x close

พันธบัตรออมทรัพย์ก้าวไปด้วยกัน ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง ?

          พันธบัตรออมทรัพย์ก้าวไปด้วยกัน อีกหนึ่งวิธีออมเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง เปิดขายเมื่อไร ใครซื้อได้บ้าง ถ้าอยากลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลชุดนี้ ตามมาอ่านรายละเอียดได้เลย  
          ข้อดีของการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรออมทรัพย์ ก็คือได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ และช่วยให้เราเก็บเงินในระยะยาวได้ง่ายขึ้น หากไม่ขายพันธบัตรออกมาก่อน ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ กระทรวงการคลังได้เปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ 2 ประเภท คือ

          1. พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นวอลเล็ต สบม. (วอลเล็ต สะสมบอนด์มั่งคั่ง) ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 2 (อ่านรายละเอียดที่นี่ >> พันธบัตรดิจิทัล เปิดขายรอบ 2 แค่หน่วยละบาท รับดอกเบี้ย 1.70% ซื้อยังไง มาดู)

          2. พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่นก้าวไปด้วยกัน ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

         ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการออมเงิน ใครสนใจ "พันธบัตรก้าวไปด้วยกัน" เรารวบรวมข้อมูลมาบอกต่อ 

พันธบัตรออมทรัพย์ก้าวไปด้วยกัน มีแบบไหนบ้าง ?

          พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่นก้าวไปด้วยกัน ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำหน่ายแบบเดียว คือ รุ่นอายุ 7 ปี (SB278A) และเป็นแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) วงเงินจำหน่าย 45,000 ล้านบาท

พันธบัตรออมทรัพย์ก้าวไปด้วยกัน ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ?

  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.22% ต่อปี แต่เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จะเหลือดอกเบี้ย 1.887% ต่อปี
  • ดังนั้น หากเราซื้อพันธบัตร 10,000 บาท จะได้ดอกเบี้ย 188.7 บาท/ปี (โดยประมาณ)

ใครซื้อได้บ้าง ?

          ผู้มีสิทธิ์ซื้อ : บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

          ผู้ไม่มีสิทธิ์ซื้อ : ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยสถาบันการเงิน กองทุนรวม คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล บรรษัท สำนักงาน ประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โรงพยาบาลเอกชน สถานศึกษาเอกชน และนิติบุคคลที่แสวงหากำไร

วงเงินซื้อขั้นต่ำเท่าไร ?

  • จำหน่ายหน่วยละ 1,000 บาท ซื้อขั้นต่ำ 1 หน่วย หรือ 1,000 บาท
  • ซื้อเพิ่มได้เป็นจำนวนเท่าของ 1,000 บาท เช่น 2,000 บาท, 10,000 บาท, 501,000 บาท เป็นต้น 
  • ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ซื้อ

เปิดขายเมื่อไร ?

          แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง คือ 

ช่วงที่ 1

  • เวลา 08.30 น. วันที่ 26 สิงหาคม - เวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2563 หรือเมื่อจำหน่ายครบวงเงิน 45,000 ล้านบาท
  • ผู้มีสิทธิ์ซื้อ คือ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
  • ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท 
  • ซื้อได้สูงสุดต่อรายรวมทุกธนาคาร ไม่เกิน 10 ล้านบาท (ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อ)
     
ช่วงที่ 2 (จะเปิดขายเมื่อมีวงเงินจำหน่ายเหลือจากช่วงที่ 1)
  • เวลา 08.30 น. วันที่ 4 กันยายน ถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 11 กันยายน 2563 หรือเมื่อจำหน่ายครบวงเงิน 45,000 ล้านบาท
  • ผู้มีสิทธิ์ซื้อ คือ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร
  • ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท
  • ไม่จำกัดวงเงินซื้อสูงสุด

ซื้อได้ที่ไหน ?

       สามารถซื้อพันธบัตรก้าวไปด้วยกัน ได้ 2 วิธี คือ

          1. เคาน์เตอร์ของธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ของวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 11 กันยายน 2563

          2. Internet Banking และ Mobile Application ของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

          ทั้งนี้ การซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต Mobile Application ผู้ซื้อที่ไม่เคยลงทะเบียนพันธบัตรต้องติดต่อสาขาเพื่อขอลงทะเบียนพันธบัตรก่อนทำรายการซื้อ ยกเว้นกรณีทำรายการซื้อผ่านธนาคารกสิกรไทย ไม่ต้องลงทะเบียนพันธบัตร

พันธบัตรออมทรัพย์

ตัวอย่างพันธบัตรออมทรัพย์ (ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล) ภาพจาก Santibhavank P/Shutterstock

วิธีลงทะเบียนซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ (กรณีซื้อครั้งแรก)

           หากเราไม่เคยซื้อพันธบัตรออมทรัพย์กับธนาคารมาก่อน จะต้องลงทะเบียนซื้อพันธบัตรและเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่สาขาธนาคาร (เฉพาะการซื้อพันธบัตรที่ธนาคากรุงเทพ ธนาคากรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์) โดยใช้หลักฐาน ดังนี้ 

