จริงหรือหลอก !? เครื่องดูดเงินจากบัตรเครดิต แตะปุ๊บเงินในบัตรหายปั๊บ

          เพียงแค่แตะ ก็โดนดูดเงินจากบัตรเครดิต-บัตรเดบิตได้ เรื่องแบบนี้ทำได้จริงหรือเปล่า แล้วจะมีวิธีป้องกันยังไง เพื่อจะใช้บัตรอย่างปลอดภัย 
บัตรเครดิต

         ช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงจะเคยผ่านตากับคลิปที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ที่มีชายคนนึงนำเครื่องรูดบัตรไปสแกนที่กระเป๋ากางเกงของอีกคน ซึ่งมีบัตรเครดิตอยู่ข้างใน แล้วเครื่องก็ทำการคิดเงินจากบัตรนั้นไปหน้าตาเฉย 


          เชื่อเลยว่าใครที่ใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตอยู่เป็นประจำ พอเห็นคลิปนี้น่าจะรู้สึกหวั่นใจไม่น้อยว่าแบบนี้เราจะตกเป็นเหยื่อโดนมิจฉาชีพขโมยเงินจากบัตรไปได้ง่าย ๆ เหมือนในคลิปหรือเปล่า แล้วการดูดเงินแบบนี้สามารถทำได้จริงไหม วันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาคลายข้อสงสัย 

ดูดเงินจากบัตร ทำได้จริงไหม ?


          แม้จะดูไม่ค่อยน่าเชื่อเท่าไหร่ กับการแค่ใช้เครื่องแตะผ่านกระเป๋า จะขโมยเงินจากบัตรไปได้ง่าย ๆ แต่ก็ต้องบอกเลยว่ากรณีแบบนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้าบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของเราเป็นแบบ "Contactless Payment" (จ่ายเงินโดยไม่ต้องรูดบัตร) เพราะบัตรแบบนี้มีการใช้เทคโนโลยีไร้สายจำพวก RFID หรือ NFC ที่เพียงแค่แตะสัมผัสใกล้ ๆ ก็ชำระค่าบริการได้แล้ว คล้ายกับการใช้บัตรเข้ารถไฟฟ้า ซึ่งนิยมกันมากในต่างประเทศ

          เพราะฉะนั้นจึงเกิดช่องโหว่ให้กลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาขโมยเงินในบัตรได้ ด้วยการตั้งค่าในเครื่องชำระเงิน (RFID Scanners) ไว้ก่อน ว่าจะให้บัตรนั้นจ่ายเงินซื้ออะไร จำนวนเท่าไหร่ แล้วถึงค่อย ๆ นำเครื่องไปสุ่มสแกนนั่นเอง ซึ่งถ้าจะให้เครื่องอ่านต้องมีระยะห่างน้อยกว่า 4 เซนติเมตร และโดยปกติแล้วธนาคารจะกำหนดวงเงินในการแตะบัตรชำระสินค้าไม่เกินครั้งละ 1,500 บาท

          อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่าต้องเป็นบัตรแบบ Contactless Payment เท่านั้น ถึงจะถูกโจรกรรมแบบนี้ได้ ส่วนใครที่ใช้บัตรเครดิต-บัตรเดบิตแบบปกติ ก็ขอให้สบายใจได้ 

รู้ได้ยังไงว่าเราใช้บัตรแบบ Contactless Payment อยู่ 

          วิธีสังเกตว่าบัตรเรามีความเสี่ยงหรือไม่นั้น ดูได้ง่าย ๆ จากบนบัตรว่ามีสัญลักษณ์ EMV Contactless หรือเปล่า ถ้ามีก็แสดงว่าบัตรที่เราใช้เป็นแบบ Contactless Payment สามารถชำระสินค้าผ่านการแตะสัมผัสได้ แปลว่าก็มีโอกาสที่จะถูกดูดเงินในบัตรออกไปเช่นกัน 

