x close

ซีพี ส่อคว้าโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินเฟส 2 ต่อ โดยไม่ต้องประมูล

          รฟม. ส่อให้ ซีพี เหมางานไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินเฟส 2 ต่อเนื่องจากเฟส 1 พร้อมสั่งชะลอแผน "ไฮสปีดกรุงเทพฯ-หัวหิน" ระยะทางไม่สอดคล้องต้นทุน หวั่นเอกชนไม่สนใจ เล็งพัฒนาเส้นทางสายยาวกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี แทน
โครงการรถไฟความเร็วสูง
ภาพจาก ไทยโพสต์

          วันที่ 21 มกราคม 2562 ไทยโพสต์ รายงานว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ระบุในข้อเสนอการว่าจ้างให้บริษัทเอกชนที่ชนะประมูลโครงการเดินรถในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน อีอีซี เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา (กลุ่มซีพี) เข้ามาเดินรถในเฟส 2 ช่วงอู่ตะเภา-ตราด ระยะทาง 300-400 กิโลเมตร วงเงินลงทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาทด้วย โดยไม่ต้องเปิดประมูล เพื่อความสะดวกสบายของประชาชน หรืออาจมีการจ้าง เอกชนรายเดิมเดินรถเหมือนกรณีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

          ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เฟส 2 ซึ่งปัจจุบันถือว่าการว่าจ้างที่ปรึกษา เข้ามาดูภาพรวมของโครงการเฟส 2 ล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากขั้นตอนจัดซื้อที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายใหม่และเจ้าหน้าที่ขาดประสบการณ์ ดังนั้น รฟท. จึงตั้งเป้าหมายลงนามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวให้ได้ภายในเดือนนี้ หรือกุมภาพันธ์ 2562

          แหล่งข่าวยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 209 กม. วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้ รฟท. ได้สั่งชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากพบว่าระยะทางไม่คุ้มค่าในการลงทุน เกรงว่าเอกชนจะไม่สนใจโครงการ จึงอาจมีการปรับเปลี่ยนเป็นงานพัฒนาเส้นทางสายยาวช่วงกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ ธานี ระยะทาง 635 กม. แทน ซึ่งจะมีวงเงินลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท โดยอยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณจ้างเอกชนเข้ามาศึกษา คาดว่าจะได้ตัวภายในปีนี้ และจะดำเนินการศึกษาในปี 2563 ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

          อย่างไรก็ตาม เส้นทางดังกล่าวถือว่าเป็นรถไฟไฮสปีดสายยาว ใช้วงเงินลงทุนเยอะ จึงไม่แน่ใจว่าฝ่ายนโยบายในอนาคตจะยังเดินหน้ารถไฟไฮสปีดสายใต้ต่อไปหรือไม่ และหากจะลดเส้นทางเหลือช่วงกรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์ หรือกรุงเทพฯ-ชุมพร ก็ยังคงไม่สะท้อนความคุ้มค่าเท่ากับการจบสถานีสุดท้ายที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพราะถือเป็นประตูการท่องเที่ยวภาคใต้

          แหล่งข่าวจาก รฟท. กล่าวว่า ได้มีการเลื่อนงานประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ณ กรุง ปักกิ่ง จากเดิมวันที่ 25 มกราคม นี้ ไปเป็นช่วงปลายเดือนหน้า สำหรับความคืบหน้าสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 4 หมื่นล้านบาทนั้น คืบหน้าไปได้เยอะแล้ว ซึ่งทางฝ่ายจีนได้ทยอยส่งรายละเอียด การถอดแบบและมูลค่าของสัญญา (BOQ) และตัวเลขค่าใช้จ่ายมาแล้ว

          เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ฝ่ายไทยศึกษาเกณฑ์ราคากลางมา จึงคาดว่าไม่น่ามีปัญหา และมีความพร้อมลงนามสัญญาภายในการประชุมครั้งหน้าแน่นอน เนื่องจากต้องรีบดำเนินการเรื่องสัญญาให้จบ เพราะรถใช้เวลาผลิตนานถึง 6 ปี ประกอบกับต้องทยอยนำเข้ามาประกอบทีละชิ้นเพื่อให้ทันกับการเปิดเดินรถในปี 2565-2566

          นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้สั่งให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ลดลง นักลงทุนภาคเอกชนมีการชะลอการลงทุน เนื่องจากรอความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซีพี ส่อคว้าโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินเฟส 2 ต่อ โดยไม่ต้องประมูล โพสต์เมื่อ 21 มกราคม 2562 เวลา 10:51:37 20,429 อ่าน
TOP