มาหาคำตอบกันว่า เมื่อทั้งสองประเทศขัดแย้งกันเรื่องน้ำมันเช่นนี้ ทำไมถึงได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
พื้นที่ตะวันออกกลาง มีแหล่งน้ำมันดิบมากมาย รวมทั้งประเทศซาอุดีอาระเบีย 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยปริมาณ 2.6 แสนล้านบาร์เรล โดยแหล่งน้ำมันสำคัญของประเทศอยู่ที่โรงกลั่นอับกาอิก (Abqaiq) และคูราอิส (Khurais)
ทั้งนี้ จากข้อมูลเมื่อปี 2019 ซาอุฯ สามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ 9-10 ล้านบาร์เรล/วัน หรืออันดับ 3 ของโลก ซึ่งลดลงจากปี 2018 ที่เคยผลิตได้ 12 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากต้องการพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ตกต่ำมากเกินไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังส่งออกน้ำมันสร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่าปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
รัสเซีย มหาอำนาจน้ำมันแห่งทวีปยุโรปและเอเชีย
รัสเซีย ไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลกอย่างเดียว แต่ยังเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกด้วย ซึ่งแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ที่ไซบีเรียตะวันตก ภาคกลาง และทางตะวันตกของประเทศ โดยมีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาร์เรล มีกำลังการผลิตมากถึง 11 ล้านบาร์เรล/วัน เหนือกว่าซาอุดีอาระเบียเล็กน้อย จึงเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของทวีปยุโรป และทวีปเอเชีย
อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังได้เปรียบประเทศผู้ผลิตน้ำมันชาติอื่น เพราะมีต้นทุนการทางผลิตต่ำกว่า อีกทั้งยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มโอเปก แต่ก็ยังเป็นพันธมิตร ที่ทำตามข้อตกลงและเข้าร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกอยู่เสมอ
ข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก คือชนวนเหตุของความขัดแย้งครั้งนี้ โดยหลังจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำมาพักใหญ่ตลอดปี 2019 เนื่องจากผลิตออกมามากเกินความต้องการ กลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกจึงมีมติให้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2019 มีมติให้ลดกำลังการผลิตอีก 5 แสนบาร์เรล/วัน เป็นเวลา 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2563) เพื่อไม่ให้น้ำมันดิบล้นตลาด เท่ากับว่าปริมาณการผลิตทั้งหมดจะลดลงอีก 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ 1.7% ของกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมดในโลก
การปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว แม้ว่าจะช่วยพยุงราคาน้ำมันเอาไว้ได้ แต่ก็ส่งผลให้ประเทศที่พึ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก มีรายได้น้อยลงตามไปด้วย จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสมาชิกโอเปก ผลิตน้ำมันได้ไม่จำกัด สามารถส่งออกและสร้างรายได้จำนวนมากแทน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยเป็นที่พอใจของชาติสมาชิกมากนัก
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ราคาน้ำมันยังคงร่วง และถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ หรือโรค COVID-19 (โควิด 19) ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลายประเภทต้องการใช้น้ำมันน้อยลงไปอีก กลุ่มโอเปก นำโดยซาอุฯ และชาติพันธมิตร นำโดยรัสเซีย จึงประชุมอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม 2563 เพื่อพิจารณาให้ปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2563 พร้อมกับต้องการให้ประเทศพันธมิตรให้ความร่วมมือลดการผลิตน้ำมันลงอีก 5 แสนบาร์เรล/วัน
แต่ทว่า ข้อเสนอดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับ รัสเซีย เนื่องจากต้องการปรับลดกำลังการผลิตตามโควตาเดิม คือ 5 แสนบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นสุดไตรมาส 2 ปี 2020 ตามที่ได้ประชุมกันเมื่อเดือนธันวาคม 2019 เท่านั้นเมื่อสรุปกันไม่ได้ รัสเซียจึงประกาศถอนตัว ไม่ทำตามข้อตกลง พร้อมกับเตรียมเดินหน้าการผลิตเต็มสูบตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้เป็นต้นไป
