือเดินทางมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อบันทึกรายละเอียดและรับสำเนาเอกสารไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำช่องตรวจสีแดงในวันเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย"
อ่านเสร็จ สตั๊นต์ไปพักใหญ่ ตกลงมีกฎระเบียบนี้อยู่จริง ?
แค่จะเอากล้องไปถ่ายรูปสวย ๆ ที่ต่างประเทศ จะเอาสมาร์ทโฟนไปเช็กอิน เอากล้องไปถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นที่ระลึกเราต้องไปแจ้งเจ้าหน้าที่ขนาดนี้เลยหรือ
เพื่อไขข้อสงสัยวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อนไปไขข้อสงสัย แนะนำใครที่เป็นนักช้อปตัวยง ใครที่วางเผนเตรียมบินไปซื้อของแบรนด์เนม ของกิน ของใช้ ที่ต่างประเทศ
รีบอ่าน รีบแชร์ กันก่อนเดินทาง เพื่อที่กลับมาจะได้ไม่เกิดปัญหา ไม่ต้องมานั่งกุมขมับกับการทำผิดกฎหมายที่ต้องเสียค่าปรับเพิ่มจากราคาของอีกหลายเท่าตัว หรือร้ายแรงที่สุดอาจจะต้องเข้าไปนอนคุกแบบไม่ทันตั้งตัว
ลงทะเบียนของใช้ส่วนตัว กฎระเบียบที่ต้องทำก่อนเดินทางทุกครั้ง
เราติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรทันที พร้อมพูดคุยซักถาม ว่าจริง ๆ แล้วข้อความที่แชร์กันในโลกโซเชียลนั้น เป็นกฎระเบียบที่มีอยู่จริงหรือเป็นข้อความที่เกิดจากการตัดต่อสร้างกระแส เราได้ความว่ากฎระเบียบนั้นมีอยู่จริง
โดยมีรายละเอียดว่า หากของใช้ส่วนตัวที่นำออกไปมีมูลค่ารวมไม่เกิน 20,000 บาท (ไม่ได้เป็นในทางการค้า) และคิดว่าจะไม่ซื้ออะไรกลับมารวมกันเกิน 20,000 บาท (ไม่ได้เป็นในทางการค้า) ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปกรอกเอกสารสำแดงสิ่งของต่อศุลกากร
ส่วนใครที่คิดว่าจะนำสิ่งของ แกดเจ็ตต่าง ๆ เช่น กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป หรืออัญมณี เครื่องประดับ ตามระเบียบต้องลงทะเบียนสำแดงสิ่งของก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ด้วยการลงทะเบียนหมายเลข Serial Numbers หรือลักษณะอื่น ๆ ของสิ่งของนั้น เช่น ลักษณะเด่น รอยตำหนิ รูปพรรณ ณ ที่ทำการศุลกากรขาออกนอกประเทศหลังตรวจรับ boarding pass แล้ว
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ แจ้งว่า หากเป็นการนำติดตัวไปอย่างละชิ้นก็ไม่จำเป็นต้องสำแดงสิ่งของก่อนออกเดินทาง แต่ๆ ถ้าคุณพกกล้องไปเที่ยวครั้งละ 4-5 ตัว หรือพกมือถือ ไอแพด ไปด้วยคราวละ 4-5 เครื่อง ในการออกนอกประเทศ ก็ควรไปสำแดง เพราะถ้าคุณจะนำมันกลับมาด้วยมันดูแล้วเหมือนไปขนมาขายมากกว่าของใช้ส่วนตัว
ซึ่งของทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนไว้จะได้รับการยกเว้นค่าภาษีเมื่อนำกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้หากเดินทางที่สนามบินสุวรรณภูมิสามารถกรอกแบบฟอร์มที่ชั้น 4 ประตู 10 ผู้โดยสารขาออก ส่วนที่สนามบินดอนเมืองสามารถกรอกแบบฟอร์มได้ที่ชั้น 3 ประตูผู้โดยสารขาออกเช่นกัน
สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศโดยสนามบินต่างจังหวัดสามารถสอบถามได้ที่สนามบินนั้น ๆ
ส่วนการเดินทางด้วยวิธีอื่น ๆ ต้องสำแดงสิ่งของที่ก่อนออกนอกประเทศที่ด่านศุลกากรในพื้นที่เช่นกัน
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุได้ว่า ข้อความที่แชร์กันนั้นมีที่มาจากที่ใด เนื่องจากระเบียบประมวลปฏิบัติขาออกนั้น จะไม่มีการอัพข้อมูลไว้ที่หน้าเว็บไซต์ของกรมศุลกากร
พร้อมทิ้งท้ายว่า หากอยากทราบรายละเอียดของระเบียบปฏิบัติในการเดินทางออกนอกประเทศทั้งหมดจริง ๆ สามารถขอคัดเอกสารได้ที่ห้องสมุดประจำกรมศุลกากร โดยระบุว่าขอคัด ประมวลปฏิบัติขาออก หมายเลข 3030101
สำหรับของที่ห้ามนำออกจากประเทศไทย พบว่าไม่มีข้อแตกต่างจากระเบียบในการเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่
1. สารเสพติด
2. วัตถุ หรือสื่อลามก
3. ของลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา
4. ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ปลอม
5. สัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ที่อยู่ในบัญชีควบคุมของอนุสัญญาไซเตส
ส่วนของต้องกำกัด หรือของบางชนิด เช่น พระพุทธรูป อาวุธปืน พืช สัตว์มี อาหาร ยา เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนยานพาหนะ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ในลักษณะการค้า) พวกนี้ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อนนำออกประเทศทุกครั้ง
พกเงินสดออกนอกประเทศได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท
ส่วนเรื่องการนำเงินสดออกนอกประเทศจะมีกฎระเบียบเช่นเดียวกับการนำสดเข้าประเทศ คือ ผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวสามารถนำเงินออกประเทศได้ครั้งละไม่เกินครั้งละ 50,000 หรือเทียบเท่า หากมากกว่านั้นต้องแจ้งจำนวนเงินที่แท้จริงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในแบบสำแดงเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Declaration Form) ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
ยกเว้นการเดินทางสู่ประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม จะได้รับอนุญาตให้นำเงินออกนอกประเทศได้ไม่เกิน 500,000 บาท
