คู่มือ "เตรียมเศรษฐีเงินออม" ฉบับนักเรียน-นักศึกษา

ออมเงิน


          เมื่อย้อนกลับไปสมัยเด็ก ๆ ตั้งแต่แรกเริ่มเข้าโรงเรียน คำพูดคำสอนที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือ ครูที่โรงเรียน มักพูดกับเราเสมอว่า "อย่าใช้เงินฟุ่มเฟือย รู้จักเก็บ รู้จักออมบ้าง" บางคนก็ทำ บางคนก็ไม่ทำ
          ฉะนั้นการออมเงินยิ่งทำได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่ต้องการเริ่มการเก็บออมเงินเพื่อไว้ใช้ในอนาคต ดังนั้นถ้าเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ โอกาสเป็นเศรษฐีในอนาคตย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้เงินอยู่กับเรา เพื่อที่จะได้มีเงินไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี ลองมาดูเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้ออมเงินได้ง่าย ๆ ตามนี้กันค่ะ

1. แบ่งเก็บ แบ่งใช้
   
          พอได้ค่าขนมมาจากผู้ปกครอง เดือนละ 8,000 บาท ให้เราตั้งเป้าไว้เลยว่าจะใช้เงินไม่เกินวันละกี่บาท แล้วแยกเป็นซอง ๆ ไว้ ลองคิดง่าย ๆ ก่อน 8,000 หาร 30 วัน ตกวันละ 266 บาท จะได้ 7,980 บาท มีส่วนต่างที่ไม่ลงวัน 20 บาท เอ๊ะ!! น่าจะเอา 20 บาท ลงวันไหนดีน้า... ลงวันพิเศษหนึ่งวันดีไหม (วันฉลองหมูกระทะ หรือปาร์ตี้วันเกิดเพื่อน พอพูดแล้วก็แอบยิ้มมุมปากกันเลย เดี่ยวค่อยคิดว่าเอาไปทำอะไร)

          ลองคิดเล่น ๆ แต่เอาจริง ๆ นะ ใช้วันละ 200 บาท เหลือเก็บวันละ 66 บาท หนึ่งเดือนจะมีเงินเก็บ 1,980 บาท ปีหนึ่งก็จะมีเงินเก็บ 23,760 บาท โอ้โห้...ใครเป็นเศรษฐี ฉันละสิ ฉันละสิ...

2. เก็บเศษเหรียญ

ออมเงิน

          สายออมเหรียญมีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำมาไม่รู้เท่าไร แค่เก็บเหรียญที่ได้มาทั้งหมดใส่กระปุกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญสลึง เหรียญบาท ได้ทอนมาเท่าไรก็เก็บไว้ก่อน เชื่อเถอะว่าพลังของเศษเหรียญจะทำเงินเก็บให้เราได้อย่างน่าทึ่งเชียวล่ะ

3. เก็บแบงก์ 50

          เทรนด์ยอดฮิตแบงก์ 50 ที่หลายคนมักชอบทำกันหรือคนรอบๆ ตัวทำกันเยอะมาก สำหรับการเก็บสะสมแบงค์ 50 บาท ที่หลาย ๆ คนมักจะคิดว่าเป็นแบงก์ที่หายาก และผลิตน้อย พอได้รับเงินทอนเป็นแบงก์ 50 ก็มักจะแอบซ่อนไว้ แล้วตั้งใจว่า ฉันจะไม่ใช้แบงก์ 50 ลองมองกลับกัน เป็นแรงผลักดันให้เราได้เก็บเงิน ออมเงินไปในตัวกันแบบไม่รู้ตัวกันเชียวคุณ

4. เก็บเงินตามวันที่

ออมเงิน

          เทคนิคการเก็บเงินตามวันที่ แต่ละเดือนมีอยู่ไม่เท่ากัน บางเดือนมี 30 วัน บางเดือน 31 วัน ก็คงได้ออมก็เยอะเลยเรา เริ่มออมกันตั้งแต่ต้นปี วันที่ 1 ก็เก็บ 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท ไปเรื่อย ๆ จนวันที่ 31 ก็เก็บ 31 บาท ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบปี ครบปีลองมาแอบดูกันน้า...

