ดร.สมเกียรติ ชี้ ไทยพีบีเอส ซื้อหุ้นกู้ CPF ไม่ขัดกฎหมาย ถือเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น


ไทยพีบีเอส ซื้อหุ้น CPF

          ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แจงกรณี ไทยพีบีเอส รับซื้อตราสารหนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ขัดหลักองค์กรสื่อสาธารณะหรือไม่ หลังวิจารณ์แซ่ดจะเสียความอิสระในการเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับ CPF

          ก่อนหน้านี้มีกระแสวิจารณ์แซ่ดเกี่ยวกับกรณีที่ไทยพีบีเอสได้ลงทุนซื้อตราสารหนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ว่าการที่นำเงินไปซื้อหุ้นกู้อาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ โดยเฉพาะการทำข่าวเกี่ยวกับภาคประชาชน นอกจากนั้นอาจเป็นการขัดต่อมาตรา 11 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในเรื่องการนำเงินทุนและรายได้ขององค์การไปใช้ ว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 14 มีนาคม 2560 ที่เฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich ของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวหลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ระบุว่า จากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องไทยพีบีเอส ซื้อตราสารหนี้ (หุ้นกู้) ของ CPF นักข่าวหลายคนติดต่อสัมภาษณ์ตน ซึ่งตนได้ให้สัมภาษณ์ไปเพียงบางแห่งเท่านั้น เพราะไม่สามารถตอบคำถามต่าง ๆ ทีละครั้งได้หมด จึงขอแสดงความเห็นในบางประเด็น ดังนี้


          ประเด็นแรก มีคำถามว่าไทยพีบีเอส ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะไม่ควรลงทุนในตลาดทุน เพราะจะเป็นการแสวงหาผลกำไรใช่หรือไม่ ? มาตรา 11 ของกฎหมายไทยพีบีเอส เขียนไว้ชัดเจนว่า รายได้ของไทยพีบีเอส มาจาก 7 แหล่ง โดยแหล่งหนึ่ง คือดอกผลที่เกิดจากเงิน หรือทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุน

          การที่ไทยพีบีเอส ไปลงทุนในการซื้อตราสารหนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในข้อกฎหมายแต่อย่างใด ในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติที่องค์กรสาธารณะ ซึ่งรวมถึงองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เอาทรัพย์สินของตนไปลงทุนในตลาดทุน (ซื้อหุ้น ตราสารหนี้และอื่น ๆ) เพราะหากจะให้เอาเงินไปฝากธนาคารอย่างเดียวก็จะได้ผลตอบแทนต่ำมาก ไม่เพียงพอกับการนำไปสนับสนุนกิจกรรมขององค์กร

          โดยเฉพาะในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากเช่นในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐ เป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่มีผลตอบแทนสูงเกินกว่า 10% ต่อปีต่อเนื่องหลายปี จากการลงทุนอย่างฉลาดในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจร่วมลงทุน (venture capital) ในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดว่า องค์กรสาธารณะไม่สามารถ หรือไม่ควรลงทุนใด ๆ นอกจากฝากเงินกับธนาคาร มิฉะนั้นจะเป็นการแสวงหาผลกำไร ซึ่งผิดวัตถุประสงค์องค์กร ผลก็คือองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งมูลนิธิจำนวนมาก มีปัญหาการขยายกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของตนเพราะขาดเงินทุน

          ในความเป็นจริง เส้นแบ่งของหน่วยงานแสวงหาผลกำไร และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร คือ มีการนำส่วนของรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายมาแบ่งกันในรูปเงินปันผลหรือไม่ ไม่ใช่ว่ารายได้มาจากไหน

          ประเด็นที่สอง มีคำถามว่า การไปลงทุนตราสารหนี้ของ CPF จะทำให้ไทยพีบีเอส เสียความอิสระในการเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับ CPF หรือไม่ ?

ดร.สมเกียรติ ชี้ ไทยพีบีเอส ซื้อหุ้น CPF ไม่ขัดกฎหมาย ถือเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น

          การลงทุนตราสารหนี้ของ CPF ทำให้ไทยพีบีเอส มีฐานะเป็น "เจ้าหนี้" ของ CPF ไม่ใช่เป็น "ผู้ถือหุ้น" ดังที่จะเกิดจากการลงทุนในหุ้น ความแตกต่างก็คือ เจ้าหนี้จะได้ผลตอบแทนในอัตราแน่นอนคือ ดอกเบี้ย โดยไม่ขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทเหมือนการได้เงินปันผลของผู้ถือหุ้น

          ในแง่มุมดังกล่าวกรณีนี้จึงไม่แตกต่างจากการที่ไทยพีบีเอส เอาเงินไปฝากธนาคารสักแห่ง เพราะมีผลทำให้ไทยพีบีเอสมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารนั้นเช่นกัน และไม่น่าจะทำให้ไทยพีบีเอส ทำข่าวที่เกี่ยวกับธนาคารนั้นอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ ตนไม่คิดว่าไทยพีบีเอส ในฐานะเจ้าหนี้ จะต้องไปเกรงอกเกรงใจ CPF ซึ่งเป็นลูกหนี้ ในการทำข่าวแต่อย่างใด


ดร.สมเกียรติ ชี้ ไทยพีบีเอส ซื้อหุ้น CPF ไม่ขัดกฎหมาย ถือเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น
          ถ้าจะมีความเสี่ยง ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อ แต่เป็นความเสี่ยงทางการเงินกรณีที่ลูกหนี้ไม่ใช้เงินคืน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีนี้เพราะเครือซีพีมีฐานะการเงินมั่นคง

          ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติ ยังบอกอีกว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนของไทยพีบีเอส ในตราสารหนี้ของ CPF จะไม่มีประเด็นคำถามเลย เพราะการไปลงทุนที่เฉพาะเจาะจงในกิจการใดนั้น นอกจากจะมีมิติด้านการเงินแล้ว ยังมีมิติในเชิงสัญลักษณ์ด้วย โดยการลงทุนนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนองค์กรที่ไปลงทุนนั้น

          ในต่างประเทศ กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนบำนาญข้าราชการของแคลิฟอร์เนีย (CalPERS) ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า จะหลีกเลี่ยงจากการลงทุนในกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหวังว่าความเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตนจะช่วยปรับพฤติกรรมของบริษัทต่าง ๆ ได้

          ในประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการตั้ง "กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย" ซึ่งมุ่งลงทุนในหุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี แล้วเอาเงินปันผลส่วนหนึ่งไปสนับสนุนงานต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งมีผลดีทั้งมิติทางสังคม และมิติทางสัญลักษณ์

          ดังนั้น คำถามในเรื่องนี้ก็คือไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่มีภารกิจเพื่อมุ่งสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ ควรลงทุนใน CPF หรือไม่ ? หากดูท่าทีของสาธารณะต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเครือซีพีในกรณีต่าง ๆ ที่ผ่านมา ตนเห็นว่า ผู้บริหารไทยพีบีเอส ควรพิจารณาทบทวนการลงทุนนี้อีกครั้ง เรื่องนี้ไม่ถึงกับมีผลกระทบเสียหายอะไรมากมาย ถ้าทำไปโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ ก็คิดใหม่ ทำใหม่ได้



อ่านเพิ่มเติม หุ้นไทย <<ข่าวหุ้นวันนี้ การลงทุนที่น่าสนใจ <<

ภาพและข้อมูลจาก thaipbs, เฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดร.สมเกียรติ ชี้ ไทยพีบีเอส ซื้อหุ้นกู้ CPF ไม่ขัดกฎหมาย ถือเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2564 เวลา 13:54:53 3,724 อ่าน
TOP
x close