x close

12 สาเหตุที่ทำให้ขายของไม่ดี พ่อค้า-แม่ค้าที่ไม่อยากเจ๊ง ต้องอ่าน !

          ขายของแล้วเจ๊ง ขายของไม่ดี เกิดจากสาเหตุอะไรบ้างนะ เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีอย่างเดียวจริงไหม หรือมีเหตุผลอื่น ๆ ด้วย ที่ทำให้พ่อค้า-พ่อค้า ขายของกันไม่ได้

ขายของไม่ดี
ภาพจาก Thiti Sukapan / Shutterstock.com

          ได้ยินพ่อค้า-แม่ค้า ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า "เศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้เลย" ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจริง ๆ แต่ถึงอย่างนั้น เรากลับพบว่าก็ยังมีร้านค้าหลายแห่งขายดิบขายดีเหมือนปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แถมบางร้านขายดีกว่าเดิมซะอีกก็ดี หรือที่จริงแล้วปัญหาเศรษฐกิจที่เราบ่น ๆ กัน อาจไม่ได้เป็นสาเหตุทั้งหมดที่ทำขายของไม่ดีก็ได้ แต่มีสาเหตุอื่น ๆ มากกว่านั้น ที่เราลืมสังเกตและไม่ได้ใส่ใจไปหรือเปล่า แต่จะมีอะไรบ้างนะที่เป็นสาเหตุทำให้ขายของไม่ดี มาดูพร้อมกันเลยดีกว่า  
 

1. มีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ

          ข้อดีของยุคนี้ก็คือ ใคร ๆ ก็ขายของได้ บางคนทำงานประจำไป ขายของควบคู่ไปด้วย ขณะที่อีกหลายคน เบื่องาน อยากมีอิสระ ไม่อยากทำงานบริษัทก็เลยลาออกมาขายของ เมื่อมีแต่คนขายก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ขายของยากขึ้นกว่าเดิมไปด้วย นี่ถ้าลองสังเกตดูเราจะเห็นร้านค้าที่ขายของแบบเดียวกัน ซ้ำ ๆ กัน เกิดขึ้นมากมาย ทั้งร้านค้าที่มีหน้าร้านจริง ๆ และร้านค้าออนไลน์ แต่ลูกค้ายังมีจำนวนเท่าเดิม ลองนึกดูว่าถ้ามีร้านเดียว ส่วนแบ่งของสินค้าตัวนั้นก็เป็นของเรา 100% แต่พอมี 2 ร้าน ลูกค้าก็จะถูกแบ่งไปอีก ยิ่งตอนนี้มีร้านแบบเดียวกันเป็นสิบ ๆ ร้อย ๆ ร้าน จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมเดี๋ยวนี้กว่าจะขายของได้ทีละชิ้นมันช่างเหนื่อยเสียเหลือเกิน

ขายของไม่ดี


2. คนไม่กล้าใช้เงิน

          เห็นได้ชัดเลยว่าช่วงนี้คนใช้จ่ายกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น และไม่ค่อยกล้าใช้เงินกัน ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนแล้ว ก็คงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมคนถึงไม่กล้าซื้อของ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ที่เป็นหนี้สูงมาก เงินทุก ๆ เดือนที่ได้มาแค่เอาไปจ่ายหนี้ที่ก่อไว้ก็แทบจะไม่พอแล้ว ยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิด 19 ที่ต้องรัดเข็มขัดเข้าไปอีก จึงเลิกนึกไปได้เลยว่าจะเอาตังค์ที่ไหนออกไปจับจ่ายใช้สอย ให้ร้านค้าต่าง ๆ พากันขายดีเหมือนเดิม

        
3. ขายของที่ไม่จำเป็น

          อย่างที่บอกไปในข้อที่แล้ว คือ คนไม่ค่อยกล้าจะใช้เงินกัน ดังนั้น ถ้าเราขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น หรือของที่คนไม่ต้องซื้อใหม่ตลอดละก็ เตรียมทำใจได้เลยว่าโอกาสที่จะขายได้ดีเหมือนแต่ก่อนคงเป็นไปได้ยาก เพราะขนาดของใช้จำเป็นต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเดี๋ยวนี้ยังขายยากเลย


