x close

วิธีเช็กเงินเกษตรกร ประกันราคาข้าว ธ.ก.ส. พร้อมโอนตรงถึงเกษตรกร ใน 3 วัน ทำอย่างไรมาดู

             ธ.ก.ส. แจงขั้นตอนจ่ายเงิน ประกันรายได้ข้าว ผู้ได้สิทธิ์ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 63-64 และแจ้งเวลาเก็บเกี่ยว โอนตรงเข้าบัญชีใน 3 วัน


ประกันรายได้ข้าว

            จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 (รอบที่ 1) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว

            อ่านข่าว : ธ.ก.ส. จ่ายเงินประกันรายได้ข้าว งวดแรกวันนี้ (16 พ.ย.) 8.7 แสนราย ใครได้บ้างเช็กเลย
 
            ล่าสุด (17 พฤศจิกายน 2563) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยกลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 18,096 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์กว่า 4.04 ล้านราย โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่

            -    ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

            -    ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

            -    ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

            -    ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน

            -    ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน


            ส่วนกรณีเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนสูงสุดของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด

ระยะเวลาที่ใช้สิทธิ์ขอชดเชย

            ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564

ประกันรายได้ข้าว

ประกาศราคาเกณฑ์กลาง ชดเชยส่วนต่างราคาประกันเท่าไร ?  

            คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงครั้งแรก วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างตามโครงการ ความชื้นข้าวเปลือกแต่ละชนิด ไม่เกิน 15% โดย ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้ชดเชยส่วนต่างราคาประกัน ดังนี้

            -    ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2,911.17 บาท

            -    ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,137.45 บาท

            -    ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 1,222.36 บาท

            -    ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,066.96 บาท

            -    ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 2,084.34 บาท


            มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินทั้งสิ้น 871,869 ราย เป็นเงิน 9,298 ล้านบาท จากนั้นจะประกาศราคาอ้างอิงทุก ๆ 7 วัน จนถึงวันสิ้นสุดโครงการ

เกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ข้าว

            สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/2564 รอบที่ 1 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิ์ชดเชย

            โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิด คูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน

            จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการ 

วิธีการตรวจสอบผลการโอนเงิน ประกันราคาข้าว

            เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเช็กเงินเกษตรกร ประกันราคาข้าว ธ.ก.ส. พร้อมโอนตรงถึงเกษตรกร ใน 3 วัน ทำอย่างไรมาดู อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11:16:36 116,140 อ่าน
TOP