x close

วิธีเก็บเงินส่งลูกเรียนนอกเก๋ ๆ ด้วยเงินลดหย่อนภาษี

วิธีเก็บเงิน

          ส่งลูกเรียนนอกให้เก๋ ต้องมีวินัยในการลงทุน พร้อมรับสิทธิลดภาษีจากการลงทุนไปพร้อม ๆ กัน  
 
          คนเป็นพ่อเป็นแม่ ร้อยทั้งร้อยก็อยากให้ลูกเติบโตได้ดี และหลาย ๆ บ้านก็ใฝ่ฝันอยากให้ลูกได้เรียนต่อต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทั้งวิชาความรู้และภาษา เพิ่มโอกาสในการหางานหรือเลือกแนวทางการทำงานที่ชอบได้มากขึ้น

          แต่พอคำนวณค่าใช้จ่ายแล้วจะเห็นว่าสูงจนน่าตกใจ เพราะค่าเรียนรวมค่ากินอยู่จนเรียนจบในต่างประเทศ เช่น ประเทศท็อป ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ถ้าเรียนระดับปริญญาตรี (เรียน 4 ปี) ต้องใช้เงินประมาณ 16.33 ล้านบาท หรือปริญญาโท (เรียน 2 ปี) ใช้เงินประมาณ 9.58 ล้านบาท แม้จะขยับมาเป็นประเทศในเอเชียอย่างสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกขึ้น โดยเรียนในระดับปริญญาตรี ก็ยังต้องใช้เงินถึง 9.17 ล้านบาท หรือปริญญาโท ซึ่งใช้เงินประมาณ 5.43 ล้านบาท

วิธีเก็บเงิน

          จริงอยู่ว่าเงินก้อนนี้จัดว่าไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ถ้านี่เป็นเป้าหมายที่ต้องพุ่งชน K-Expert จะลองชวนทุกคนมาวางแผนเก็บเงินก้อนนี้กัน

          หากเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันแรกที่ลูกน้อยลืมตา คุณพ่อคุณแม่จะมีเวลาเก็บเงินก้อนนี้ประมาณ 18-22 ปี โดย K-Expert แนะนำว่าควรแบ่งเงินลงทุนในกองทุนรวมทุก ๆ เดือน โดยเลือกระดับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนที่ระดับปานกลางถึงสูง ซึ่งจะมีอัตราผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 6.73% ต่อปี (คำนวณจากอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง)

          สำหรับสัดส่วนการลงทุน จะแบ่งไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 5% กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว 55% กองทุนตราสารทุนไทย 30% และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือก 10% ซึ่งเราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่เราใช้สิทธิลดภาษี อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ช่วยให้เราได้รับเงินภาษีคืนที่มากขึ้นด้วย

วิธีเก็บเงิน

          รูปแบบการลงทุน ในที่นี้ขอแนะนำ 2 กรณีด้วยกัน เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการใช้เงิน และช่วงเวลาการลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF อย่างถูกเงื่อนไข ดังนี้

กรณีที่ 1 ลูกเข้าเรียน ป.ตรี หรือ ป.โท ก่อนคุณพ่อหรือคุณแม่มีอายุครบ 55 ปี

          นั่นหมายความว่า ลูกจะใช้เงินก้อนนี้ ตอนที่เรายังอายุไม่ถึง 55 ปี การลงทุนเพื่อลดภาษีในกรณีนี้ ขอแนะนำให้เลือกลงทุนในกองทุน LTF เฉพาะในส่วนของกองทุนตราสารทุนไทย 30% ของเงินที่ลงทุนทุก ๆ เดือน ส่วนอื่น ๆ ให้เลือกลงทุนกองทุนทั่วไปที่มีนโยบายตามประเภทสินทรัพย์ที่กำหนด

กรณีที่ 2 ลูกเข้าเรียน ป.ตรี หรือ ป.โท หลังคุณพ่อหรือคุณแม่มีอายุครบ 55 ปี

          เมื่อลูกต้องใช้เงินก้อนนี้เราก็มีอายุถึง 55 ปีแล้ว ทางเลือกการลงทุนเพื่อลดภาษีอย่างกองทุน RMF จะทำให้เราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนได้ในทุกประเภทสินทรัพย์ ดังนั้น สามารถลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ไปพร้อม ๆ กัน หรือลงทุนใน RMF ทุกประเภทสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวก็ได้

          ทั้งนี้ทั้งนั้นเงินก้อนนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการมีวินัยในการลงทุนตามสัดส่วนอย่างสม่ำเสมอ และติดตามผลตอบแทนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แค่นี้ก็จะช่วยให้ถึงเป้าหมายที่วางแผนไว้เพื่อลูกได้อย่างแน่นอน แต่สำหรับใครที่คิดว่าชีวิตนี้อะไรก็ไม่แน่นอน อยากจะเพิ่มการป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เราอาจเป็นอะไรไปก่อนกำหนด การทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพไปพร้อม ๆ กับการลงทุนนี้ ก็เป็นอีกวิธีที่เพิ่มความสบายใจหายห่วงได้ว่าจะมีเงินก้อนนี้ส่งต่อให้ลูกได้ไม่น้อย
 
          เพราะความสุขใจของคุณพ่อคุณแม่คือการได้ทำอะไร ๆ เพื่อลูก แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า เราสามารถทำเรื่องนี้ได้ไหวแค่ไหน เพราะการให้ลูกใช้วิธีขอทุนการศึกษาหรือการเรียนต่อในประเทศ อาจเป็นคำตอบที่เหมาะสมกว่าก็ได้

K-Expert Action

          • จัดพอร์ตการลงทุนเพื่อการศึกษาลูกตามสัดส่วนที่กำหนดไว้
          • ทบทวนพอร์ตการลงทุนและติดตามผลตอบแทนอย่างน้อยปีละครั้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเก็บเงินส่งลูกเรียนนอกเก๋ ๆ ด้วยเงินลดหย่อนภาษี อัปเดตล่าสุด 14 มีนาคม 2560 เวลา 15:36:29 10,995 อ่าน
TOP