แบงก์แข่งกันเดือด ! เปิดศึกฟรีค่าธรรมเนียม ดึงลูกค้ายุคดิจิทัล

ธนาคารฟรีค่าธรรมเนียม

          เขย่าวงการธนาคารครั้งใหญ่ เมื่อ SCB-KBANK-KTB-BBL งัดไม้เด็ดประกาศฟรีค่าธรรมเนียม โอนเงิน ถอนเงิน จ่ายบิล ไม่จำกัดจำนวนครั้ง หวังเปิดเกมชิงฐานลูกค้า

          เชื่อว่าแต่ก่อนหลายคนคงเคยมีปัญหากันบ้างล่ะ เวลาจะถอนเงิน โอนเงิน ข้ามธนาคารหรือข้ามเขต ต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมแพง ๆ ให้กับธนาคารแบบเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว เมื่อธนาคารหลายแห่ง ได้เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่เอาใจลูกค้า ยอมตัดค่าธรรมเนียมบางรายการทิ้งไป บวกกับมาของ "พร้อมเพย์" ด้วยแล้ว ยิ่งช่วยกระตุ้นให้ธนาคารพากันปรับตัว ออกโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมมาแข่งกันอย่างดุเดือด

ฟรีค่าธรรมเนียม

          เริ่มต้นจากก่อนหน้านี้ที่ ธนาคารไทย (TMB) เป็นแบงก์แรกที่นำเอาโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมมาเรียกลูกค้า อย่างบัญชี "TMB All Free" ที่สามารถถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิล แบบฟรีค่าธรรมเนียม กับธนาคารอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าพอสมควร

ฟรีค่าธรรมเนียม

ฟรีค่าธรรมเนียม

          หลังจากนั้นไม่นานก็มีหลายธนาคารมองเห็นโอกาสตรงนี้ ออกโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมมาแข่งบ้าง ทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ออกบัญชี "ออมทรัพย์จัดให้" กับโปรโมชั่นจ่ายบิล โอนเงิน กดเงินผ่านตู้ ATM ทุกธนาคารทั่วประเทศฟรี รวมถึงธนาคารธนชาต (TBANK) กับบัญชี "ฟรีเว่อร์ไลท์" ที่ให้สิทธิ์ฟรีค่าธรรมเนียม โอนเงิน ถอนเงิน จ่ายบิล เช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าทั้ง 3 แบงก์ที่กล่าวมานั้น มีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องทำบัตรเดบิต หรือเปิดบัญชีประเภทที่กำหนดเท่านั้น ถึงจะฟรีค่าธรรมเนียมได้ และบางธนาคารก็จำกัดจำนวนครั้งที่ทำธุรกรรมต่อเดือน
          แต่ล่าสุดที่เซอร์ไพรส์หลายคนอย่างมาก ก็คือการที่ธนาคารขนาดใหญ่ลงมาเล่นเกมนี้กันแล้ว แถมยังปลดล็อกเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เคยมี ด้วยการใช้เพียงแอปพลิเคชัน หรือ Internet Banking ก็ฟรีค่าธรรมเนียมเลย โดยไม่ต้องเปิดบัญชีเฉพาะ หรือทำบัตรเดบิตให้เสียค่าธรรมเนียมรายปีอีกต่อไป

ฟรีค่าธรรมเนียม

          ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นแบงก์ใหญ่รายแรกที่เดินหมากเกมนี้ ด้วยการประกาศเลิกเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา กับธุรกรรมที่ทำผ่านแอปพลิเคชัน Easy Net และ Easy App ใน 4 บริการ ดังต่อไปนี้

          1. โอนข้ามเขต ข้ามธนาคาร ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
          2. จ่ายบิล สินค้าและบริการ
          3. เติมเงินมือถือ ทุกค่าย
          4. กดเงินไม่ใช้บัตรทั่วไทย

ฟรีค่าธรรมเนียม

          ด้านธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เองก็ไม่น้อยหน้า ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber และ K-Cyber SME ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมเป็นต้นไป กับบริการยอดฮิต ได้แก่

          1. โอนข้ามเขต ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
          2. โอนต่างธนาคาร ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
          3. จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ และเติมเงินทุกประเภท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

         ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ก็ไม่ยอมที่จะตกรถไฟขบวนนี้ ด้วยการหั่นค่าธรรมเนียม โอนเงินข้ามเขต โอนต่างธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้า และบริการเติมเงิน ผ่านแอปพลิเคชัน KTB Netbank ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2561 ไปจนถึงสิ้นปีนี้เช่นกัน ทำให้จะเห็นว่าในตอนนี้ ธนาคารขนาดใหญ่กระโดดเข้าสงครามฟรีค่าธรรมเนียมกันเกือบจะหมดแล้ว

ฟรีค่าธรรมเนียม

          อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากนโยบายฟรีค่าธรรมเนียม ก็เกิดกระแสความกังวลจากนักลงทุนว่า รายได้ของค่าธรรมเนียมที่ลดลง อาจส่งผลต่อภาพรวมผลประกอบการของธนาคาร ทำให้หลังตลาดหุ้นปิดตลาดซื้อ-ขายในวันนี้ (28 มีนาคม 2561) หุ้นของ 3 ธนาคารใหญ่อย่าง SCB KBANK และ KTB ต่างมีราคาลดลง โดยหุ้น SCB ลดลง 3.50 บาท หรือ 2.41% หุ้น KBANK ลดลง 9 บาท หรือ 4.05% และหุ้น KTB ลดลง 0.50 บาท หรือ 2.54%   

          และล่าสุดดูเหมือนว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จะนิ่งเฉยไม่ได้ จึงเดินหน้าลงสนามสู้ศึกครั้งนี้เป็นรายที่ 4 โดยประกาศฟรีค่าธรรมเนียมทั้งช่องทางบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง และช่องทางบริการทางอินเทอร์เน็ต บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง สำหรับผู้ทำธุรกรรมโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารแบบทันทีโอนเงินพร้อมเพย์ การชำระบิลค่าสินค้าและบริการ และบริการเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

          นอกจากนี้ยังงัดกลยุทธ์เด็ดฟรีค่าธรรมเนียม ATM ถอนเงินข้ามเขตและโอนเงินข้ามเขตจากบัญชีภายในธนาคาร และโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคาร ต้ังแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2561 เพื่อเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

ฟรีค่าธรรมเนียม

          น่าสนใจว่าการที่ธนาคารใหญ่อย่าง SCB, KBANK, KTB และ BBL ลงมาลุยในสนามนี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการธนาคารได้มากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการเงินในไทยหรือเปล่า แต่ที่รู้แน่ ๆ ก็คือคนที่จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ กับเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นเหล่าผู้บริโภคอย่างเรา ๆ นั่นเอง

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561

ภาพและข้อมูลจาก
ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบงก์แข่งกันเดือด ! เปิดศึกฟรีค่าธรรมเนียม ดึงลูกค้ายุคดิจิทัล อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2561 เวลา 15:54:17 57,339 อ่าน
TOP
x close