5. เก็บเงินตามเลขท้ายของจำนวนเงินที่ใช้ไป

          ถ้าปกติทำรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวันอยู่แล้ว ลองแบ่งเก็บเงินตามเลขท้ายของยอดที่ใช้จ่ายไปในแต่ละวันดูสิคะ เช่น วันนี้ใช้เงินไป 299 บาท ก็แบ่งเก็บเงิน 9 บาท หรือ 99 บาท เป็นต้น

6. ตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเงินเท่าไร

 

ออมเงิน

          สำหรับคนที่มีเป้าหมายไว้พุ่งชน ลองตั้งเป้าหมายไว้บ้างว่าอยากมีเงินเก็บปีละเท่าไร แล้วก็จัดการหารจำนวนเงินที่อยากเก็บกับจำนวนวันตลอดทั้งปี เช่น อยากมีเงินเก็บปีละ 10,000 ก็หารด้วย 365 เราก็จะรู้ว่าต้องเก็บเงินวันละ 28 บาท โดยประมาณ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเก็บเงินให้ได้สัปดาห์ละ 193 บาท

7. แบ่งออมจากเงินพิเศษ

          หากทำงานพิเศษ หรือขายของออนไลน์ หรือทำอะไรก็ตามที่ได้เงินนอกเหนือจากค่าขนมประจำวัน ลองแบ่งเงิน 10-20% จากเงินที่ได้มาออมเลยทันที แล้วมาดูกันว่าสิ้นปีจะมีเงินเก็บเท่าไร

8. เก็บแบงก์ที่ลงท้ายด้วยเลขที่เราชอบ

ออมเงิน

          อีกหนึ่งวิธีออมเงินง่าย ๆ ก็คือลองเลือกเลขที่ชอบ เช่น เกิดวันที่ 1 ก็เลือกเก็บแบงก์ที่ลงท้ายด้วยเลข 1 เอาไว้ เจอเมื่อไรก็แยกไว้หยอดกระปุก โดยอาจจะตั้งเป้าว่าเป็นแบงก์ 100 แบงก์ 20 หรือแบงก์ 50 ก็แล้วแต่สะดวกเลย

9. เก็บเงินตามราคาอาหารกลางวัน

          มื้อกลางวันกินหมดไปกี่บาท ก็ให้ออมเงินเท่าจำนวนนั้นในแต่ละวัน วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้มีเงินเก็บแล้ว ยังช่วยให้เราได้ทบทวนด้วยนะคะว่าในแต่ละวันเราหมดเงินไปกับอาหารประเภทไหนบ้าง เชื่อเถอะว่านอกจากจะช่วยให้มีเงินเก็บแล้ว อาจทำให้คุณรู้สึกอยากประหยัดเงินมากขึ้นอีกด้วยนะ

          ลองเลือกวิธีที่น้อง ๆ คิดว่าตัวเองทำได้ไม่ลำบาก แล้วเริ่มลงมือออมตั้งแต่วันนี้กันดู รับรองว่าเก็บเงินได้แน่นอน แต่ถ้ากลัวว่าเก็บเงินไว้กับตัวเองแล้วจะเผลอไปใช้จนไม่เหลือเก็บ ก็ควรนำเงินไปฝากประจำกับธนาคาร เพื่อรับดอกเบี้ย หรือสมัครสมาชิกเพื่อออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยส่งเงินสะสมขั้นต่ำ 50 บาท/ครั้ง/เดือน ปีหนึ่งไม่เกิน 13,200 บาท/ปี ก็จะได้รับเงินสมทบสูงสุด 1,200 บาทต่อปี ยิ่งออมตั้งแต่อายุยังน้อยแบบนี้ใครจะพลาดกันละคุณ

          และที่พิเศษของ กอช. คือเป็นเงินออม ที่ได้รับคืนเมื่ออายุ 60 ปี เป็นรายเดือน เหมือนมีเงินเดือนใช้ทุก ๆ เดือน แบบไม่ต้องกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หลังไม่มีงานทำ อย่างน้อย ๆ ขั้นต่ำได้รับแน่ ๆ เลย 600 บาท / เดือน เงินเบี้ยคนชราหรือผู้สูงอายุอีก 600 บาท แบบนี้ออมก่อนก็มีเงินรายเดือนที่เยอะกว่า...นักเรียน นักศึกษาแบบเราใครจะพลาดออมล่ะเธอ 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คู่มือ "เตรียมเศรษฐีเงินออม" ฉบับนักเรียน-นักศึกษา โพสต์เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13:37:37 3,364 อ่าน
TOP
x close