4. ทำเลกระจายมากขึ้น ไม่กระจุกตัวเหมือนเดิม

          นอกจากคนขายของจะมากขึ้นแล้วทำเลขายของก็มีมากขึ้นไม่ต่างกัน จะเห็นว่ามีตลาดนัดเกิดใหม่มากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัด ทำให้มีการแชร์ลูกค้าไปตามพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ไม่กระจุกตัวเหมือนแต่ก่อน นี่ยังไม่นับร้านค้าออนไลน์ที่ผุดขึ้นมาแย่งลูกค้าอีกนะ เพราะฉะนั้น ถ้าสินค้าของใครไม่ดีจริง หรือไม่ได้ตั้งในทำเลที่เหมาะสม ก็คงจะลำบากสักหน่อยกับการขายของในสมัยนี้

ขายของไม่ดี

5. มีช่องทางซื้อได้มากขึ้น

          เดี๋ยวนี้ถ้าอยากจะซื้อของสักหนึ่งอย่าง แทบไม่ต้องออกจากบ้านเดินทางฝ่ารถติดไปเลือกซื้อในห้าง หรือตามตลาดกันอีกแล้ว เพราะแค่มีมือถือ ก็สามารถเลือกจิ้มซื้อสินค้าตามร้านค้าออนไลน์ในเฟซบุ๊ก หรือ IG กันได้ง่าย ๆ แถมยังสะดวก รวดเร็วอีกด้วย จึงเหมือนเป็นช่องทางให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งถ้าพ่อค้าแม่ค้าคนไหนไม่อยากเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไป ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคปัจจุบันกันสักหน่อย


6. ยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิม ๆ


          เป็นเรื่องปกติที่คนมีประสบการณ์ขายของมานาน ๆ มักจะยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิม ๆ ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เพราะคิดว่าทำแบบเดิมก็ขายดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม แต่หารู้ไม่ว่า การยึดกับความคิดเดิม ๆ อาจเป็นกับดักทำให้ธุรกิจที่ทำอยู่ไม่ไปไหน และตามกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ ๆ ไม่ทันเอาก็ได้นะ ดูอย่างแบรนด์โทรศัพท์มือถือหลายราย ที่อดีตเคยมียอดขายติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ยังยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลก สุดท้ายก็โดนคู่แข่งรายอื่น ๆ แซง จนเจ๊งไปโดยปริยาย

ขายของไม่ดี
ภาพจาก Sombat Muycheen / Shutterstock.com

7. สินค้าที่ขายเอาท์ไปแล้ว

          แน่นอนว่าไม่มีสินค้าอะไรหรอกที่จะขายดีตลอดกาล ได้รับความนิยมตลอดเวลา ยิ่งปัจจุบันที่กระแสต่าง ๆ มาไวไปไวมาก เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าของที่เราขายกำลังเสื่อมความนิยม เราก็ควรหาสินค้าใหม่ ๆ มาทดแทน หรือปรับปรุง พัฒนาสินค้าที่มีอยู่ให้ดึงดูดใจกลุ่มลูกค้า ไม่ใช่ปล่อยให้สินค้าตัวเก่าขายไม่ได้อยู่อย่างงั้น แล้วหวังว่าสักวันมันจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แบบนี้ก็รอวันเจ๊ง


8. ไม่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าของตัวเอง

         ในเมื่อใคร ๆ ก็อยากขาย อยากได้ตังค์ จึงพากันแห่เปิดร้าน แต่กลับไม่ได้ศึกษาพฤติกรรมลูกค้าให้ดีซะก่อนว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน เลือกซื้อสินค้าอย่างไร ซึ่งแน่นอนเลยว่าหากพ่อค้า-แม่ค้าคนไหนยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะขายของให้ได้เป็นเทน้ำเทท่า

