3 ทางออก พักชำระหนี้ คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ ดอกเบี้ยยังวิ่งไหม คนกู้เงินต้องดู

         เปิดทางเลือก 3 มาตรการ พักชำระหนี้คิดให้ดีก่อนพักหนี้ แบบไหนดีที่สุด พักยาว ๆ ไปเลยดีหรือเปล่า แล้วดอกเบี้ยยังวิ่งไหม มาหาคำตอบกัน

พักชำระหนี้

           จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญมาเกือบ 1 ปี ที่ผ่านมามีการหยุดพักกิจการต่าง ๆ หลายคนก็กลายเป็นคนว่างงาน แต่ภาระเรื่องหนี้สิน เช่นการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ไม่ได้หยุดพักตามไปด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางธนาคาร ก็มีมาตรการพักหนี้ออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน


           แต่บางคนไม่ทราบว่าพักชำระหนี้ ในที่นี้มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง บางคนเข้าใจว่า การพักชำระหนี้คือ การหยุดจ่ายหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่มีอะไรเพิ่มเติม เมื่อพ้นระยะการ พักชำระหนี้ แล้วก็จ่ายค่างวดตามปกติ ไม่มีดอกเบี้ยใด ๆ เพิ่มเติม

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย เคยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการผ่อนปรนแต่ละวิธีหมายถึงอะไร และเมื่อจบช่วงผ่อนปรนแล้ว ยอดหนี้คงเหลือของแต่ละวิธีจะเป็นอย่างไร รวมทั้งถ้าต้องเลือกระหว่างผ่อนชำระตามปกติ หรือใช้มาตรการผ่อนปรน จะเลือกทางไหนดี โดยสมมุติว่ามีหนี้ 1 ล้านบาท ระยะเวลาพักชำระหนี้ 6 เดือน ซึ่งมีรายละเอียดังนี้

พักชำระหนี้

- วิธีที่ 1 การผ่อนชำระตามปกติ


           คือการกัดฟันจ่ายตามปกติแบบที่จ่ายมาเสมอ ตัวอย่างเช่น เป็นหนี้ 1 ล้านบาท ชำระเดือนละ 10,000 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 4,000 บาท ดอกเบี้ย 6,000 บาท เมื่อพ้นระยะพักหนี้ 6 เดือน เงินต้นคงเหลือ 976,000 บาท

ข้อดี

           1. หนี้ลดลง
           2. บางสถาบันการเงินจะปรับลดดอกเบี้ยให้เพิ่มเติม

ข้อเสีย

           ต้องกัดฟัน อดทนจ่าย แม้ว่าสถานการณ์การเงินจะยังไม่ดีขึ้น

พักชำระหนี้

- วิธีที่ 2 การพักชำระเงินต้น

           วิธีนี้หมายถึง การที่ลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระเงินต้นตามเวลาที่กำหนด แต่ต้องชำระดอกเบี้ยตามปกติ

           ตัวอย่างเช่น จ่ายแค่ดอกเบี้ย 6,000 บาท 6 เดือน รวม 36,000 บาท เมื่อพ้นระยะ 6 เดือน เงินต้นก็ยังคงเหลืออยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้หมายความว่า เมื่อเราชำระแค่ดอกเบี้ย 6,000 บาท เราก็ยังจะเหลือเงินต้น 4,000 บาท ซึ่งเราสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ยังชีพในช่วงเวลายากลำบากได้ต่อ แต่เงินต้นยังไม่ลด

ข้อดี

           1. ไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้
           2. ประวัติการจ่ายหนี้ไม่เสีย
           3. มีเงินสดเหลือไปใช้จ่ายที่จำเป็น

ข้อเสีย

           เงินต้นยังเท่าเดิม ไม่ได้ลดลง

พักชำระหนี้

- วิธีที่ 3 การพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

           วิธีนี้หมายถึง การที่สถาบันการเงินเลื่อนการชำระหนี้ออกไปเลย โดยไม่ต้องจ่ายทั้งต้นทั้งดอก ในระยะเวลาพักหนี้ 6 เดือน ยอดผ่อนชำระเป็น 0 บาท ทำให้ลูกหนี้มีเงินเหลือในแต่ละเดือน 10,000 บาท นำไปใช้จ่ายที่จำเป็น แต่ในช่วงการพักชำระหนี้ ดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ตามปกติ

           เช่น ยอดหนี้ 1 ล้านบาท พักเงินต้นดอกเบี้ย 6 เดือน เมื่อครบระยะเวลาพักหนี้แล้ว จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 36,000 บาท ส่วนเงินต้นก็ยังเหลือเท่าเดิม

ข้อดี

           1. ไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้
           2. ประวัติการจ่ายหนี้ไม่เสีย
           3. มีเงินสดเหลือไปใช้จ่ายที่จำเป็น

ข้อเสีย

           ดอกเบี้ยยังวิ่งอยู่เหมือนเดิม หลังหมดมาตรการพักหนี้แล้ว ยังมีส่วนของดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

แล้วจะเลือกทางไหนดี

           อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท่านจะเลือกทางไหนของการพักชำระหนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคิดคือ สถานการณ์การเงินของท่านตอนนี้เป็นอย่างไร เพราะยิ่งจ่ายน้อย จ่ายนาน ดอกเบี้ยก็ยิ่งพอกพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากท่านจ่ายไม่ไหวแล้ว แนะนำให้ท่านเดินเข้าธนาคาร และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ธนาคารจะดีกว่า เพื่อที่ทางธนาคาร จะได้ช่วยหามาตรการมาช่วยเหลือท่านได้ทันท่วงที ก่อนที่จะสายเกินแก้

พักชำระหนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 ทางออก พักชำระหนี้ คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ ดอกเบี้ยยังวิ่งไหม คนกู้เงินต้องดู อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2564 เวลา 16:53:02 27,070 อ่าน
TOP
x close