วัยรุ่น และวัยเก๋า…ออมอย่างไร ให้สบายทันเกษียณ

          "เริ่มออมเงินสม่ำเสมอตั้งแต่อายุยังไม่มาก สัดส่วนเงินออมของรายได้ต่อเดือนเพื่อบรรลุเป้าหมายเกษียณจะได้ไม่สูงนัก และเกษียณได้อย่างไม่ลำบาก"

วิธีเก็บเงิน ออมเงิน

          "เก็บออมเงินเพื่ออะไร" เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก และหลายคนคงทราบดีว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะการที่เราออมเงินในวันนี้ ก็เพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้จ่ายในอนาคต หรือยามเกษียณ ในช่วงที่เราอาจไม่มีรายได้จากงานประจำแล้ว
          "เก็บออมเงินเท่าไรดี" เมื่อตั้งใจจะเก็บเงินแล้ว ก็ควรมีเป้าหมายที่เป็นตัวเลขสักหน่อยว่า ควรออมเงินเท่าไร เพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายสบาย ๆ ในวัยเกษียณ เพราะถ้าบอกว่า ออมให้เยอะที่สุด อาจดูเป็นนามธรรมไปหน่อย และยิ่งถ้าไม่กำหนดเป็นตัวเลขให้ชัดลงไป บางเดือนอาจเผลอใช้จ่ายจนหมด จนไม่เหลือออมเลยก็ได้

          แล้วตัวเลขหรือสัดส่วนเงินออมเท่าไรที่เรียกว่าเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเบียดเบียนการใช้จ่ายในปัจจุบัน และไม่น้อยเกินไปจนกระทั่งถึงวันที่ต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย แล้วพบว่า เงินไม่พอใช้ ต้องนึกเสียใจว่า "รู้งี้" เก็บเงินให้มากกว่านี้อีกหน่อยก็ดี … กระปุกดอทคอม นำข้อมูลจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มาฝากกัน

วิธีเก็บเงิน ออมเงิน

          เกษียณต้องใช้เงินเท่าไร

          ก่อนอื่นต้องรู้ว่า เมื่อเกษียณแล้ว ใช้เงินเท่าไร เพื่อรู้ว่าต้องออมเงินเท่าไรต่อเดือน 
   
          สำหรับบทความนี้จะขออ้างอิงค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจากการสำรวจของ K-Expert ซึ่งพบว่า ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในบ้านอย่างค่าน้ำ-ค่าไฟ และค่าหมอสำหรับเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ จะตกเดือนละ 15,500 บาท หรือคิดคร่าว ๆ ว่าใช้จ่ายประมาณวันละ 500 บาท
 
          แต่เงินที่ใช้หลังเกษียณต้องไม่ลืมบวกเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ราคาสินค้าข้าวของต่าง ๆ ในวันนี้กับในอนาคตย่อมไม่เท่ากัน (ลองย้อนเวลากลับไปสัก 20 ปีที่แล้ว ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งราคา 20-25 บาท แต่วันนี้ ถ้าจะซื้อก๋วยเตี๋ยวชามเดิม ต้องใช้เงินอย่างน้อย ๆ 40-50 บาท)

          ดังนั้น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่รวมเงินเฟ้อ และเงินก้อนที่ต้องเตรียมไว้ ณ วันเกษียณ เป็นเท่าไรนั้น สามารถดูได้จากตารางด้านล่าง

วิธีเก็บเงิน ออมเงิน

          หมายเหตุ : สมมติอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3% และหลังเกษียณสร้างผลตอบแทนให้กับเงินออมได้เท่ากับอัตราเงินเฟ้อหรือ 3% ต่อปี

          การคำนวณเงินก้อน ณ วันเกษียณ ขอใช้วิธีอย่างง่าย คือ สมมติให้หลังเกษียณสร้างผลตอบแทนให้กับเงินออมได้เท่ากับอัตราเงินเฟ้อ เมื่อรู้ว่าหลังเกษียณใช้เดือนละเท่าไร ก็คูณกับจำนวนเดือนที่คาดว่าจะอยู่หลังเกษียณได้ออกมาเป็นเงินก้อนที่ต้องเตรียมไว้

