สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จาก ธอส. เปลี่ยนบ้านเป็นเงินบำนาญ ชีวิตพร้อมสุขหลังเกษียณ

          ไม่ว่าใครก็คงอยากมีชีวิตวัยเกษียณที่สุขสบาย มีรายได้เพียงพอใช้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงจริง ๆ หลายคนกลับมีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ หรืออาจไม่มีบำเหน็จบำนาญใด ๆ เพราะไม่ได้วางแผนการออมไว้แต่เนิ่น ๆ พอรู้ตัวอีกทีก็สายไปแล้ว
          แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีทางเลือกสร้างเงินบำนาญอีกวิธี อย่าง “สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” หรือ Reverse Mortgage เพื่อให้ผู้สูงอายุนำบ้านของตัวเองมาเปลี่ยนเป็นเงินบำนาญไว้ใช้ยามเกษียณทุก ๆ เดือน โดยที่ยังสามารถอาศัยในบ้านหลังนั้นได้เหมือนเดิมด้วย อ่านดูแล้วชักน่าสนใจ เราลองมารู้จัก “สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ กันหน่อยดีกว่า
สินเชื่อบ้าน ธอส.

มารู้จักสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ของ ธอส.

          โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage (RM) ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก็คือ การจำนองแบบย้อนกลับ ด้วยการนำบ้านหรือคอนโดมิเนียมของเราที่ปลอดภาระหนี้สินไปจำนองไว้กับธนาคาร แลกกับการที่ธนาคารจะจ่ายเงินกลับมาให้เราทุกเดือนจนครบสัญญา เหมือนกับเป็นเงินบำนาญ ให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มในการดำรงชีพ โดยที่ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้จนกว่าจะเสียชีวิต และเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว หากไม่มีบุตรหลานมาไถ่ถอน บ้านที่จำนองไว้ถึงจะตกเป็นของธนาคาร พูดง่าย ๆ ก็เหมือนการที่เราขายบ้านให้ธนาคารผ่อนซื้อล่วงหน้านั่นเอง

Reverse Mortgage ต่างกับสินเชื่อบ้านปกติยังไง

          โดยทั่วไปแล้วสินเชื่อบ้าน คือการนำบ้านไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ แล้วเราก็ผ่อนจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธนาคาร กลับกันเมื่อเป็น Reverse Mortgage ธนาคารจะเป็นผู้ผ่อนซื้อบ้านกับเราแทน โดยเราสามารถเปรียบเทียบข้อแตกต่างชัด ๆ ได้ตามนี้
สินเชื่อบ้าน ธอส.

 ใครขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ธอส. ได้บ้าง ?

          สำหรับผู้ที่สนใจขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ของ ธอส. เพื่อสร้างเงินบำนาญยามเกษียณ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

          • เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 60 - 80 ปี
          • มีกรรมสิทธิ์ (เป็นเจ้าของ) ที่อยู่อาศัยโดยปลอดภาระจำนอง โดยระยะเริ่มต้นของโครงการหลักประกันต้องตั้งอยู่ในเขต กรุงเทพฯ และปริมณฑล
          • ต้องไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
          • กู้ร่วมได้เฉพาะกับคู่สมรสตามกฎหมาย หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันที่มีกรรมสิทธิ์ในหลักประกันเดียวกัน
          • ผู้กู้ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านตลอดระยะเวลาที่ได้รับเงินกู้
          • ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีรายได้

วงเงินกู้สูงสุดและอัตราดอกเบี้ย

          ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้วงเงินกู้สูงสุดต่อหลักประกันไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท ระยะเวลากู้ตั้งแต่ 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 25 ปี (อายุผู้กู้รวมกับระยะเวลาขอกู้ต้องไม่เกิน 85 ปี) คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 6.25% ต่อปีตลอดอายุสัญญา

วิธีขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ธอส.

          สำหรับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ธอส. มีขั้นตอนตามนี้

          1. ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) นำที่อยู่อาศัยของตนเอง ยื่นขอสินเชื่อกับ ธอส.

