x close

ผ่าอาณาจักรธุรกิจแสนล้าน เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา มหาเศรษฐีไทย เจ้าของคิง เพาเวอร์

          เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา แห่ง คิง เพาเวอร์ มีธุรกิจอะไรบ้าง และมีสินทรัพย์แค่ไหน ฟอร์บส์ ถึงยกให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 5 ของประเทศ
          เป็นข่าวช็อกที่สร้างความโศกเศร้าไปทั่วโลก เมื่อในวันที่ 28 ตุลาคม 2561 เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่ข้างสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย หนึ่งในนั้นก็คือ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท "คิง เพาเวอร์" และประธานสโมสรทีม เลสเตอร์ ซิตี้ มหาเศรษฐีคนดังของประเทศไทย และเป็นเจ้าของธุรกิจมากมายที่มีมูลค่ารวมนับแสนล้านบาท 
เจ้าสัววิชัย

ภาพจาก ทวิตเตอร์ @SpursOfficial

ประวัติการทำงานและขุมธุรกิจของเจ้าสัววิชัย

          วิชัย ศรีวัฒนประภา (นามสกุลเดิม รักศรีอักษร) นักธุรกิจชาวไทย วัย 60 ปี มีผลงานการบริหารธุรกิจมามากมาย และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกิจการของตนเองและบริหารร่วม อาทิ

         * ปี 2523-2537 กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีอักษร (1980) จำกัด
         * ปี 2527-2540 กรรมการบริหาร บริษัท ไทยนิชิกาวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
         * ปี 2532-2533 ผู้จัดการทั่วไป ดิวตี้ ฟรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
         * ปี 2532-2534 กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูโรปา ปริ๊นซ์ ดาวน์ทาวน์ ช็อป ฮ่องกง
         * ปี 2532-2546 กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส. (ไทยแลนด์) จำกัด
         * ปี 2534-2544 ประธานกรรมการ บริษัท ททท. (พนมเปญ) สินค้าปลอดอากร จำกัด
         * ปี 2536-ปัจจุบัน
             - ประธานกรรมการ บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด
             - ประธานกรรมการ บริษัท แคปปิตัลลักซ์ จำกัด
         * ปี 2537-2541
             - ประธานกรรมการ บริษัท ฮ่องกง ไคตั๊ก อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดิวตี้ ฟรี ช็อป จำกัด
         * ปี 2537-2543
             - กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป (ไชน่า) กรุ๊ป จำกัด
             - กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์ตี้ เซเว่น จำกัด
             - ประธานกรรมการ Beijing Great Wall (Top) Tourist Services Co., Ltd.
         * ปี 2537-ปัจจุบัน
             - ประธานกรรมการ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
             - ประธานกรรมการ บริษัท วี แอนด์ เอ โฮลดิ้ง จำกัด
         * ปี 2538-2541
            - ประธานกรรมการ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ ฟรี (มาเก๊า) จำกัด
             - ประธานกรรมการ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ ฟรี (ซี.บี.โอ.) จำกัด, ฮ่องกง
         * ปี 2540-ปัจจุบัน    
             - ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล เมเนจเมนท์ จำกัด
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
             - บริษัท คิง เพาเวอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด

 

คิง เพาเวอร์ อาณาจักรแสนล้านของตระกูลศรีวัฒนประภา

          ถ้าพูดถึงธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงและรายได้มหาศาลให้ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ทุกคนคงรู้กันดีว่านั่นคือ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (King Power International Group) ซึ่งเป็นบริษัทด้านธุรกิจค้าปลีกสินค้าปลอดภาษี หรือ ดิวตี้ฟรี ที่เปิดดำเนินการขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดยร่วมทุนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก่อนจะได้รับสัมปทานให้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีและอากร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนขยายตัวเป็นอาณาจักรยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน

