รู้จักหน่วยลงทุนไว้ ดีต่อใจแน่นอน

หน่วยลงทุน

          จำนวนหน่วยลงทุน ใช้เมื่อขายคืน LTF ที่ครบกำหนด เมื่ออยากปิดบัญชีกองทุน และเมื่ออยากรู้ว่าได้เงินปันผลกี่บาท

          สมมติว่าเปิดหน้าสมุดบัญชีกองทุนรวมขึ้นมา คุณดูอะไรในหน้านั้นบ้าง ?

          ถ้าไม่ตาลายไปกับตัวเลขยุบยิบ ๆ เสียก่อน แน่นอนว่า หลายคนพุ่งสายตาควานหายอดเงินลงทุนคงเหลือเป็นอันดับแรก เพื่อเช็กก่อนว่าตอนนี้เงินลงทุนของเราในกองทุนรวมนี้มีมูลค่าเป็นเท่าไรแล้ว กำไรหรือขาดทุน
          แต่ตัวเลขที่มีจุดทศนิยมสี่หลักข้าง ๆ มูลค่าคงเหลือ ที่เขียนชื่อหัวแถวไว้ว่า "จำนวนหน่วยลงทุน (unit)" เป็นตัวเลขหนึ่งที่มักถูกมองผ่านไปเสมอ คุณรู้ไหมว่า มีหลายครั้งที่เราต้องหยิบเอาจำนวนหน่วยลงทุนนี้มาใช้งาน ว่าแต่จะใช้งานตอนไหนบ้าง กระปุกดอทคอม นำข้อมูลจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มาบอกต่อกัน

หน่วยลงทุน

1. เมื่อจะขายคืนกองทุนรวม LTF ที่ครบกำหนด

          อย่างที่หลาย ๆ คนรู้กันอยู่แล้วว่า LTF เป็นกองทุนรวมที่เราสามารถนำยอดซื้อหรือยอดเงินลงทุนมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้น ตอนซื้อ เราจะรู้หรือกำหนดได้เองว่า ปีนี้อยากจะลงทุน LTF กี่บาท เช่น รายได้ทั้งปี 1 ล้านบาท สามารถลงทุน LTF สูงสุด 150,000 บาท เป็นต้น

          แต่ทีนี้ เมื่อถือลงทุนมาเรื่อย ๆ จนครบเงื่อนไขที่จะขายได้ คำถามที่เจอบ่อยคือ จะขายยังไงดี ? ถ้าขายเป็นจำนวนเงินเหมือนตอนซื้อ ก็ตอบไม่ได้แน่นอนว่า จะเกินสิทธิที่ครบกำหนดขายได้รึเปล่า เพราะการซื้อขายกองทุนรวม จะไม่รู้ราคาที่ได้รับ ณ ตอนทำรายการทันที แต่ต้องรอสิ้นวันหรือวันทำการถัดไปจึงจะรู้ราคาที่ซื้อหรือขาย ดังนั้น การส่งคำสั่งขายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน จึงมีความเสี่ยงที่เราอาจขายเกินสิทธิที่ครบกำหนดได้นั่นเอง

          ทางที่ปลอดภัย คือ ขายตามจำนวนหน่วยลงทุนที่ครบเงื่อนไขการถือครอง เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จำนวนหน่วยในปีที่ซื้อ เราได้มาเท่าไร วันที่ขายให้เอาจำนวนหน่วยลงทุนนั้นมาเป็นคำสั่งขาย

          ลองนึกภาพตาม สมมติว่า ปีที่ซื้อ LTF ซื้อไว้ทั้งหมด 100,000 บาท ตอนนั้นราคาหน่วยละ 10 บาท สรุปได้หน่วยลงทุนมา 10,000 หน่วย ถือลงทุนไปเรื่อย ๆ จนครบเงื่อนไขที่สามารถขายได้ วันนั้นราคาปรับขึ้นมาเป็นหน่วยละ 13 บาท แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือ จำนวนหน่วย ปีที่ซื้อได้มา 10,000 หน่วย พอถึงปีที่ครบกำหนดสามารถขายได้ตามเงื่อนไข จำนวนหน่วยก็ยังเป็น 10,000 หน่วย ดังนั้น ตอนขายคืน เราจะไม่ส่งคำสั่งว่าขายคืน 130,000 บาท แต่จะส่งคำสั่งว่าขายคืน 10,000 หน่วยแทน โดยจำนวนเงินที่จะได้รับ ขึ้นอยู่กับราคาปิด ณ วันที่ขายนั่นเอง การขายแบบนี้ รับรองไม่เกินสิทธิแน่นอน

