แบงก์ชาติ จับตามาตรการคุมโควิดเดลตาได้หรือไม่ หวั่นจีดีพีหลุดเป้า 1.8% หากเปิดประเทศล่าช้า ชี้หากยังยืดเยื้อ รัฐอาจใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. หมดหน้าตัก 5 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชน
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เดลินิวส์ รายงานว่า นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะติดตามผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์และมาตรการเยียวยาที่จะออกมาว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร โดยจะต้องดูตามสถานการณ์เป็นหลัก รวมถึงต้องติดตามโควิด สายพันธุ์เดลตาว่าจะรุนแรงมากเพียงใด
โดยในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ได้หารือกันค่อนข้างมาก เพราะจะเป็นความเสี่ยงหากควบคุมการระบาดได้ช้า จะทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าออกไป ซึ่งจะทำให้การเปิดประเทศให้ต้องเลื่อนไปด้วย
ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในปัจจุบันมีความเสี่ยงซับซ้อน ต้องติดตามการกลายพันธุ์ของโควิดเดลตา หากรุนแรงยืดเยื้อจะกระทบกับประมาณการเศรษฐกิจที่ปัจจุบันคาดว่าปีนี้จีดีพีไทยจะขยายตัว 1.8% ซึ่งกระทบต่อฐานะการเงินของครัวเรือน ความเปราะบางตลาดแรงงาน ทำให้ต้องมีมาตรการการคลัง นโยบายการเงินต่อเนื่อง เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูงมากในช่วงนี้ ซึ่ง ธปท. จะติดตามและรายงานผลใกล้ชิด โดยถ้ายืดเยื้ออาจมีโอกาสที่รัฐบาลจะใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. หมดทั้ง 5 แสนล้านบาท
แรงงานภาคการผลิตรายได้ยังทรงตัว แต่หนี้ครัวเรือนเป็นภาระของครัวเรือนต้องที่ดูแล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรายได้ โดยเฉพาะอาชีพอิสระมีปัญหามาก ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากนี้ และในช่วงที่ผ่านมาผลกระทบการระบาดและกลายพันธุ์ทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้า วัคซีนประสิทธิภาพอาจไม่ได้ตามคาดแล้ว ซึ่งกระทบการเปิดประเทศเลื่อนออกไปอีก รวมทั้งจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้เพิ่มเติม ธปท. จะประเมินอีกครั้ง
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์