x close

เปิดรายละเอียด ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% เหลือ 2% ลากยาวถึงสิ้นปี ช่องทางไหน ใครได้บ้าง

          ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ต่อเนื่องไปจนสิ้นปี ระหว่าง 31 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 ต้องทำผ่านระบบ e-Withholding Tax แบบนี้ใครมีสิทธิ์ได้บ้าง เช็กเลย !!

          จากกรณี กระทรวงการคลัง ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวงให้ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากปกติ 3% เหลือ 1.5% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 กันยายน 2563

          อ่านข่าว : เช็กเลย ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% ใครได้รับสิทธิ์บ้าง

          นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดภาษีต่อเนื่องไปอีก ช่วงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 จาก 3% เหลือ 2% เฉพาะ e-Withholding Tax เท่านั้น

E-withholding tax คืออะไร

          การดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารผู้รับเงิน โดยกฎหมายจะกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ประเภทที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย มีหน้าที่แจ้งธนาคารให้ทราบ ซึ่งธนาคารในฐานะผู้ให้บริการรับชำระเงิน จะมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับเงินจำนวนดังกล่าว หักภาษีตามยอดที่แจ้ง และส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากร

          ทั้งนี้ ธนาคารจะเป็นตัวกลางช่วยส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้ ส่วนผู้รับก็ไม่ต้องเก็บหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ที่เป็นกระดาษอีกต่อไป เนื่องจากสามารถตรวจสอบข้อมูลภาษีของตนเองได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ทำให้การยื่นภาษีประจำปีง่ายขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนระบบ e-Withholding Tax จึงมีการปรับลดอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 สำหรับผู้ที่ใช้ช่องทางนี้ แก่ผู้รับเงินประเภทต่อไปนี้...

          1. (ก) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ และมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

          ผู้ที่ได้รับประโยชน์ : ผู้ที่อยู่ในมาตรา 40 (2) เฉพาะผู้รับที่เป็นนิติบุคคล บริษัท ห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ไม่รวมบุคคลธรรมดา อันได้แก่ เงินได้จากหน้าที่หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม ค่าสอน บำเหน็จ เงินโบนัส เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า

          เช่น กรณีที่ท่านเป็นเซลส์แมน ตัวแทนประกันชีวิต หรือนักธุรกิจขายตรง แม้ท่านจะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทที่ทำงานอยู่ แต่ท่านก็ไม่จัดอยู่ในกลุ่มมาตรา 40 (2) นี้ แต่จะถือเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) หรือหากท่านเป็นมนุษย์เงินเดือน รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ก็ไม่เข้าข่ายกลุ่มนี้เช่นกัน

          เช่นเดียวกับกรณีที่ท่านเป็น เน็ตไอดอล พริตตี้ ที่รับงานรีวิวสินค้า หรือเป็น นางแบบ พิธีกร ตามงานโชว์ตัว งานอีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งได้เงินจากผู้จ้างโดยตรง หรือแม้แต่หากท่านเป็นครูสอนพิเศษที่รับค่าสอนจากโรงเรียนเอกชน ท่านเป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานให้กับบริษัทที่ว่าจ้าง ท่านจะยังถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เช่นเดิม

          ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกรณีนี้ ต่อเมื่อท่านเป็นบริษัท ห้างร้าน นิติบุคคล ที่มีการจ้างอีกบริษัทหนึ่งให้มาทำงานให้ เช่น บริษัท A จ้างบริษัท B ให้แปลเอกสาร, บริษัท A จ้างบริษัท B ทำโฆษณา รีวิวสินค้า หรือบริษัท A จ้างบริษัท B ให้มาสอนคนในบริษัท ลักษณะนี้จะได้ลดภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือแค่ 2%

          2. (ข) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิ์อย่างอื่น ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ และมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

          ผู้ที่ได้รับประโยชน์ : ผู้ที่อยู่ในมาตรา 40 (3) คือบริษัทที่ได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ เช่น ลิขสิทธิ์เพลง บทประพันธ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เกม ภาพ รวมไปถึงชื่อเสียงทางการค้า แต่เป็นในส่วนของบริษัทเท่านั้น ไม่รวมบุคคลธรรมดา

          ยกตัวอย่าง หากท่านเป็นนักแต่งเพลง นักเขียนหนังสือ นักเขียนเว็บไซต์ โปรแกรมเมอร์สร้างซอฟต์แวร์ ซึ่งท่านได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์จากทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้อยู่แล้ว ท่านยังคงต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% เท่าเดิม

          แต่หากท่านเป็นบริษัทที่ถือครองลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์เพลง หนังสือ บทประพันธ์ โปรแกรม ซอฟต์แวร์ หรือเป็นต้นสังกัดลิขสิทธิ์ของศิลปินต่าง ๆ ท่านจะได้รับประโยชน์ ลดภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2%

          3. (ค) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) และ (7) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ และมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

          ผู้ที่ได้รับประโยชน์ : ผู้ที่อยู่ในมาตรา 40 (6) ได้แก่ คนที่อยู่ในวิชาชีพอิสระ ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ แต่หมายถึงวิชาชีพตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ทนายความ บุคลากรที่ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด ฯลฯ) วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ๆ ได้ลดภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรดา หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

          ผู้ที่ได้รับประโยชน์ : ผู้ที่อยู่ในมาตรา 40 (7) ได้แก่ ผู้รับเหมา ผู้รับงานจ้างต่าง ๆ โดยมีการรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ โดยท่านเป็นผู้จัดหาแรงงาน เครื่องมือ และสัมภาระเอง เช่น รับเหมาก่อสร้าง, รับผลิตสินค้าตามแบบที่ลูกค้าต้องการ โดยที่ปกติท่านไม่ได้ทำขาย หรือผลิตตามแบบที่นอกเหนือจากในแค็ตตาล็อก ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาแบบบุคคลธรรมดา หรือเป็นบริษัทรับเหมา ก็ได้ลดภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% เช่นกัน

          ในมาตรา 40 (7) ข้อสังเกตคือ ถ้ามีการรับเหมาแต่ค่าแรง แต่ผู้ว่าจ้างเป็นคนซื้อวัสดุอุปกรณ์เอง จะไม่ใช่การรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของตามมาตรานี้ แต่จะเป็นเพียงการว่าจ้างธรรมดา ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มมาตรา 40 (2)

          4. (ง) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นเงินได้จากการจ้างทำของ การจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย และการให้บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีที่กำหนดไว้ใน (3) (15) (16) และ (17)

        แต่ไม่รวมถึง การจ่ายค่าบริการของโรงแรม ค่าบริการของภัตตาคาร และค่าเบี้ยประกันชีวิต ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ และมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

        ผู้ที่ได้รับประโยชน์ : โดยผู้ที่อยู่ในมาตรา 40 (8) ได้แก่ คนที่ได้รับเงินปันผลต่าง ๆ กำไรจากการขาย LTF RMF รวมไปถึงเงินรางวัลจากการชิงโชค จับสลาก และอื่น ๆ 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ข้างต้น จากการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 จะต้องดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งผ่านระบบ e-Withholding Tax เท่านั้น

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดรายละเอียด ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% เหลือ 2% ลากยาวถึงสิ้นปี ช่องทางไหน ใครได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2563 เวลา 18:11:34 61,120 อ่าน
TOP