3 เรื่องต้องรู้ หากคิดจะจ่ายบัตรเครดิตไม่เต็ม

หนี้บัตรเครดิต

          เมื่อคิดจะรูดบัตรเครดิต ควรกันเงินส่วนหนึ่งไว้ให้เท่ากับจำนวนเงินที่รูดบัตรไปทุกครั้ง เพื่อเตรียมจ่ายแบบเต็มจำนวนและตรงเวลา ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายและไม่ถูกยกเลิกระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป
 
           บัตรเครดิตถือเป็นไอเท็มยอดฮิตสำหรับคนสมัยนี้ เพราะเวลาไปช้อปปิงที่ไหนก็สามารถหยิบออกมาใช้ได้ตลอดเวลา ด้วยความที่รูดง่าย จ่ายไว บางคนก็เลยไม่สนใจวางแผนการใช้จ่ายบัตรเครดิตกันสักเท่าไร ทำให้พอถึงกำหนดจ่ายเงินแล้วก็ไม่มีเงินไปจ่ายแบบเต็มจำนวน แถมยังมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากรูดบัตรแล้วจ่ายไม่เต็มอีกด้วย ซึ่ง K-Expert  อยากขอเตือนกับ 3 เรื่องต้องรู้ หากคิดจะจ่ายบัตรไม่เต็ม

หนี้บัตรเครดิต

1. ถูกคิดดอกเบี้ยทันทีตั้งแต่วันที่เราซื้อของ
 
          เรื่องนี้หลายคนชอบคิดไปเองว่า หากเรารูดบัตรแล้วจ่ายไม่เต็มจะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่เราค้างจ่ายบัตรเครดิต คือค้างจ่ายวันไหนก็จะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แต่จริง ๆ เราจะถูกคิดดอกเบี้ยสูงสุด 20% ต่อปีทันทีตั้งแต่วันที่เราซื้อของ หรือวันที่สถาบันผู้ออกบัตรจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการแทนเราไปก่อน และคิดเป็นรายวันจนกว่าเราจะชำระหนี้หมดด้วย เช่น

          ถ้าเราไปช้อปปิงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 โดยรูดบัตรไป 50,000 บาท พอถึงวันครบกำหนดชำระคือวันที่ 20 มีนาคม 2560 แล้วไม่มีเงินไปจ่ายแบบเต็มจำนวน จึงจ่ายไปเพียง 30,000 บาท ดังนั้น เราจะถูกคิดดอกเบี้ยทันทีตั้งแต่วันที่รูดบัตร คือ 8 กุมภาพันธ์ 2560

หนี้บัตรเครดิต

2. ถูกคิดดอกเบี้ยทั้งจากยอดเงินที่ค้างจ่ายและยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบบัญชีนั้น

          มีอีกหลายคนเช่นกันที่มักเข้าใจว่า หากเรารูดบัตรแล้วจ่ายไม่เต็มจะถูกคิดดอกเบี้ยเฉพาะยอดเงินที่เราค้างจ่ายเท่านั้น เช่น จากตัวอย่างข้างต้น เราค้างจ่ายอยู่ 20,000 บาท ดังนั้น ดอกเบี้ยก็ควรจะคิดจากยอด 20,000 บาทที่เรายังค้างจ่ายอยู่นี้ แต่ในความเป็นจริง นอกจากจะถูกคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ค้างจ่ายแล้ว เรายังถูกคิดดอกเบี้ยจากยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบบัญชีนั้นด้วย เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างวิธีคิดดอกเบี้ยกัน
 
หนี้บัตรเครดิต

          ดอกเบี้ยส่วนแรก จะคิดจากยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบบัญชีที่แล้ว คือ ยอดเงิน 50,000 บาท โดยจำนวนวันที่คิดดอกเบี้ยจะนับจากวันที่เราใช้จ่าย (8 กุมภาพันธ์ 2560) จนถึงวันก่อนที่ธนาคารจะได้รับชำระเงิน (19 มีนาคม 2560) รวม 40 วัน (50,000 x 20% x 40) / 365 = 1,096 บาท

          ดอกเบี้ยส่วนที่สอง จะคิดจากยอดเงินต้นคงเหลือ คือ 50,000 - 30,000 = 20,000 บาท โดยจำนวนวันที่คิดดอกเบี้ยจะนับจากวันที่เราชำระเงินบางส่วน (20 มีนาคม 2560) จนถึงวันสรุปยอดรายการในเดือนถัดไป (5 เมษายน 2560) รวม 17 วัน (20,000 x 20% x 17) / 365 = 186 บาท

          รวมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในงวดแรกเท่ากับ 1,096 + 186 = 1,282 บาท โดยหากเรายังไม่มีเงินไปปิดหนี้บัตรเครดิต ทำให้มียอดค้างจ่ายอยู่ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยวนไปเรื่อย ๆ

3. หากใช้บัตรเครดิตใบเดิมไปรูดซื้อของ ยอดใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกคิดดอกเบี้ยไปด้วย
 
หนี้บัตรเครดิต

          หลายคนคิดว่า หากเรารูดบัตรแล้วจ่ายไม่เต็ม ก็ยังใช้บัตรเครดิตใบเดิมไปรูดซื้อของได้อีก โดยยอดใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ถูกคิดดอกเบี้ยเพราะเป็นคนละส่วนกัน แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า หากทำแบบนั้น ยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกคิดดอกเบี้ยไปด้วย เพราะเราได้ถูกยกเลิกระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไปแล้ว ดังนั้น แนะนำให้หยุดใช้บัตรเครดิตใบเดิมไปก่อน แล้วรีบหาเงินมาชำระหนี้บัตรให้หมด หลังจากนั้นถึงจะใช้บัตรเครดิตใบเดิมได้ตามปกติ  

          มาถึงตรงนี้ น่าจะทำให้หลายคนได้เข้าใจแล้วว่า หากรูดบัตรแล้วจ่ายไม่เต็มจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทางที่ดีแนะนำว่า เมื่อรูดบัตรเครดิตไปเท่าไร ให้กันเงินเท่ากับจำนวนที่รูดบัตรไปทุกครั้ง เพื่อเตรียมจ่ายแบบเต็มจำนวนและตรงเวลา นอกจากจะเป็นการสร้างวินัยในการใช้บัตรเครดิตแล้ว ยังช่วยให้เรามั่นใจว่าจะมีเงินไปจ่ายแบบเต็มจำนวนเมื่อถึงเวลา และไม่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายตามมาให้ต้องปวดหัวอีกด้วย

K-Expert Action

          • พิจารณาถึงความจำเป็นในการซื้อของ และความสามารถในการชำระแบบเต็มจำนวนก่อนตัดสินใจรูดบัตรเครดิต
          • หากมีหนี้บัตรเครดิต ควรปิดหนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่าย เนื่องจากเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 เรื่องต้องรู้ หากคิดจะจ่ายบัตรเครดิตไม่เต็ม อัปเดตล่าสุด 5 พฤษภาคม 2560 เวลา 11:54:20 23,512 อ่าน
TOP
x close