          2. หากพิจารณาสินเชื่อผ่าน ธนาคารจะจ่ายเงินรายเดือนเป็นบำนาญให้ผู้สูงอายุ

          3. เมื่อครบกำหนดสัญญา

          - หากผู้กู้เสียชีวิตก่อน : มี 2 ทางเลือก คือ ทายาทชำระหนี้ไถ่ถอนบ้านคืน หรือ ให้ธนาคารขายทอดตลาด ซึ่งถ้าได้กำไรจะคืนเงินส่วนต่างให้ทายาท แต่ถ้าขาดทุนธนาคารจะรับผิดชอบส่วนต่างเอง

          - หากผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต : สามารถกู้เพิ่ม หรือ ไม่กู้เพิ่มแล้วชำระหนี้เพื่อปิดบัญชีก็ได้ และแม้จะครบสัญญาแล้ว ถึงจะไม่ได้กู้เพิ่ม หรือยังไม่ได้ปิดบัญชี เราก็ยังมีสิทธิ์อาศัยในบ้านได้ต่อไปจนกว่าเสียชีวิต
 

สินเชื่อบ้าน ธอส.

จะได้รับเงินรายเดือนเท่าไร ?

          ผู้ขอสินเชื่อแต่ละรายจะได้รับเงินรายเดือนไม่เท่ากัน ซึ่งธนาคารจะพิจารณาจำนวนเงินที่จ่ายให้จาก 3 ปัจจัยต่อไปนี้

          • อายุของผู้กู้ : ยิ่งอายุมาก ยิ่งได้เงินต่อเดือนมาก
          • ระยะเวลากู้ : ยิ่งระยะเวลาสัญญาสั้น ยิ่งได้เงินต่อเดือนมาก
          • ราคาประเมินหลักประกัน : ยิ่งมาก ยิ่งได้รับเงินต่อเดือนมาก

ตัวอย่างเงินรายเดือนที่จะได้รับตามช่วงอายุและระยะเวลากู้

สินเชื่อบ้าน ธอส.

ค่าธรรมเนียมขอสินเชื่อ

          สำหรับผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ วันนี้ ฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ (จำนวน 0.1% ของวงเงินกู้) และค่าประเมินราคาหลักประกัน

          นอกจากนี้ ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำนวน 1,000 บาทต่อราย ค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง จำนวน 1% ของวงเงินจำนอง และค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 50% 

เอกสารที่ใช้ขอสินเชื่อ

          ถ้าสนใจขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เตรียมเอกสารให้พร้อมแล้วยื่นขอสินเชื่อได้เลย โดยใช้เอกสารดังนี้

          • บัตรประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
          • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
          • สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณบัตร (ถ้ามี)
          • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
          • สำเนาโฉนดที่ดิน / น.ส.3ก. / หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อช.2) ทุกหน้า  
          • หลักฐานการเป็นเจ้าของบ้าน เช่น สำเนาใบคำขอ เลขหมายบ้าน สำเนาสัญญาซื้อขายฉบับสำนักงานที่ดิน (ทด.13 หรือ อ.ช.23)
          • ทะเบียนบ้านหลักประกันที่มีชื่อผู้กู้หลักเป็น "เจ้าบ้าน" หรือ "ผู้อาศัย"
          • อื่น ๆ (ถ้ามี)
          สินเชื่อ Reverse Mortgage ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ให้ผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีสวัสดิการบำนาญ หรือไม่มีเงินออมเพียงพอยามเกษียณ สามารถนำที่อยู่อาศัยของตัวเองมาเปลี่ยนเป็นเงินรายเดือน สำหรับใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข หากใครสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพิ่มได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทุกสาขาทั่วประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Inbox : m.me/GHBank
ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 0-2645-9000
www.ghbank.co.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จาก ธอส. เปลี่ยนบ้านเป็นเงินบำนาญ ชีวิตพร้อมสุขหลังเกษียณ อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2562 เวลา 19:48:30 57,125 อ่าน
TOP
x close