          ยกตัวอย่าง ถ้าตอนนี้อายุ 30 ปี ต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 15,500 บาท ถ้าวางแผนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี เงิน 15,500 บาท จะมีมูลค่าประมาณ 37,623 บาท ในอีก 30 ปีข้างหน้า แล้วถ้าใช้จ่ายหลังเกษียณ 25 ปี หรือ 300 เดือน เท่ากับว่า เงินก้อนที่ต้องเตรียมไว้ ณ วันเกษียณ จะเท่ากับ 37,623 x 300 = 11.3 ล้านบาท

          ออมเงินแค่ไหน ถึงจะเพียงพอ

          ตัวเลขหรือสัดส่วนเงินออม จะขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ (1) รายได้ต่อเดือน (2) ระยะเวลาออมเงิน และ (3) อัตราผลตอบแทน

          สำหรับรายได้ต่อเดือนนั้น K-Expert ต้องขอขอบคุณข้อมูลของผู้เข้าร่วมสัมมนา Workshop ที่ K-Expert Center จำนวน 500 ท่าน ที่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม โดยจะพบว่า รายได้มักสัมพันธ์กับอายุ (อาจมีบางท่านที่ความสามารถสูง รายได้จึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยจากผลสำรวจ)

วิธีเก็บเงิน ออมเงิน
 
          ที่มา: ผลสำรวจผู้เข้าร่วมสัมมนา Workshop ที่ K-Expert Center จำนวน 500 ท่าน ณ มกราคม 2560

          ทั้งนี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนที่ใช้คำนวณ อ้างอิงจากผลสำรวจบริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย ที่คาดว่า ปี 2561 อัตราเงินเดือนในประเทศไทยจะปรับขึ้นเฉลี่ย 5.5%

          เมื่อคำนวณจำนวนเงินออมต่อเดือน ณ ระดับผลตอบแทน 5% ต่อปี โดยเก็บเงินทุกเดือนจนถึงอายุเกษียณที่ 60 ปี พบว่า สัดส่วนเงินออมของรายได้ต่อเดือนที่ทำให้บรรลุเป้าหมายเก็บเงินเกษียณ ปัดเป็นตัวเลขกลม ๆ ได้ ดังนี้

          เริ่มออมก่อนอายุ 40 ปี       -> ออม 20% ต่อเดือน
          เริ่มออมเมื่ออายุ 40-44 ปี   -> ออม 30% ต่อเดือน
          เริ่มออมเมื่ออายุ 45-48 ปี   -> ออม 40% ต่อเดือน
          เริ่มออมเมื่ออายุ 49-50 ปี   -> ออม 50% ต่อเดือน

          จากการคำนวณสัดส่วนการออมเงินต่อเดือนตามช่วงอายุ พอจะสรุปได้ว่า ยิ่งออมเร็ว ยิ่งมีระยะเวลาออมเงินที่นานขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนออมเงินต่อเดือนไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับการออมเงินเมื่อตอนอายุมากขึ้น ที่ต้องเก็บเงินด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้น

          ดังนั้น ถ้าออมเงินตั้งแต่อายุยังไม่มาก (ไม่เกิน 40 ปี) เมื่อเงินเดือนออก หรือมีรายได้เข้ามา ก็ออมก่อนเลยอย่างน้อย 20% 

          สำหรับการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทน 5% ต่อปี ต้องบอกว่า ไม่ได้ยากเกินไป เพียงแบ่งเงินลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ อย่างเหมาะสม เช่น ลงทุนในหุ้นสัก 30% ที่เหลืออีก 70% ลงทุนในตราสารหนี้ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ การลงทุนในกองทุนผสมที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง

          การออมเงินไม่ใช่เรื่องยาก หากเรารู้ว่าเป้าหมายการออมของเราคืออะไร เพียงแบ่งเงินสักส่วนหนึ่งของเงินเดือน โดยอดทนไม่ใช้จ่ายเงินจนหมดในวันนี้ มาเก็บสะสมไว้ เพื่อบั้นปลายชีวิตที่ไม่ต้องลำบาก เพราะเมื่อถึงเวลานั้น คงไม่สามารถย้อนเวลากลับมาออมเงินให้มากขึ้นได้
   
          K-Expert Action

          - ออมก่อนใช้อย่างน้อย 20% ของรายได้ในแต่ละเดือน และออมสม่ำเสมอทุกเดือน
          - เลือกสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัยรุ่น และวัยเก๋า…ออมอย่างไร ให้สบายทันเกษียณ อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2561 เวลา 16:24:09 9,285 อ่าน
TOP
x close