แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรดี ตามมาอ่านวิธีวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไปพร้อม ๆ กันเลย
1. ลองคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย
สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ประมาณตัวเลขคร่าว ๆ ดูก่อนว่าในปีนี้เรามีรายได้ หรือที่เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" เท่าไร เป็นเงินได้ประเภทไหนบ้าง เช่น เงินเดือน ค่านายหน้า เบี้ยประชุม ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ เนื่องจากเงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน
สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 คือ เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส และประเภทที่ 2 เช่น ค่านายหน้า เบี้ยประชุม ตรงนี้จะหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ยังหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีกคนละ 60,000 บาท
เมื่อรวมรายได้ทั้งหมด พร้อมกับหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว จะเหลือเป็น "เงินได้สุทธิ" ซึ่งเงินได้สุทธิที่ไม่เกิน 310,000 บาท (เฉลี่ยมีรายได้ไม่เกิน 25,833 บาท/เดือน) จะไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าสูงกว่า 310,000 บาท/ปี หรือคนที่มีเงินเดือน 25,833 บาทขึ้นไป หากไม่มีตัวช่วยประหยัดภาษีอื่น ๆ จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราขั้นบันได ดังนี้
2. หาตัวช่วยประหยัดภาษี
เมื่อคำนวณดูแล้วเห็นว่าต้องจ่ายภาษีจำนวนไม่น้อย เราสามารถลดภาระตรงนี้ได้ด้วยการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีนอกเหนือจากค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น
● กรณีมีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน : สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท
● กรณีมีบุตร : สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท/บุตร 1 คน โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร (ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร)
● กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา หรือบิดา-มารดาของคู่สมรส : สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท/คน สูงสุด 4 คน รวม 120,000 บาท (ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร)
● ประกันสังคม : หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง โดยในปี 2563 ลดหย่อนได้ไม่เกิน 5,850 บาท เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมลดจำนวนการเก็บเงินสมทบ
● ประกันชีวิต : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
● ประกันสุขภาพ : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
● กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) : ลงทุนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
● กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) : หักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
● ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
● เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา, สถานพยาบาลของรัฐ, การกีฬา : หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง
● เงินบริจาคเพื่อการกุศลอื่น ๆ : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
● มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการช้อปดีมีคืน : นำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยต้องซื้อสินค้า ใช้บริการ และชำระเงิน ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 เท่านั้น
3. สามี-ภรรยาเลือกให้ดี จะยื่นรวม หรือแยกยื่นภาษี
คู่สมรสที่มีฐานภาษีเดียวกันควรใช้วิธีต่างคนต่างยื่นภาษี เพราะการรวมยื่นภาษีจะทำให้รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้เสียภาษีเพิ่มไปอีกขั้น
เช่น สามีมีรายได้สุทธิ 300,000 บาท ภรรยามีรายได้สุทธิ 250,000 บาท ทั้งคู่อยู่ในฐานภาษี 5% เมื่อแยกยื่นภาษี ฝ่ายสามีจะจ่ายภาษี 7,500 บาท ฝ่ายภรรยาจ่ายภาษี 5,000 บาท รวมเสียภาษี 12,500 บาท
ขณะที่การนำรายได้มารวมกัน จะใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้ 150,000 บาทแรกได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ส่งผลให้เงินได้สุทธิรวม 2 คนเพิ่มขึ้น อยู่ในฐานภาษีที่สูงกว่า 5% จึงต้องจ่ายภาษีมากกว่า
เหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีฐานภาษีต่ำ แต่มีค่าลดหย่อนสูงกว่ารายได้ของตัวเอง ดังนั้น เมื่อนำรายได้ทั้ง 2 คนมารวมกันจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เต็มที่
เช่น สามีมีรายได้ 500,000 บาท มีค่าลดหย่อน 50,000 บาท ขณะที่ภรรยามีรายได้ 100,000 บาท มีค่าลดหย่อน 180,000 บาท หากรวมกันยื่นภาษี สามีจะมีค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้น และเสียภาษีน้อยลง
4. เลือกวิธียื่นภาษีและชำระภาษีที่ง่ายและสะดวกกับเรา
จะยื่นภาษีผ่านช่องทางใดก็ควรวางแผนด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันสามารถยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต และขอรับเงินคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ ช่วยประหยัดเวลาและยังได้เงินคืนภาษีเร็วขึ้น
ส่วนใครต้องชำระภาษีเพิ่มเติมตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป กรมสรรพากรก็ให้ผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ควรชำระภาษีภายในกำหนดเวลา เพราะถ้าชำระล่าช้า หรือลืมจ่ายงวดใดงวดหนึ่ง จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอาจมีหลายคนไม่สะดวกไปชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากร ทำให้ลืมจ่ายภาษีจนถูกปรับ แต่ปัญหาความยุ่งยากเหล่านี้จะหมดไป แค่เลือกจ่ายภาษีผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งชำระได้หลายช่องทาง ทั้งที่ธนาคารออมสินสาขา, เครื่อง ATM , บริการ GSB Internet Banking หรือง่ายไปกว่านั้นก็คือ จ่ายภาษีผ่าน Bill Payment ในแอปพลิเคชัน MyMo ได้เลย
และนอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ธนาคารออมสินยังมีบริการรับชำระภาษีอีกหลายประเภท ได้แก่
● กรมสรรพากร : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ
● กรมสรรพสามิต : เช่น ภาษีน้ำมัน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องสำอาง, เครื่องดื่ม, รถยนต์, แบตเตอรี่, บริการไนต์คลับและดิสโก้เธค ฯลฯ
ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่ธนาคารออมสินอำนวยความสะดวกให้เราชำระภาษีประเภทต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม