ธปท. ออกมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ SME หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME พบว่า ผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายมิติ ส่งผลให้ไม่สามารถหาเงินทุนหมุนเวียนใหม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงได้หารือกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินเข้าไปดูแลผู้ประกอบการ SME เป็นกรณีพิเศษ โดยออกมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้และให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ SME มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ดังนี้

1. มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน สำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL
โดยการลดดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ไม่เป็น TDR (Troubled Debt Restructuring) ไม่ติดเครดิตบูโรใน NCB และจัดชั้นเป็นลูกหนี้ปกติ
2. มาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL
โดยให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้ เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน จากเดิมที่ต้องรอถึง 12 เดือน
3. มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน
โดยสามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้ หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
4. มาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้
นอกจากนี้ยังไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้ (กันเฉพาะส่วนที่เบิกใช้แล้ว)
5. เรื่องการรายงานเป้าสินเชื่อแก่ ธปท.
ให้สถาบันการเงินรายงานเป้าหมายสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้เป็นรายเดือน ภายใน 21 วัน นับจากวันสิ้นเดือน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่งวดสิ้นเดือนมกราคม 2563 - ธันวาคม 2564



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์