หน่วยลงทุน

2. เมื่ออยากเอาเงินออกจากกองทุนให้หมด

          อีกคำถามที่เจอบ่อย คือ ถ้าอยากเอาเงินออกมาจากกองทุนรวมให้เกลี้ยง ต้องทำอย่างไร ? หลักการคล้ายเดิมตรงที่ จำนวนหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขที่จะไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันเหมือนราคาซื้อ-ขาย (หรือ NAV) ดังนั้น เมื่อต้องการเอาเงินออกมาจากกองทุนให้หมด ไม่ให้หลงเหลือแม้แต่เศษสตางค์ละก็ ให้ส่งคำสั่งขายคืนเป็นจำนวนหน่วยลงทุนคงเหลือทั้งหมดที่มีอยู่ ส่วนจำนวนเงินที่จะได้รับ ก็ไปรอลุ้นเอาตอนสิ้นวันว่า ราคาปิดจะเป็นเท่าไร เท่านี้คุณก็สามารถนำเงินออกมาจากกองทุนได้เกลี้ยงแล้ว

หน่วยลงทุน

3. ถ้าอยากลองคำนวณเงินปันผลที่จะได้รับ

          คนที่ซื้อกองทุนรวมแบบที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไว้ เวลามีการประกาศจ่ายเงินปันผลแต่ละรอบ ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะประกาศว่า รอบนี้กองทุนรวม A มีมติจ่ายเงินปันผล xx บาทต่อหน่วย จากนั้นเราก็แค่รอให้ถึงวันที่มีการจ่ายเงินปันผลเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ผูกไว้เป็นอันจบ

          สำหรับคนที่อยากลองคำนวณเองก่อนว่า จำนวนเงินปันผลที่จะได้รับ เป็นประมาณเท่าไร เราก็แค่เอาจำนวนเงินปันผลต่อหน่วยที่ประกาศจ่าย คูณกับจำนวนหน่วยลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมด (ก่อนที่จะปิดสมุดทะเบียนรายชื่อของกองทุนรวม) ก็จะรู้ว่ารอบนี้ได้เงินปันผลกี่บาท อ้อ...กันเหนียวไว้นิดหนึ่ง แนะนำให้เลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ตั้งแต่ตอนเปิดบัญชีกองทุนรวมเลยจะดีกว่า เพราะถ้าไม่ได้เลือกให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เราต้องนำเงินปันผลที่ได้รับไปรวมกับเงินได้ประจำปี แล้วเอามาคิดภาษีตามฐานภาษีตัวเอง ซึ่งอาจจะสูงกว่าภาษี ณ ที่จ่าย 10% ก็ได้

          มาลองคิดเลขเล่น ๆ กัน สมมติว่า กองทุนรวม A มีมติจ่ายเงินปันผล 0.50 บาทต่อหน่วย เรามีหน่วยลงทุนของกองทุนนี้อยู่ทั้งหมด 10,000 หน่วย เพราะฉะนั้น เงินปันผลก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย จะเท่ากับ 5,000 บาท (0.50 x 10,000) หักภาษีออกไป 10% อีก 500 บาท สรุปว่า รอบนี้เราจะได้รับเงินปันผลเป็นค่าขนม 4,500 บาทนั่นเอง

          เห็นแล้วใช่ไหมว่า หน่วยลงทุน มีประโยชน์ต่อตัวผู้ลงทุนอย่างไร … รู้จักไว้ ดีต่อใจแน่นอน

          K-Expert Action
          - เลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย ของเงินปันผลกองทุนรวม เมื่อเปิดบัญชีกองทุน
          - ตรวจสอบเงื่อนไขการลงทุนในกองทุน LTF ก่อนตัดสินใจขายคืนกองทุน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


อ่านเพิ่มเติม กองทุนรวม คืออะไร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักหน่วยลงทุนไว้ ดีต่อใจแน่นอน อัปเดตล่าสุด 22 ตุลาคม 2564 เวลา 15:41:22 8,904 อ่าน
TOP
x close