พันธบัตรออมทรัพย์ 2563 ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ซื้อได้ที่ไหนบ้าง ?

          พันธบัตรออมทรัพย์ 2563 ครั้งที่ 1 เปิดขายรุ่นอายุกี่ปีบ้าง แต่ละรุ่นให้ดอกเบี้ยเท่าไร สามารถซื้อได้ที่ไหน ใครอยากซื้อพันธบัตรรัฐบาลรอบนี้ มาเช็กกัน !

           ถ้าอยากฝากเงินแบบมีความเสี่ยงต่ำ การซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ หรือพันธบัตรรัฐบาล ก็เป็นทางเลือกออมเงินที่น่าสนใจทีเดียว เพราะให้เราเลือกลงทุนได้ทั้งระยะสั้นหรือระยะยาว แถมยังได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคารทั่วไป ซึ่งล่าสุดสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 2563 มาให้ประชาชนได้เก็บออม 2 รุ่น คือ

           1. พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 วงเงิน 15,000 ล้านบาท
           2. พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ วงเงิน 5,000 ล้านบาท 


           ใครอยากรู้ว่าพันธบัตรออมทรัพย์แต่ละรุ่น ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ใครสามารถซื้อได้บ้าง เราลองมาดูข้อมูลกัน

พันธบัตรออมทรัพย์ 2563

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ภาพจาก Santibhavank P / Shutterstock

ตัวอย่างสมุดพันธบัตร

พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1

พันธบัตรออมทรัพย์ 2563 ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ?

          พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) มีทั้งหมด 2 รุ่นคือ

  • รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 1.70% ต่อปี 
  • รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 1.95% ต่อปี

    จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 งวด คือ วันที่ 13 มิถุนายน และ 13 ธันวาคม ของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนด โดยจะโอนดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร

พันธบัตรออมทรัพย์ 2563 ใครซื้อได้บ้าง ?

  • บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย 
  • สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

วงเงินซื้อขั้นต่ำ

  • กำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำอยู่ที่ 1,000 บาท (1 หน่วย) และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ซื้อ
  • ต้องซื้อเพิ่มเป็นหน่วยทวีคูณของ 1,000 บาท เช่น 2,000 บาท 10,000 บาท 150,000 บาท เป็นต้น ไม่สามารถซื้อ 1,500 บาท หรือ 25,900 บาท ได้  

เปิดขายเมื่อไร ซื้อได้ที่ไหน ?

          พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง 2563 ครั้งที่ 1 แบ่งการขายออกเป็น 2 รอบ คือ

  • วันที่ 9 ธันวาคม 2562 (เวลา 08.30 น.) - 11 ธันวาคม 2562 (เวลา 15.00 น.) เปิดให้เฉพาะผู้ถือกรรมสิทธิ์พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง 2560 (SB19DA) ที่ครบกำหนดในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 สามารถจองซื้อได้ก่อนในจำนวนไม่เกินวงเงินที่เคยลงทุนไว้ ผ่านแอปพลิเคชัน BOND DIRECT และ Line @bonddirect โดยต้องชำระเงินภายในวันที่ 13-17 ธันวาคม 2562 ที่เคาน์เตอร์ธนาคารผู้จัดจำหน่าย 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย 
     
  • วันที่ 13 ธันวาคม 2562 (เวลา 08.30 น.) - 24 เมษายน 2563 (เวลา 15.00 น.) เปิดขายให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อได้ที่
      - ธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
      - แอปพลิเคชัน BOND DIRECT 

วันที่ครบกำหนดไถ่ถอน

  • พันธบัตรรุ่นอายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 13 ธันวาคม 2565  
  • พันธบัตรรุ่นอายุ 7 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 13 ธันวาคม 2569 

โอนกรรมสิทธิ์ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนได้หรือไม่ ?

          กรณีซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปี 2563 ครั้งที่ 1 สามารถโอนกรรมสิทธิ์ ขายพันธบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป โดยเป็นการโอนให้กับลูกค้ารายใหม่ หรือลูกค้ารายเดิมที่เคยซื้อพันธบัตรผ่านธนาคารเดียวกัน แต่จะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างธนาคารอื่นได้ 
พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง
ประเภททยอยชำระคืนเงินต้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ?