ลำดับไทม์ไลน์ ของ คิง เพาเวอร์
คิง เพาเวอร์

     - ปี 2532 จัดตั้งบริษัท เจ เอ็ม ที กรุ๊ป จำกัด ได้ใบอนุญาตให้เปิดร้านค้าปลอดภาษีแห่งแรกในประเทศไทย ที่อาคารมหาทุนพลาซ่า
     - ปี 2534-2545 ได้รับใบอนุญาตให้เริ่มดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีและอากรในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
     - ปี 2536-2545 ได้รับสัมปทานให้เปิดร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
     - ปี 2538-2540 ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก ณ กำแพงเมืองจีน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน รวมทั้งได้รับสัมปทานให้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดภาษีและอากรในท่าอากาศยานไคตั๊ก เขตปกครองพิเศษฮ่องกง
     - ปี 2540-2549 เปิดร้านค้าปลอดภาษีและอากรในเมือง ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งได้รับสัมปทานให้เปิดร้านค้าปลอดภาษีที่สนามบินดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต
     - ปี 2542-2544 การบินไทยให้สิทธิ์ คิง เพาเวอร์ บริหารการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากร ระหว่างบินบนเครื่อง
     - ปี 2549 ก่อตั้ง คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ดาวน์ทาวน์ คอมเพล็กซ์ ร้านค้าปลอดภาษีและอากรในเมืองแห่งแรกบนถนนรางน้ำ พร้อมกับได้สัมปทานเปิดคิง เพาเวอร์ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
     - ปี 2550 ได้รับสัมปทานใหม่ในการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากร ระหว่างบินบนเครื่องบินของการบินไทย
     - ปี 2554 เปิดร้านค้าปลอดภาษีและอากรในต่างจังหวัดเป็นแห่งแรก คือ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ พัทยา
     - ปี 2554 ได้สิทธิ์บริหารกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากรบนเครื่องบินแอร์เอเชีย
     - ปี 2555 ได้รับสัมปทานใหม่ให้เปิดร้านค้าปลอดภาษีและอากรที่สนามบินดอนเมือง
     - ปี 2556 เปิดคิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ จังหวัดสมุทรปราการ
          ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ มีกิจการภายใต้บริษัทในเครือ คือ
บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
          ปี 2560 มีรายได้ 56,151 ล้านบาท กำไร 3,944 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกปลอดภาษี ณ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ถนนรางน้ำ, คิง เพาเวอร์ พัทยา คอมเพล็กซ์ และคิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ และธุรกิจป้ายไฟโฆษณา ภายในอาคารผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และภูเก็ต พร้อมทั้งธุรกิจบริหารโรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์, ร้านอาหารรามายณะ และร้านอาหารลามูน
บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
         ปี 2560 มีรายได้ 35,633 ล้านบาท กำไร 1,838 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากร ภายในโถงผู้โดยสารขาออกและขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่
คิงเพาเวอร์

ภาพจาก kingpower

บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด
          ปี 2560 มีรายได้ 5,467 ล้านบาท กำไร 248 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและสินค้าไทย ในอาคารผู้โดยสารในประเทศ และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง
บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด
          ปี 2560 มีรายได้ 5,324 ล้านบาท กำไร 1,764 ล้านบาท ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด รวมทั้งปล่อยเช่าภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่เพียงผู้เดียว (ไม่รวมร้านค้าปลอดภาษีและอากร)
คิงเพาเวอร์

ภาพจาก kingpower

บริษัท คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด
          ปี 2560 มีรายได้ 404 ล้านบาท ขาดทุน 144 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบินของการบินไทย, สายการบินไทย แอร์เอเชีย, สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์
บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล เมเนจเมนท์ จำกัด
          ปี 2560 มีรายได้ 665 ล้านบาท กำไร 42 ล้านบาท ดำเนินการบริหารจัดการโรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ โรงแรมสไตล์รีสอร์ตหรูระดับห้าดาว ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์
คิงเพาเวอร์

ภาพจาก kingpower

บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์
          ปี 2560 มีรายได้ 863 ล้านบาท กำไร 117 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
บริษัท คิง เพาเวอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
          ปี 2560 มีรายได้ 9 ล้านบาท กำไร 703,535 บาท ดำเนินธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น
          ปี 2560 มีรายได้ 216,701 บาท กำไร 162,083 บาท ดำเนินธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ไปรษณีย์ สิ่งของ พัสดุภัณฑ์ทางอากาศ รวมถึงการขนถ่ายสินค้าทางอากาศทั้งในและต่างประเทศ
          นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2561 คิง เพาเวอร์ ยังได้ทุ่มเงิน 14,000 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นโครงการมหานคร 51% จากกลุ่มเพซ ดีเวลลอปเมนท์ เฉพาะส่วนโรงแรมเอดิชั่น ชั้นชมทัศนียภาพ และส่วนมหานครคิวบ์ และเปลี่ยนชื่ออาคารเป็น "คิง เพาเวอร์ มหานคร" เพื่อต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในอนาคต

ขุมธุรกิจในเครือข่าย นอกจากคิง เพาเวอร์

           นอกจากธุรกิจค้าปลีกสินค้าปลอดภาษีแล้ว ตระกูลศรีวัฒนประภา ยังดำเนินการธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดิวตี้ฟรี อาทิ

           - บริษัท วี แอนด์ เอ โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการเครื่องหมายการค้า ร่วมลงทุนในกิจกรรมอื่น จัดสรรที่ดิน บริการสนามกอล์ฟ สนามโปโล และคลับเฮ้าส์ โดยปี 2560 มีรายได้รวม 4,023.93 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,755.64 ล้านบาท

           - บริษัท สยาม ดี.เอฟ.เอส. จำกัด ให้บริการร้านอาหารและภัตตาคาร จำหน่ายสินค้าบริโภคทุกชนิด