 ขายของไม่ดี
  ภาพจาก Iryna Rasko / Shutterstock.com

9. สินค้าราคาสูงเกินคุณภาพ

          อย่างที่เห็นว่า ปัจจุบันการแข่งขันในทุกธุรกิจสูงมาก ซึ่งถ้าสินค้าไม่ดีกว่าคนอื่นจริง ๆ หรือคุณภาพก็งั้น ๆ แล้วยังไปตั้งราคาขายแพงกว่าชาวบ้าน โอกาสที่สินค้าของเราจะขายไม่ได้ก็มีสูง เพราะลูกค้ามีตัวเลือกมากมายที่จะไปซื้อกับร้านอื่นที่มีราคาถูกกว่า แถมคุณภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันมากอีกด้วย แต่ถ้าเป็นสินค้าราคาสูงที่มาพร้อมกับคุณภาพเกรดพรีเมียม เชื่อเถอะว่าต่อให้แพงยังไงก็ยังมีคนซื้อ บางร้านนี่ถึงกับต่อคิวรอข้ามวัน หรือปิดจองตั้งแต่วันแรกเลยก็มี

 
10. ขายสินค้าตามกระแสเกินไป

          การขายสินค้าที่อยู่ในกระแสไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องดูด้วยว่าเราอยู่หัวขบวนหรือหางขบวนของกระแสนั้น ไม่ใช่ว่าพอเห็นสินค้านั้นขายดิบขายดีแล้วแห่ไปขายตาม ๆ กันจนเกร่อไปหมด ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ต้องตัดราคาแข่งกันเป็นว่าเล่น สินค้าก็เลยขายไม่ได้อย่างที่หวัง หรือบางคนกระโจนเข้าไปในช่วงหลัง ๆ ที่กระแสเริ่มหมด ตลาดเริ่มวาย แบบนี้ก็เลยขายไม่ได้ ทุนจมอีกต่างหาก

ขายของไม่ดี
ภาพจาก boivin nicolas / Shutterstock.com


11. สินค้าที่ขายอยู่ในช่วงโลวซีซั่น

          มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยเลยที่อิงตามฤดูกาล หรือเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งจะขายดีมาก ๆ ในบางช่วง แต่หากพ้นช่วงนั้นไปก็จะขายไม่ดี ยอดขายตก เช่น น้ำแข็งไส ไอศกรีม ที่จะขายดีในหน้าร้อน หรือพวกของประดับปีใหม่ การ์ดอวยพร กระเช้าของขวัญ ที่ขายดีช่วงสิ้นปี ดังนั้นถ้าใครรู้ว่าสินค้าที่ตัวเองขายมีฤดูกาลของมัน แต่อยากขายดีตลอดทั้งปี ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนหมุนเวียนนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาเสริม เพื่อเป็นรายได้ในช่วงที่สินค้าหลักของเราอยู่ในช่วงนอกฤดูกาล

 
 12. กลุ่มลูกค้าเริ่มลดลง

          เราน่าจะเห็นข่าวกันอยู่เรื่อย ๆ ว่าตอนนี้เด็กเกิดน้อยลงมาก คนไม่ค่อยนิยมมีลูกกันแล้ว แน่นอนเลยว่าสินค้าที่เกี่ยวกับเด็กได้รับผลกระทบกันไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นของใช้เด็ก ของเล่น หรือแม้แต่สถานที่อย่างโรงเรียน หรือสวนสนุก นี่ยังไม่รวมถึงสินค้าทั่วไปที่ก็คงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จากจำนวนคนที่น้อยลง การบริโภคก็น้อยลงตามด้วย ขณะที่ประเทศไทยและสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งก็รู้กันดีว่าคนกลุ่มนี้ใช้จ่ายน้อยอยู่แล้ว ไม่ค่อยซื้ออะไร ไม่ค่อยอยากไปเที่ยวที่ไหน ดังนั้นการที่จะออกสินค้าอะไรมาแล้วขายดิบขายดีง่าย ๆ เหมือนแต่ก่อน ก็คงจะเป็นเรื่องยากสักหน่อย


        แน่นอนว่าการขายของคงไม่มีใครที่ขายดี หรือขายไม่ดีไปทุกวัน แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้หรือเปล่า เพราะเชื่อเถอะว่าในวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาสเสมอ ขึ้นอยู่ที่ใครจะมองเห็นแล้วคว้าโอกาสนั้นมาได้ก่อนเท่านั้นเอง  
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 สาเหตุที่ทำให้ขายของไม่ดี พ่อค้า-แม่ค้าที่ไม่อยากเจ๊ง ต้องอ่าน ! อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2564 เวลา 17:31:56 170,307 อ่าน
TOP