  • เป็นพันธบัตรที่มีอายุ 5 ปี ให้ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี
  • จัดทำในรูปแบบพันธบัตรทยอยชำระคืนเงินต้น ซึ่งผู้ถือพันธบัตรจะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ย (Amortized Bond) คืนเพื่อนำไปใช้จ่ายได้ ไม่ต้องรอจนครบ 5 ปี ถึงจะได้รับเงินคืน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการออมเงินระยะสั้นและได้รับเงินต้นคืนไว้ใช้จ่าย
         - ปีที่ 1 จะได้รับดอกเบี้ยทุก 6 เดือน 
         - ปีที่ 2-5 จะได้รับดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และคืนเงินต้นปีละ 25% (8 งวด งวดละเท่ากัน)
  • จ่ายดอกเบี้ยวันที่ 23 มิถุนายน และ 23 ธันวาคมของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนดไถ่ถอนโดยจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 23 มิถุนายน 2563

จ่ายคืนเงินต้นเมื่อไร ?

  • ทยอยจ่ายคืนเงินต้นงวดแรกเมื่อพันธบัตรอายุครบ 1 ปี 6 เดือน โดยโอนเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และบัญชีเงินฝากประจำ)
  • แบ่งจ่ายคืนเงินต้นเป็นจำนวนแปดงวดงวดละเท่า ๆ กัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2564
  • จ่ายคืนเงินต้นงวดสุดท้ายในวันครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรในวันที่ 23 ธันวาคม 2567
  • กรณีเปลี่ยนเป็นพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) การจ่ายคืนเงินต้นงวดสุดท้าย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะโอนเงินต้นเข้าบัญชีเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคืนใบพันธบัตร

พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ ใครซื้อได้บ้าง ?

          เปิดจำหน่ายเฉพาะบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • ซื้อวันที่ 23 –31 ธันวาคม 2562 อายุ 60 ปีขึ้นไป หมายถึงผู้ที่เกิดก่อนหรือภายในปี พ.ศ. 2502
  • ซื้อวันที่ 1 มกราคม–24 เมษายน 2563 อายุ 60 ปีขึ้นไป หมายถึงผู้ที่เกิดก่อนหรือภายในปี พ.ศ. 2503

วงเงินซื้อขั้นต่ำ

  • กำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำอยู่ที่ 1,000 บาท (1 หน่วย)
  • ซื้อได้สูงสุดรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท (2,000 หน่วย) ต่อ 1 ธนาคาร หรือผ่าน Bond Direct Application
  • ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ซื้อ
  • ต้องซื้อเพิ่มเป็นหน่วยทวีคูณของ 1,000 บาท เช่น 2,000 บาท 10,000 บาท 150,000 บาท เป็นต้น ไม่สามารถซื้อ 1,500 บาท หรือ 25,900 บาท ได้  

เปิดขายเมื่อไร ซื้อได้ที่ไหน ?

     แบ่งการขายออกเป็น 2 รอบ คือ
  • วันที่ 23 ธันวาคม 2562 เปิดขายผ่านแอปพลิเคชัน BOND DIRECT เท่านั้น
  • วันที่ 24 ธันวาคม 2562 - 24 เมษายน 2563 เปิดขายผ่านแอปพลิเคชัน BOND DIRECT และธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

โอนกรรมสิทธิ์ได้เมื่อไร ?

  • การโอนกรรมสิทธิ์การขายพันธบัตรก่อนวันที่ครบกำหนดไถ่ถอน สามารถทำรายการได้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
  • การโอนทางมรดก การแบ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการหย่า การล้มละลาย การชำระบัญชี การใช้เป็นหลักประกัน ทำได้หลังจากวันที่ทำรายการซื้อ 15 วันทำการ

กรณีผู้ซื้อเสียชีวิตก่อนครบกำหนด 5 ปี

          เมื่อครบกำหนด 5 ปี พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษจะตกทอดเป็นมรดกให้ลูกหลานของผู้ซื้อพันธบัตรต่อไป
วิธีซื้อพันธบัตรผ่านแอปพลิเคชัน BOND DIRECT

          1. ถ้าไม่มีบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย ต้องเปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงไทยก่อน เพราะต้องใช้บัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทยเพื่อลงทะเบียนซื้อพันธบัตร

          2. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน BOND DIRECT

คลิกดาวน์โหลดสำหรับ iOS

          3. ทำตามขั้นตอนจองซื้อที่ปรากฏในแอปฯ

          4. ชำระเงินค่าพันธบัตรผ่าน Mobile Banking ธนาคารกรุงไทย หรือเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย

วิธีซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านธนาคาร

          สามารถจองซื้อพันธบัตรได้ที่ธนาคารทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทย ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้ 

          1. เคาน์เตอร์ธนาคารทุกสาขา
          2. เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM)  
          3. ระบบ Internet Banking  
          4. ระบบ Mobile Application 

หมายเหตุ : 

  • กรณียังไม่เคยซื้อพันธบัตรมาก่อนและไม่มีสมุดเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย จะไม่สามารถซื้อพันธบัตรผ่านเครื่อง ATM / Internet Banking / Mobile Application ได้ ดังนั้นต้องไปติดต่อสาขาเพื่อเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และลงทะเบียนพันธบัตรก่อนจึงจะซื้อผ่านทั้ง 3 ช่องทางได้ 
     
  • หากเคยลงทะเบียนซื้อพันธบัตรมาก่อนหน้านี้ (มีสมุดพันธบัตรแล้ว) สามารถซื้อพันธบัตรผ่านเครื่อง ATM / Internet Banking / Mobile Application ได้เลย
     
  • กรณีซื้อพันธบัตรผ่านเครื่อง ATM หากผู้ซื้อทำบัตร ATM ใหม่ ธนาคารจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำบัตร ATM และค่าธรรมเนียมบัตร ATM ปีแรกให้แก่ผู้ซื้อ

ตรวจสอบวิธีซื้อพันธบัตรผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารได้ที่นี่

วิธีลงทะเบียนซื้อพันธบัตรออมทรัพย์
(กรณีซื้อครั้งแรก)

          หากเราไม่เคยซื้อพันธบัตรออมทรัพย์กับธนาคารมาก่อน จะต้องลงทะเบียนซื้อพันธบัตรและเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่สาขาธนาคาร โดยใช้หลักฐาน ดังนี้ 

          1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
          2. สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ของผู้ซื้อที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ในกรณีที่ไม่มีบัญชีเงินฝากผู้ซื้อต้องเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งต้องเป็นบัญชีของธนาคารที่ทำรายการซื้อเท่านั้น

พันธบัตรออมทรัพย์ 2563

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ภาพจาก Santibhavank P / Shutterstock

ตัวอย่างพันธบัตรออมทรัพย์

รวมคำถาม-คำตอบพันธบัตรออมทรัพย์ 2563

เมื่อซื้อแล้ว เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันไหน ?

          หากชำระค่าพันธบัตรด้วยเงินสด หรือหักบัญชีเงินฝากก่อนเวลา 15.00 น. ของวันทำการ ดอกเบี้ยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ซื้อเลย แต่หากชำระเงินหลังเวลา 15.00 น. ของวันทำการ หรือติดวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดของธนาคาร ดอกเบี้ยจะเริ่มนับในวันทำการถัดไป

          ดังนั้น กรณีที่ซื้อพันธบัตรหลายครั้ง หากวันที่ซื้อพันธบัตรต่างกัน การนับจำนวนวันเพื่อไปคำนวณดอกเบี้ยก็จะไม่เท่ากันด้วย ทำให้ได้รับดอกเบี้ยไม่เท่ากัน

พันธบัตรออมทรัพย์ 2563 เสียภาษีเท่าไร

          หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ต่อปี ทุกครั้งที่มีการจ่ายดอกเบี้ย 

ใช้พันธบัตรออมทรัพย์เป็นหลักประกันได้ไหม ?

          สามารถใช้พันธบัตรเป็นหลักประกันกับหน่วยงานราชการและองค์กรของรัฐ รวมถึงใช้เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินหรือบุคคลขึ้นได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับระเบียบหลักเกณฑ์ของหน่วยงานหรือบุคคลนั้น ๆ ด้วย โดยสามารถติดต่อธนาคารเพื่อขอถอนพันธบัตรจากระบบ Scripless ออกเป็นใบพันธบัตร (มีค่าธรรมเนียม) เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกัน

ขายพันธบัตรออมทรัพย์ ก่อนครบกำหนดได้ไหม

          ผู้ถือพันธบัตรสามารถขายคืนพันธบัตรออมทรัพย์ ก่อนครบกำหนดวันไถ่ถอนให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ แต่ราคาขายจะขึ้นอยู่กับราคาตลาด ณ วันที่ขาย ทั้งนี้ สามารถเช็กราคาพันธบัตรได้ที่ เว็บไซต์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย 

สรุปข้อมูลพันธบัตรออมทรัพย์ 2563
พันธบัตรออมทรัพย์ 2563

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 23 ธันวาคม 2562

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเฟซบุ๊ก Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย  

 
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พันธบัตรออมทรัพย์ 2563 ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ซื้อได้ที่ไหนบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 23 ธันวาคม 2562 เวลา 13:30:14 322,202 อ่าน
TOP
x close