บัตรเครดิต
สัญลักษณ์ EMV Contactless

          สำหรับบัตรแบบ Contactless Payment มีให้บริการทั้งในฝั่งของบัตร Visa ที่ใช้เทคโนโลยี Visa payWave และบัตร Master Card ที่เรียกว่า Master Card PayPass ใครอยากรู้ว่าบัตรตัวเองเป็นแบบไหน มีความเสี่ยงหรือเปล่า ก็ลองหยิบบัตรเครดิต บัตรเดบิต ในกระเป๋าสตางค์ตัวเองขึ้นมาเช็กดูได้เลย 
 
ในไทยมีบัตรแบบ Contactless Payment ไหม

บัตรเครดิต

          ส่วนใหญ่บัตรแบบ Contactless Payment จะแพร่หลายในต่างประเทศมากกว่า โดยเฉพาะในยุโรปหลาย ๆ แห่งที่กำลังเข้าสู่การเป็นประเทศสังคมไร้เงินสด ขณะที่ในประเทศไทยเองแม้จะยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ก็มีหลาย ๆ ธนาคารที่มีบัตรแบบนี้ออกมาให้เห็นกันแล้ว ทั้ง Visa payWave และ Master Card PayPass แม้ว่าร้านค้าที่รองรับการชำระเงินผ่านการแตะบัตรจะยังมีจำนวนไม่มากก็ตาม 

วิธีป้องกันโดนขโมยเงินจากบัตร 

          แม้ผู้ให้บริการบัตรต่าง ๆ จะออกแบบระบบความปลอดภัยมาในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดวงเงินต่อครั้ง หรือกำหนดให้เครื่องอ่านบัตรในระยะสั้น น้อยกว่า 4 เซนติเมตร แต่ถึงอย่างนั้นเพื่อความสบายใจที่มากขึ้น การป้องกันด้วยตัวเองเพิ่มไปอีกขั้น ก็จะช่วยลดโอกาสตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ซึ่งทำได้โดย

          1. หลีกเลี่ยงนำบัตรใส่ในกระเป๋าหลังกางเกง  

          เป็นวิธีป้องกันเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด คือ อย่านำบัตรที่ใส่ไว้กระเป๋าหลังของกางเกง หรือช่องเล็กของกระเป๋าสะพาย เพราะเป็นจุดอับสายตาที่เราจะไม่เห็นเลย ถ้ามีคนแอบนำเครื่องมาสแกนขโมยเงินออกไป  

          2. ใช้กระเป๋าป้องกัน RFID  

บัตรเครดิต
 
         ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันเครื่อง RFID Scanners ได้โดยเฉพาะ อย่างกระเป๋าป้องกัน RFID ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับกระเป๋าสตางค์ทั่วไปเลย ใครที่ไม่อยากเสี่ยงต้องตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ก็ลองหาซื้อมาใช้งานดู

          3. ใช้แผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ห่อบัตรไว้ 

          วิธีนี้สำหรับใครที่อยากประหยัดเงินหน่อย ไม่อยากไปหาซื้อกระเป๋าป้องกัน RFID มาใช้ ก็ทดแทนได้ด้วยการหาแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์สำหรับเผาอาหาร  มาทำเป็นซองห่อทับบัตรไว้ก็ได้ 

          ดูวิธีใช้บัตรเครดิต-บัตรเดบิต อย่างปลอดภัย เพิ่มเติมได้ที่ >> 10 วิธีป้องกันบัตรเครดิต-เดบิตถูกขโมยไปใช้ ! ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

          ต้องบอกว่าตอนนี้เทคโนโลยีทางการเงินกำลังก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้รูปแบบการใช้จ่ายในชีวิตของเราสะดวก สบาย รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ แต่ในอีกด้านก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าเราไม่รู้จักใช้อย่างระมัดระวัง 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จริงหรือหลอก !? เครื่องดูดเงินจากบัตรเครดิต แตะปุ๊บเงินในบัตรหายปั๊บ อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2561 เวลา 16:35:04 42,848 อ่าน
TOP
x close