           - บริษัท น้องละมุน จำกัด บริการขายอุปกรณ์และอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง
           - บริษัท เอมธรรมชาติ จำกัด บริการขายส่งดอกไม้ ต้นไม้และเมล็ดพันธุ์พืช
           - บริษัท วี.อาร์.เจ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้บริการลานจอดรถยนต์
           - บริษัท สยาม โปโล ปาร์ค จำกัด ให้บริการสนามกีฬาโปโล ดูแลม้าที่ใช้ในการเล่นกีฬาโปโล
           - บริษัท บ้านพราวดาว จำกัด ประกอบกิจการจัดสรรและค้าที่ดิน รวมทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด
           - บริษัท แคปปิตัลลักซ์ จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์
           - บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด เพิ่งจดทะเบียนเมื่อเดือนมกราคม 2561 ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เจ้าสัววิชัย กับการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล

เลสเตอร์ ซิตี้

ภาพจาก lcfcthai

          นอกจากจะมีธุรกิจห้างสรรพสินค้า-ร้านค้าปลอดภาษีอากรแล้ว เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ยังมีความฝันที่จะได้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอล ทำให้ในเดือนสิงหาคม 2553 เจ้าสัววิชัย พร้อมผู้ร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าเอเชียนฟุตบอลอินเวสต์เมนท์ ได้ควักกระเป๋า 100 ล้านปอนด์ (ประมาณ 5,000 ล้านบาทในตอนนั้น) ซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ของประเทศอังกฤษ โดยถือหุ้นมากกว่า 51%

          ก่อนที่ภายหลัง เจ้าสัววิชัย จะเข้าถือหุ้นเพิ่มเป็น 100% และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสโมสรอย่างเต็มตัวในปีถัดมา พร้อมเปลี่ยนชื่อสนามเป็น "คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม (King Power Stadium)" โดยมอบหมายให้ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ผู้เป็นลูก รับหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการทีม ในตำแหน่งรองประธานสโมสร

 

เลสเตอร์ ซิตี้

ภาพจาก kingpower


          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงแรกจะต้องพบกับความลำบากอยู่บ้างจากการโดนคนในสโมสรลองของ ไม่เชื่อฟัง หรือไม่ปฏิบัติตามบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วภายใน 4 ปี เขาก็สามารถปรับโครงสร้างของทีม พร้อมวางกลยุทธ์จนชักนำทีม "จิ้งจอกสยาม" ให้พัฒนาขึ้นจากทีมที่ใกล้ตกชั้น ให้กลับมาคืนฟอร์ม จนทะยานคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2558-2559 ได้สำเร็จ และเป็นแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร
 

เลสเตอร์ ซิตี้

ภาพจาก kingpower 

          จากผลงานดังกล่าว นอกจากจะทำให้ชื่อของ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา และ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา กลายมาเป็นที่พูดถึงกันทั่วสหราชอาณาจักรแล้ว เจ้าสัววิชัย ยังเคยถูกพูดถึงอย่างชื่นชมมาก่อนหน้านี้แล้ว จากความมีน้ำใจแบบไทย ๆ ด้วยการเลี้ยงเบียร์และขนมแก่แฟนบอลที่มาร่วมเชียร์อยู่หลายครั้งด้วยกัน ขณะที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ หลังจากคว้าแชมป์ได้ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปถึง 1.7 หมื่นล้านบาท

 

เจ้าสัววิชัย

ภาพจาก CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

          นอกจากการเข้าซื้อสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ แล้ว ในเดือนมิถุนายน 2560 เจ้าสัววิชัย ยังซื้อสโมสร เอาด์-เฮเฟอร์เลเลอเฟิน ซึ่งเป็นสโมสรในระดับดิวิชั่น 2 ของประเทศเบลเยียม ด้วยเงินลงทุนประมาณ 2.5 ล้านยูโร (ราว 95 ล้านบาท) เพื่อมาบริหารจัดการอีกด้วย

มหาเศรษฐีแถวหน้าของเมืองไทย

เจ้าสัววิชัย

ภาพจาก IAN KINGTON / AFP

          จากการที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในพื้นที่สนามบินต่าง ๆ ทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ รวมทั้งการก่อตั้งคิง เพาเวอร์ ดาวน์ทาวน์ คอมเพล็กซ์ ที่ถนนรางน้ำ ส่งผลให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

          และนั่นจึงทำให้การจัดอันดับมหาเศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 มีชื่อของ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ติดโผมหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.625 แสนล้านบาท ซึ่งก้าวกระโดดขึ้นมาเกือบ 2 เท่าจากปี 2558 ที่เคยอยู่ในอันดับ 9 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผ่าอาณาจักรธุรกิจแสนล้าน เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา มหาเศรษฐีไทย เจ้าของคิง เพาเวอร์ อัปเดตล่าสุด 30 ตุลาคม 2561 เวลา 08:47:35 47,813 อ่าน
TOP