รู้ไหมว่า CP มีธุรกิจอะไรในมือบ้าง นอกจากธุรกิจอาหาร ค้าปลีก การสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว อาณาจักร CP ยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย ลองมาสำรวจความยิ่งใหญ่กัน
หลังจาก "เครือเจริญโภคภัณฑ์" หรือ ซีพี ชนะการประมูล ซื้อกิจการ "เทสโก้ โลตัส" ในประเทศไทยและมาเลเซียได้สำเร็จ ด้วยมูลค่ากว่า 3.38 แสนล้านบาท โดยเป็นการเข้าไปซื้อกิจการทางอ้อม ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุนภายใต้ชื่อบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมี CP Group และ CPALL ถือหุ้นฝ่ายละ 40% เท่ากัน ขณะที่อีก 20% เป็นของ ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CPF เท่ากับว่า เครือซีพี เป็นเจ้าของกิจการเทสโก้ โลตัส ประเทศไทยและมาเลเซียทั้งหมด ส่งผลให้เครือซีพีครองความเป็นหนึ่งในวงการค้าปลีกไทยในทันที
และในปลายปี 2564 ดีลยักษ์ใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ TRUE บริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมในเครือซีพี กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ได้ประกาศควบรวมกิจการ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะส่งผลให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม กลายผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออันดับ 1 ของประเทศ แทน AIS ที่ครองเจ้าตลาดมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม นอกจากวงการค้าปลีก และเครือข่ายโทรคมนาคมที่เรารู้จักกันดีแล้ว ธุรกิจในมือของซีพียังมีอีกมากมาย และยิ่งใหญ่กว่าที่หลายคนคิดอยู่มาก ลองไปดูกันว่า อาณาจักร CP ในตอนนี้มีกิจการอะไรอยู่ในมือบ้าง
ย้อนกลับเมื่อปี 2464 "เจี่ย เอ็กชอ" บิดาของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ได้เดินทางจากเมืองแต้จิ๋ว ประเทศจีน เข้ามาตั้งรกรากทำธุรกิจในไทย เปิดร้านชื่อ "เจียไต๋จึง" สำหรับขายเมล็ดพันธุ์นำเข้าจากจีนและฮ่องกง ก่อนที่ในปี 2496 จะขยายกิจการ เปลี่ยนชื่อเป็น "เจริญโภคภัณฑ์" หรือ CP เพื่อดำเนินธุรกิจสินค้าทางการเกษตรแบบครบวงจร
ธนินท์ เจียรวนนท์ เริ่มเข้ามามีบทบาทบริหารธุรกิจต่อจากครอบครัว ประมาณช่วงปี 2505 โดยรับหน้าที่ดูแลในส่วนธุรกิจอาหารสัตว์ ก่อนที่จะขึ้นมานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือ CP ในปี 2512
นับตั้งแต่นั้นมาเจ้าสัวธนินท์ ก็ได้กลายเป็นผู้นำคนสำคัญและสัญลักษณ์ของ CP มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความสามารถที่พาบริษัทประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และเติบโตไปยังธุรกิจต่าง ๆ อีกมากมาย
กระทั่งเมื่อเดือนเมษายน 2562 เจ้าสัวธนินท์ ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และยังลาออกจากประธานกรรมการและกรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CPALL ในเดือนถัดมา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีภารกิจมากขึ้น จึงไม่มีเวลาปฏิบัติงานในบริษัทได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ จากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม 2564 เจ้าสัวธนินท์ยังคงครองแชมป์มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย (อันดับ 143 ของโลก) ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 14,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.79 แสนล้านบาท ขณะที่ตระกูลเจียรวนนท์ก็ยังรั้งตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 9.48 แสนล้านบาท
เปิดอาณาจักรธุรกิจในมือ CP
ปัจจุบันกลุ่ม CP มีบริษัทหลักในเครือมากกว่า 30 บริษัทด้วยกัน โดยแบ่งสายธุรกิจหลักออกเป็น 8 กลุ่ม ครอบคลุม 14 กลุ่มธุรกิจย่อย ปัจจุบันมีการลงทุนอยู่ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ดังนี้
1. ธุรกิจการเกษตรและอาหาร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF
ผู้นำธุรกิจอาหาร สินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน มีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก เช่น อาหารสดและแปรรูปแบรนด์ CP และ BKP, ร้านไก่ย่างห้าดาว, CHESTER’S GRILL, นม MEIJI และร้าน CP Fresh Mart เป็นต้น
ผลประกอบการปี 2563 CPF มีรายได้ 595,011.10 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 26,022.39 ล้านบาท
บริษัท C.P. CHINA
ดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ภายใต้ชื่อที่คนจีนรู้จักกันดีคือ "เจิ้งต้า"
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เอนเตอร์ไพรซ์ (ไต้หวัน) จำกัด
ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารเสริมและวัคซีนสำหรับสัตว์ จัดตั้งในประเทศไต้หวัน
C.P. POKPHAND CO., LTD.
ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ในประเทศจีนและเวียดนาม
บริษัท เจียไต๋ จำกัด
จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์อารักขาพืช โดยแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง เช่น เมล็ดพันธ์ุตราโฮมการ์เด้น ปุ๋ยตรากระต่าย ปุ๋ยตราช่อฟ้า เป็นต้น
บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด
เจ้าของแบรนด์ข้าวตราฉัตร และสินค้าอาหารแปรรูปมากมาย อาทิ ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง ซึ่งในปี 2560 ทำรายได้รวม 15,348 ล้านบาท ขาดทุน 66.90 ล้านบาท
CHAROEN POKPHAND PRODUCE CO., LTD
C.P. POKPHAND AGRICULTURE CO., LTD
พัฒนางานวิจัยทางวิชาการเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร และสรรค์สร้างนวัตกรรมการเกษตรเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด
ให้บริการด้านวิศวกรรมแก่โรงงานผลิต ในธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรมและอาหาร
บริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป
ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ อาทิ อาหารสุนัขยี่ห้อ Smartheart อาหารแมว ME-O
บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)
ทำธุรกิจประมง บริษัทผู้ผลิตปลาป่น และอาหารสัตว์
2. ธุรกิจค้าปลีก
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven, บริการ Counter Service, เป็นผู้ผลิตอาหารแช่แข็ง, ร้านกาแฟสด รวมถึงเป็นเจ้าของสถาบันการศึกษาในเครือปัญญาภิวัฒน์
ล่าสุดยังมีกิจการ Lotus’s ในไทยและมาเลเซีย ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เพิ่งเทกโอเว่อร์มาเมื่อปี 2563 ซึ่งทำให้ซีพีมีไฮเปอร์มาร์เกตและห้างสรรพสินค้าไว้แข่งขันกับบิ๊กซี-เซ็นทรัล โดยปัจจุบันโลตัสในประเทศไทย มีกว่า 2,100 สาขา เมื่อรวมกับร้านสะดวกซื้อ คือ 7-Eleven ที่มีกว่า 10,000 สาขา และห้างค้าส่ง คือ แม็คโคร 130 สาขา ก็จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกของซีพีครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม และมีอำนาจต่อรองสูงที่สุด นอกจากนี้การประมูลได้เทสโก้ โลตัส ในมาเลเซีย จะทำให้ซีพีมีห้างค้าปลีกในต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้ขยายกิจการในประเทศจีนมาแล้วก่อนหน้านี้
ภาพจาก Quality Stock Arts / Shutterstock
สำหรับผลประกอบการปี 2563 CPALL มีรายได้ 546,364.02 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 16,102.42 ล้านบาท
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO
เจ้าของธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่ง แบรนด์แม็คโคร สยามโฟรเซ่น และสยามฟูด เซอร์วิส ซึ่ง ซีพี เทกโอเว่อร์มาเมื่อปี 2556 ด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท โดยปี 2563 สยามแม็คโคร มีรายได้ 218,760.19 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,562.67 ล้านบาท
ภาพจาก cpall, siammakro
C.P. LOTUS CORP
ผู้นำการให้บริการห้างค้าปลีกในประเทศจีน และช้อปปิ้งมอลล์ในนาม "Lotus"
3. ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ True Move บริการอินเทอร์เน็ต True Online สถานีโทรทัศน์ True Vision ทีวีดิจิทัล True4U รวมถึงร้านกาแฟชื่อดัง True Coffee
ทั้งนี้ ผลประกอบการปี 2563 กลุ่ม TRUE มีรายได้ 143,338.54 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,048.40 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการจนถึงไตรมาส 3 ของปี 2564 มีรายได้ 103,177.24 ล้านบาท
และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 TRUE และ DTAC ได้ประกาศควบรวมกิจการกัน โดยตั้งบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด (ผู้ถือหุ้น TRUE) และ Telenor Asia (ผู้ถือหุ้น DTAC) ขึ้นมาเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ TRUE และ DTAC เพื่อให้มาอยู่บริษัทเดียวกัน
ทั้งนี้หากทั้ง 2 บริษัทควบรวมกันได้สำเร็จ จะทำให้ TRUE และ DTAC มีผู้ใช้งานรวมกันกว่า 51 ล้านเลขหมาย และมีรายได้รวมกว่า 163,032.36 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2564) กลายเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออันดับ 1 ของไทย
4. อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล
บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ASCEND
ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินและอีคอมเมิร์ซ ภายใต้แบรนด์ TrueMoney, iTrueMart, WeLoveShopping เป็นต้น
บริษัท พันธวณิช จำกัด หรือ PANTAVANIJ
ที่ปรึกษาด้านระบบจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ระบบข้อมูลสินค้าออนไลน์ จัดซื้อบนระบบดิจิทัล และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก
5. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPLAND
บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม รวมถึงศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น
SUPER BRAND MALL
บริษัทพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินกิจการในประเทศจีน มีห้างสรรพสินค้าระดับ 5 ดาว คือ Super Brand Mall ใจกลางเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ ลั่วหยาง เหอเฝย เย่วฉิง และห้างสรรพสินค้าระดับเล็ก คือ Touch Mall Lifestyle Mall กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่และภูมิภาค
6. ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป
E.C.I. GROUP
บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ประกอบธุรกิจในประเทศจีน
ECI-METRO
เป็นการร่วมทุนกันของ ECI Group กับบริษัท เมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกลหนักสำหรับอุตสาหกรรม และเครื่องยนต์ของบริษัท Caterpillar จำกัด ในชื่อแบรนด์ CAT ในประเทศจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
MG SALES (THAILAND) Co., Ltd.
บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ MG ในประเทศไทย ปัจจุบัน เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 มีโชว์รูม 125 แห่งทั่วประเทศ
CP FOTON SALES Co., Ltd.
ผลิต จำหน่าย และให้บริการหลังการขาย รถเพื่อการพาณิชย์ครอบคลุมทุกรูปแบบธุรกิจ ตั้งแต่รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลาง รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถบัสโดยสาร ภายใต้ชื่อแบรนด์ ซีพี โฟตอน (CP FOTON)
CPM Motor Myanmar Co.,Ltd
ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ CPM ในประเทศพม่า ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่าย 9 แห่ง
DENI
บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีโรงงานใหญ่อยู่ที่เมืองจ้านเจียง ประเทศจีน
Luoyang Northern Ek-chor
ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ DAYANG ในประเทศจีน
CPPC Public Co., Ltd.
กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก PVC บรรจุภัณฑ์อาหาร รวมทั้งธุรกิจอาหารสัตว์
7. ธุรกิจเวชภัณฑ์
Sino Biopharmaceutical Limited
กลุ่มบริษัท ไซโนไบโอฟาร์มาซูติคอล จำกัด เป็นองค์กรด้านเวชภัณฑ์และนวัตกรรมของประเทศจีน ประกอบด้วยศูนย์พัฒนาและวิจัย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาประเภทต่าง ๆ เคมีภัณฑ์ ยาจีนที่ทันสมัย และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่น ๆ มีความเชี่ยวชาญด้านยารักษาโรคตับอักเสบ โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคกระดูกและข้อ เป็นต้น โดยร่วมมือกับสถาบันเภสัชกรรมชั้นนำทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจหลักของกลุ่มให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาพมากขึ้น
8. การเงินและการธนาคาร
ZhengXin Bank Company Limited
สถาบันการเงินในประเทศจีน ที่เริ่มบริการตั้งแต่ปี 2535 สำหรับรับฝากเงินจากประชาชน และปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
ITOCHU CORPORATION
ซีพี กับบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้แลกหุ้นกันเมื่อปี 2557 โดย ซีพี ถือหุ้นอิโตชู มูลค่า 32,000 ล้านบาท ขณะที่อิโตชู เข้าถือหุ้นบริษัท ซี.พี.โภคภัณฑ์ หรือ CPP ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง มูลค่า 27,200 ล้านบาท เพื่อร่วมกันขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนไปทั่วโลก การแลกหุ้นครั้งนี้ทำให้ซีพีกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มบริษัทอิโตชู บริษัทการค้าชั้นนำ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น
Ping An Insurance Company China Limited
ในปี 2556 เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ทุ่มเงินกว่า 282,000 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น Ping An Insurance บริษัทประกันภัยในประเทศจีน ที่ปัจจุบันพัฒนาเป็นผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร ทั้งประกันภัย ธนาคาร การลงทุน และหลักทรัพย์
CITIC GROUP CORP
เมื่อปี 2558 เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ITOSHU CORP ร่วมกันลงทุนเข้าถือหุ้นจำนวน 20% ของกลุ่มซิติก ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของรัฐบาลจีนที่ใหญ่ที่สุด ประกอบธุรกิจหลายด้าน ทั้งให้บริการทางการเงิน การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ในจีนและต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสพัฒนาธุรกิจในตลาดจีนและตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้น
นอกจากธุรกิจมูลค่ามหาศาลในปัจจุบันแล้ว CP ยังมีโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ อีก เช่น
โครงการเมืองใหม่แปดริ้ว Smart City
เป็นแผนลงทุนครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณหลายแสนล้านบาท บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยวางผังเมืองแบบ "Smart City" มีระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน ทั้งที่พักอาศัย, โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย และศูนย์การค้า
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
กลุ่มซีพี ได้เซ็นสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 สำหรับเป็นผู้ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดแผนก่อสร้างโครงการร่วมกับ รฟท. และรอส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ คาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2566
โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย
ในช่วงต้นปี 2563 ที่โรค COVID-19 (โควิด 19) แพร่ระบาด แต่หน้ากากอนามัยกลับมีไม่เพียงพอ ซีพีจึงใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ภายใต้มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และผลิตโดยบริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด จุดประสงค์เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสามารถผลิตได้ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน และได้แจกจ่ายให้โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรการกุศลไปแล้วกว่า 1,000 แห่ง
ธุรกิจในเครือ CP ทั้งหมด เดิมก็มีมูลค่ามหาศาลอยู่แล้ว เมื่อรวมกับการได้ โลตัส มาอยู่ในมือ และควบรวมกับ DTAC อาจกล่าวได้ว่า ตอนนี้ ซีพี คือ กลุ่มทุนที่มีธุรกิจครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมและยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564
ขอบคุณข้อมูลจาก
เครือเจริญโภคภัณฑ์, กรุงเทพธุรกิจ, Forbes, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, settrade.com