x close

เจาะรายละเอียด "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" คืออะไร ใครได้ประโยชน์ !

        รู้จัก "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" แผนพัฒนาประเทศโครงการใหม่จากรัฐบาล สำคัญยังไง ช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง แล้วจะแก้ปัญหาคนจนได้จริงหรือเปล่า !    
ไทยนิยมยั่งยืน

          เริ่มเดินหน้ากันไปแล้วสำหรับ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศตั้งคณะทำงานของโครงการนี้ขึ้นมา พร้อมทุ่มงบเฉียดแสนล้าน เพื่อหวังให้เป็นโรดแมปสำคัญในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล คสช. จึงทำให้คนสนใจโครงการนี้เป็นอย่างมาก

          แต่แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนยังคงสงสัย คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า แล้วชาวบ้านอย่างเรา ๆ จะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ รวมถึงจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ยังไงบ้าง วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงจะมาฉายภาพให้เห็นชัด ๆ ว่า "ไทยนิยม ยั่งยืน" คืออะไร ยังไง กันแน่ แล้วจะเป็นประโยชน์กับพวกเราจริงหรือเปล่า

โครงการไทยนิยม ยั่งยืน คืออะไร

          โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากแนวคิด "โครงการประชารัฐ" ในการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน ในทุก ๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความมั่นคง ซึ่งคอนเซ็ปต์ของไทยนิยม ยั่งยืน จะเป็นการจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียม ตามความต้องการของประชาชน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ พร้อมกับให้ประชาชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

          ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งกลุ่มคณะทำงานขึ้นมาใหม่ในชื่อ "คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน" เพื่อเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ ด้วยการลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่จริง ๆ ว่าต้องการอะไร แล้วนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากความยากจน


โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง

          โจทย์สำคัญเลยของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ก็เพื่อพัฒนาใน 2 ด้านหลักไปพร้อม ๆ กัน คือ ด้านเศรษฐกิจ ในการดูแลปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ จะอยู่ในแผนการดำเนินงาน 10 เรื่อง ดังนี้

ไทยนิยมยั่งยืน

          1. สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง : จะเป็นการสร้างความสามัคคีปรองดองของทุกฝ่าย โดยจัดให้ทำสัญญาประชาคม

          2. คนไทยไม่ทิ้งกัน : เป็นการต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ให้ผู้ถือบัตรมีชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้

          3. ชุมชนอยู่ดีมีสุข : เป็นการพัฒนาความเป็นอยู่และอาชีพในชุมชนให้ดีขึ้น

          4. วิถีไทยวิถีพอเพียง : สร้างความเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างวินัยการออม

          5. รู้สิทธิ รู้หน้าที่ : สร้างวินัย หน้าที่ ความเป็นพลเมืองที่ดี

          6. รู้กลไกการบริหารราชการ : ให้ความรู้และเข้าใจการบริหารงานราชการในระดับต่าง ๆ

          7. รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม : รณรงค์ "เกลียดการโกง" เสริมคุณธรรม ปราบปรามการทุจริต

          8. รู้เท่าทันเทคโนโลยี : พัฒนาโครงการอินเทอร์เน็ตหมูบ้าน ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง

          9. ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด : เป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 8,781 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหายาเสพติด

          10. งานตามภารกิจของส่วนราชการและหน่วยงานอื่น ๆ

          สำหรับเม็ดเงินที่จะกระจายสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมด จากโครงการที่ดำเนินการคาดว่าจะสูงถึง 9.95 หมื่นล้านบาท มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท การพัฒนาเชิงพื้นที่ ชุมชน การท่องเที่ยว และกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 3.45 หมื่นล้านบาท และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรจำนวน 3 หมื่นล้านบาท

โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ช่วยเหลือใครบ้าง


          คนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เรียกได้ว่าครอบคลุมทั่วประเทศกันเลย เพราะคณะทำงานจะลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 878 อำเภอ 7,463 ตำบล/เทศบาล 81,084 หมู่บ้าน/ชุมชน ส่วนในกรุงเทพฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ครบทั้ง 50 เขตเช่นเดียวกัน เพื่อรับฟังปัญหาของแต่ละชุมชน แล้วนำมาพัฒนาได้ตรงความต้องการจริง ๆ

ไทยนิยมยั่งยืน

โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เริ่มเมื่อไหร่ ยังไง

          โครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง คือ

          ช่วงแรก : รับฟังความคิดเห็น
          เริ่มลงพื้นที่ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 และจะทยอยรับฟังความคิดเห็นให้ครบทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2561 โดยเน้นลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อนเป็นรายครัวเรือน รายบุคคล

          ช่วงที่สอง : สร้างความรับรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคม
          ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม จนถึง 10 เมษายน 2561 โดยจะเป็นการลงพื้นที่ไปสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน จากการเปิดรับฟังเสียงสะท้อนของคนในชุมชน แล้วกำหนดเป็นความตกลงของการอยู่ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ

          ช่วงสุดท้าย : สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
          เป็นการปรับความคิดของประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เพื่อเดินหน้าพัฒนาไปพร้อมกัน โดยระหว่างวันที่ 11-30 เมษายน 2561 จะเป็นการสร้างการรับรู้ ปรับความคิดตามวิถีไทย วิถีพอเพียง และระหว่างวันที่ 1-20 พฤษภาคม 2561 จะเป็นการร่วมแก้ปัญหา รู้เท่าทันยาเสพติด

ไทยนิยมยั่งยืน

โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ต่างจากงานที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการอยู่แล้วยังไง

          แม้ว่าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะคล้ายกับสิ่งที่หลาย ๆ หน่วยงานภาครัฐดำเนินการกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่าง ๆ แต่สิ่งที่ต่างจากโครงการทั่วไป คือ แนวทางดำเนินงานที่เน้นลงพื้นที่รับฟังความต้องการของประชาชนจริง ๆ โดยยึดเอาประชาชนที่มีปัญหา ได้รับความเดือดร้อนเป็นศูนย์กลาง จากนั้นถึงนำข้อมูลที่ได้ ไปประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาได้ตรงจุดจริง ๆ 


          น่าสนใจว่า โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่เป็นเหมือนโรดแมปสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ของประเทศ จะประสบความสำเร็จและขจัดปัญหาความยากจนได้อย่างที่หวังไว้หรือเปล่า เพราะเชื่อว่าหลายคนคงฝากความหวังไว้กับโครงการนี้กันไม่น้อยเลย


ภาพจาก โครงการไทยนิยม ยั่งยืน, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน
กระทรวงศึกษาธิการ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะรายละเอียด "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" คืออะไร ใครได้ประโยชน์ ! อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2561 เวลา 17:53:40 206,468 อ่าน
TOP