ฝั่งซาอุดีอาระเบียก็เดินหน้าตอบโต้รัสเซียทันที ด้วยการปรับลดราคาขายน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการ (OSP) ให้กับทุกทวีป เพื่อชิงส่วนแบ่งค้าน้ำมันจากรัสเซีย พร้อมกับประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจาก 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มเป็น 11-12 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อส่งสัญญาณว่า รัสเซียจะไม่สามารถขายน้ำมันได้ง่าย ๆ เหมือนกัน เท่ากับเป็นการเปิดฉากสงครามน้ำมันระหว่าง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ
ราคาน้ำมัน
การประกาศลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) ของซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงทั่วโลก โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนเมษายน ร่วงลง 10.15 ดอลลาร์ หรือ 24.6% ปิดที่ราคา 31.13 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 10.91 ดอลลาร์ หรือ 24.10% ปิดที่ราคา 34.36 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งทั้งสองสัญญาดิ่งลงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2534 ระหว่างเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นักวิเคราะห์จึงคาดการณ์กันว่า ราคาน้ำมันโลกจะมีแนวโน้มลดลงและผันผวนต่อจากนี้ โดยนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 (โควิด-19) และสงครามราคาน้ำมัน จะทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันดิบร่วงลงแตะระดับ 20 ดอลลาร์/บาร์เรล ย่ำแย่ลงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2557 และวิกฤตการณ์ในปี 2559 ที่ราคาน้ำมันดิบร่วงหลุดระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรลในขณะนั้น
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์ว่า ทิศทางราคาน้ำมันโลกหลังจากนี้มีแนวโน้มผันผวน ในช่วงขาลง โดยมีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี จะต่ำกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2563 ที่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ราวๆ 47 ดอลลาร์ ส่วนค่าเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 58.04 ดอลลาร์
ตลาดหุ้น
ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงเกือบ 25% ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มพลังงานทั่วโลก ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักทั้ง 3 ดัชนี ทำสถิติดิ่งลงในวันเดียวแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2563) ได้แก่
- ดาวโจนส์ ปิดที่ 23,851.02 จุด ดิ่งลง 2,013.76 จุด หรือ 7.79% และต้องใช้เซอร์กิต เบรdเกอร์ หรือการพักการซื้อขาย เป็นเวลา 15 นาที เป็นครั้งแรก
- Nasdaq ปิดที่ 7,950.68 จุด ลดลง 624.94 จุด หรือ -7.29%
- S&P500 ปิดที่ 2,746.56 จุด ลดลง 225.81 จุด หรือ -7.60%
ด้าน SET ตลาดหุ้นไทย ก็ได้รับผลกระทบ โดยเปิดตลาดภาคเช้า วันที่ 9 มีนาคม 2563 ดัชนีหลุด 1300 ทันที ร่วงลงมาอยู่ที่ 1,290.17 จุด ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1,255.94 ปรับตัวลง 108 จุด เป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 14 ปี ฉุดหุ้นกลุ่ม PTT ร่วงกว่า 25% เพียงวันเดียวมาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 4.73 แสนล้านบาท
ราคาทองคำ
เมื่อดัชนีตลาดหุ้นตก นักลงทุนก็หันไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าอย่างทองคำทันที โดยราคาทองคำโลกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้น 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อยู่ที่ 1,703 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก่อนที่จะมีการเทขายทำกำไรจนปรับตัวลดลง โดยวันที่ 11 มีนาคม 2563 เปิดตลาดมีราคาอยู่ที่ 1,649.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ขณะที่ทองคำไทยก็ปรับขึ้นตามตลาดโลกเช่นกัน โดยเช้าวันที่ 9 มีนาคม 2563 เปิดตลาดครั้งแรก ขึ้นทีเดียว 350 บาท โดยทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 24,695.64 ขายออกบาทละ 25,750 ทองคำแท่ง รับซื้อบาทละ 25,150 ขายออกบาทละ 25,250 ก่อนจะปรับตัวขึ้นลงทั้งวัน รวม 22 ครั้ง โดยราคาประกาศครั้งสุดท้าย ทองคำแท่ง รับซื้อ 24,800 บาท ขายออก 24,900 บาท ส่วนทองรูปพรรณ รับซื้อ 24,346.96 บาท ขายออก 25,400 บาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
ข้อมูลจาก
กรุงเทพธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ, สมาคมค้าทองคำ