          1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเอกสารหลักฐานการแสดงตนที่ออกโดยหน่วยงานราชการ (กรณีนิติบุคคล) และสำเนาเอกสารดังกล่าว พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง 

          2. สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ของผู้ซื้อที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารนั้น พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ในกรณีที่ไม่มีบัญชีเงินฝาก ผู้ซื้อต้องเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งต้องเป็นบัญชีของธนาคารที่ทำรายการซื้อเท่านั้น

          แต่ถ้าเป็นการซื้อกับธนาคารกสิกรไทย ผู้ซื้อไม่ต้องลงทะเบียนพันธบัตร แต่หากไม่มีบัญชีเงินฝาก จะต้องเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งต้องเป็นบัญชีของธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น

วิธีชำระเงินการซื้อพันธบัตรก้าวไปด้วยกัน

  • ซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application : หักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ซื้อทันที
     
  • ซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร : สามารถชำระได้ทั้งเงินสด หักบัญชีเงินฝาก หรือเช็ค (วันที่ 11 กันยายน 2563 ไม่รับชำระด้วยเช็ค) โดยสั่งจ่าย "บัญชีจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง รุ่นอายุ 7 ปี"

จ่ายดอกเบี้ยเมื่อไร ?

  • จ่ายดอกเบี้ยวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และ 26 สิงหาคม ของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนดไถ่ถอน โดยจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564
  • กรณีชำระเงินก่อนเวลา 15.00 น. ของวันทำการ ดอกเบี้ยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ซื้อ 
  • กรณีชำระเงินหลังเวลา 15.00 น. ของวันทำการ หรือซื้อในวันเสาร์–อาทิตย์ หรือวันหยุดธนาคารแห่งประเทศไทย ดอกเบี้ยจะเริ่มนับในวันทำการถัดไป
  • หากวันจ่ายดอกเบี้ยตรงกับวันหยุดธนาคาร จะชำระดอกเบี้ยในวันทำการถัดไป

เสียภาษีเท่าไร ?

          หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ต่อปี ทุกครั้งที่มีการจ่ายดอกเบี้ย 

ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อไร ?

          วันที่ 26 สิงหาคม 2570 

จ่ายคืนเงินต้นอย่างไร เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ?

  • โอนเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ในวันที่ครบกำหนดไถ่ถอน
  • กรณีเปลี่ยนเป็นพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะโอนเงินต้นเข้าบัญชี เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคืนใบพันธบัตร

ขายพันธบัตรก่อนครบกำหนดได้ไหม ?

          ผู้ถือพันธบัตรสามารถขายคืนพันธบัตรออมทรัพย์ ก่อนครบกำหนดวันไถ่ถอนให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป โดยราคาขายจะขึ้นอยู่กับราคาตลาด ณ วันที่ขาย ทั้งนี้ สามารถเช็กราคาพันธบัตรได้ที่ เว็บไซต์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย   

โอนกรรมสิทธิ์-โอนมรดกได้หรือไม่ ?

  • โอนกรรมสิทธิ์ คือ การขายพันธบัตรก่อนวันที่ครบกำหนดไถ่ถอน สามารถทำรายการได้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
     
  • โอนทางมรดก เช่น การแบ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการหย่า การล้มละลาย การชำระบัญชี การใช้เป็นหลักประกัน สามารถทำได้หลังซื้อพันธบัตร 2 วันทำการ

ใช้พันธบัตรออมทรัพย์เป็นหลักประกันได้ไหม ?

          สามารถใช้พันธบัตรเป็นหลักประกันกับหน่วยงานราชการและองค์กรของรัฐ เช่น ประกันทางศาล หรือการประกันไฟฟ้า รวมถึงใช้เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับระเบียบหลักเกณฑ์ของหน่วยงานหรือบุคคลนั้น ๆ ด้วย โดยสามารถติดต่อธนาคารเพื่อขอถอนพันธบัตรจากระบบ Scripless ออกเป็นใบพันธบัตร (มีค่าธรรมเนียม) เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกัน

ช่องทางสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • ธนาคารกรุงเทพ โทร. 1333 หรือ คลิก  
  • ธนาคารกรุงไทย โทร. 0 2111 1111 หรือ คลิก    
  • ธนาคารกสิกรไทย โทร. 0 2888 8888 กด 819 หรือ คลิก   
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ โทร. 0 2777 7777 หรือคลิก    
  • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5217, 5315, 5319, 5322 หรือ 0 2271 7999 ต่อ 5809, 5820
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย  
  • สำนักงานใหญ่ ฝ่ายการชำระเงินและพันธบัตร โทร. 1213
  • สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โทร. 0 7427 2000 ต่อ 4422-3, 4425, 0 7423 8475
  • สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ โทร. 0 5393 1077-8
  • สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น โทร. 0 4391 3423, 3425
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พันธบัตรออมทรัพย์ก้าวไปด้วยกัน ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 25 สิงหาคม 2563 เวลา 11:23:20 155,155 อ่าน
TOP