หมายเหตุ : ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 112/2556 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินไทยที่ควบคุมการนำออกไปนอกราชอาณาจักร คือ การนำเงินตราไทยที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อันมีมูลค่ารวมกันเกิน 450,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ออกไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยและประเทศเวียดนาม และประเทศจีน(เฉพาะมณฑลยูนนาน) ต้องแจ้งรายการต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรขณะที่ผ่านด่านศุลกากร โดยแจ้งรายการตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด
กรณีเงินต่างประเทศสกุลอื่นๆ ที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 20,000 ดอลล่าร์สหรัฐหรือเทียบเท่า ต้องสำแดงรายการเงินตราต่างประเทศนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร
ช่องเขียว ผ่านชิล ๆ แบกเป้กลับบ้านสบาย
หลังจากเที่ยว หลังจากช้อปกันมาจนเต็มอิ่ม ในส่วนของการเดินทางเข้าประเทศไทย ทำได้ตามขั้นตอนปกติ ลงเครื่อง ยื่นพาสปอร์ต ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
ใครที่ไม่มีของต้องสำแดงสามารถเดินตัวปลิวเข้าช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to Declare) หรือช่องเขียวได้ทันที
ต้องย้ำว่าคุณต้องแน่ใจจริง ๆ ว่าไม่มีของต้องสำแดงจริง ๆ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจพบเจอของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 หรือของผิดกฎหมายคุณโดนปรับอ่วมแน่นอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. มีของใช้ส่วนตัวสำหรับ 1 คน (ที่ไม่ใช่ของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือเสบียง และไม่ได้เป็นในทางการค้า) มูลค่ารวมไม่เกิน 20,000 บาท (รวมของใช้ที่นำออกไปจากประเทศด้วย)
2. บุหรี่ไม่เกิน 200 ม้วน หรือยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภท ไม่เกิน 250 กรัม
3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 1 ลิตร หากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด แนะนำให้หย่อนใส่กล่องที่กรมศุลกากรจัดไว้ ตัดปัญหาถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
ช่องแดงแรงฤทธิ์ โชว์ทุกสิ่งที่ช้อปมา
ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีการลงทะเบียนสิ่งของสำแดงไว้ก่อนเดินทาง หรือมีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องจำกัด หรือของที่ไม่แน่ใจว่าต้องเสียภาษีหรือเป็นของต้องกำกัดติดตัวเข้ามา
คุณต้องเข้าที่ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to Declare) หรือช่องแดง เท่านั้น หากไฟล์ทที่เรานั่งมาไม่มีใครเต็มใจเข้าช่องนี้ด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจ และหากเปิดเจอสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งที่ต้องเสียภาษีละก็ เตรียมตัว เตรียมใจเสียเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าภาษีหรือค่าปรับได้เลย โดยของที่ต้องเสียภาษี หรือของที่ผิดกฎหมายมีรายละเอียด
ที่นี้มาดูกันว่าของอะไรบ้าง ที่คุณต้องเสียภาษี หรือผิดกฎหมาย
1. ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณเกินกว่าที่ใช้คนเดียว และมีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท (สิ่งของที่นำไปจากประเทศไทยจะไม่ถูกนำมาคิดมูลค่า หากมีการสำแดงไว้ก่อนเดินทาง)
2. สิ่งของที่นำมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์ หรือ ทางการค้า หรือมีลักษณะทางการค้า
3. ของต้องห้าม ได้แก่ สารเสพติด วัตถุหรือสื่อลามก ของลอกเลียนแบบละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม สัตว์ป่าสงวน
4. ของต้องกำกับ เช่น พระพุทธรูป อาวุธปืน พืช สัตว์มี อาหาร ยา เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนยานพาหนะ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กรณีสิ่งของที่ผู้โดยสารนำติดตัวมามีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 80,000 บาท ผู้โดยสารต้องทำเอกสารปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ ส่วนบริการภาษีอากรเพิ่มเติม
อย่าคิดจะเนียน โดนเล่นทีอาจจุก
ส่วนใครที่ซื้อของมาเต็มกระเป๋า คิดจะตีเนียน ทำมึน ไม่เสียภาษี เดินออกช่องเขียวหรือช่องไม่ต้องสำแดง หากโดนเจ้าหน้าที่ตรวจพบ บอกได้คำเดียว เละ !!!
โดยมีรายละเอียดในการลงโทษดังนี้
1. ปรับ 4 เท่าของมูลค่าของ บวกค่าภาษีและอากร
2. จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. สิ่งของที่หลีกเลี่ยงเสียภาษีต้องถูกริบเป็นของแผ่นดิน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับข้อมูลระเบียบปฏิบัติการสำแดงสิ่งของระหว่างเดินทางเข้าออกประเทศ เราหวังว่าด้วยข้อมูลที่เรานำเสนอจะทำให้เพื่อน ๆ เดินทางได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล ไม่ต้องกลัวทำผิดกฎหมายอันเป็นเหตุให้เสียเงิน เสียทอง โดยใช่เหตุ และจบทริปการเดินทางด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุข