x close

รักจะเปย์ต้องเปย์ให้รวย (ด้วยการลงทุน)

วางแผนการเงิน

          จุดประสงค์ที่แท้จริงของการวางแผนการเงินคือ บริหารจัดการเงินที่เรามีนั้นให้มีกิน มีใช้ มีเปย์ได้อย่างสบายใจ ไม่ทุกข์ใจว่าเงินจะหมด และมีความสุขเมื่อได้เปย์
 
          ทุกวันนี้ มองไปทางไหนก็เห็น "สายเปย์" เต็มไปหมด ซึ่งบรรดาสายเปย์นั้นพร้อมควักเงินออกจากกระเป๋าได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า นักวางแผนการเงิน K-Expert จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสายเปย์ เพราะที่จริงแล้ว การวางแผนการเงิน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาแต่เก็บเงินไว้ใช้ตอนแก่อย่างเดียว แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของการวางแผนการเงิน คือ การบริหารจัดการเงินที่มีให้เพียงพอสำหรับกิน ใช้ จ่าย เที่ยว และเปย์ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องมาทุกข์ใจว่าเงินหมด ไม่พอใช้ จนกลายเป็นจุดจบสายเปย์ และเพื่อให้ทุกคนเปย์ได้อย่างสตรองและยั่งยืนมากขึ้น K-Expert จึงมีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน

วางแผนการเงิน

1. เปย์อย่างมีชั้นเชิงด้วยสูตร 50:30:20

          สูตร 50:30:20 คือวิธีแบ่งเงินเปย์ที่ดีมาก ๆ สูตรหนึ่ง และมีโอกาสที่จะประสบความสำรเร็จได้สูง เนื่องจากเป็นแผนที่ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ทั้งยังช่วยให้ชีวิตสายเปย์จัดการเงินได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อมีรายรับเข้ามาปุ๊บ ก็ให้แบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนทันที โดย 50% เป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าอาหาร อีก 30% เป็นส่วนสำหรับกิน เที่ยว ช้อปให้สำราญใจ และ 20% สุดท้ายขอให้เก็บออมไว้ลงทุน เพื่อให้เปย์ได้สตรองขึ้นในอนาคต

วางแผนการเงิน
 
2. เซฟก่อนเปย์ทีหลัง

          สายเปย์มักจะใจใหญ่ เมื่อมีเงินจึงอาจเผลอใช้เงินทั้ง ๆ ที่ก็แบ่งเงินไว้ตามสูตรแล้ว ส่งผลให้การเปย์ติดขัดไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ขอแนะนำสายเปย์ทั้งหลายให้รีบไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ และทำการผูกบัญชีกับบัญชีเงินเดือนของเรา โดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินเดือนในวันที่เงินเดือนออกไปเลย 20% ไปใส่ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ หรือจะตัดไปซื้อกองทุนรวมทุกเดือนก็ได้ จะช่วยให้ได้ดอกผลมาเปย์มากขึ้น

วางแผนการเงิน
 
3. หาทางสร้างแหล่งเปย์ในอนาคต

          เนื่องจากสายเปย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระแสรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอเพื่อการเปย์อย่างไม่สะดุด ดังนั้น เงินส่วน 20% ที่แบ่งเก็บไว้ทุกเดือนนั้นควรนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ เช่น หากจะลงทุนในกองทุนรวม  ก็ควรดูประวัติการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมว่าสม่ำเสมอหรือไม่ ประกอบกับดูด้วยว่ากองทุนนั้นอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่ หรือหากจะลงทุนในหุ้น ก็เลือกตัวที่มีอัตราการปันผลสูง หรือถ้ามีเงินทุนและมีความรู้เกี่ยวกับการดูทำเล อาจจะลงทุนซื้อคอนโดฯ แล้วปล่อยเช่าเพื่อหา Passive Income ไว้เปย์ได้อย่างสบายใจ


วางแผนการเงิน

4. เปย์ได้แต่อย่าลำบากตัวเองและคนข้างหลัง

          สิ่งที่อยากจะเตือนสายเปย์คือ ไม่ว่าจะเปย์หนักแค่ไหน อย่าลืมว่าต้องไม่เปย์จนตัวเองลำบาก และยิ่งถ้ามีคนที่ต้องดูแล เช่น ครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ก็ยิ่งต้องคิดให้เยอะก่อนจะเปย์อะไรไป และน้อย ๆ ควรจะมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินสัก 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน และเสริมความสตรองอีกขั้นด้วยการมีประกันบำนาญ และทำประกันสุขภาพให้พ่อแม่ เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในอนาคตแล้ว ยังเอาเงินประกันตรงนี้ไปลดหย่อนภาษี ได้เงินคืนภาษีมาเปย์ต่ออีกด้วย

          หากสายเปย์คนไหนสามารถจัดการเงินของตัวเองด้วย 4 ข้อนี้ได้ รับรองว่าจะมีเงินไว้เปย์ไปอีกนาน หรือถ้ายังทำไม่ได้ก็ลองทำให้ได้ดูสักตั้ง ค่อยๆ เริ่มทำให้กลายเป็นนิสัย ดีไม่ดี จากสายเปย์จะกลายเป็นสายออมไม่รู้ตัว

K-Expert Action

          · ออมเงินก่อนใช้สม่ำเสมอทุกเดือนอย่างน้อย 20% ของรายได้ในแต่ละเดือน
          · นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระยะเวลาในการใช้เงิน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รักจะเปย์ต้องเปย์ให้รวย (ด้วยการลงทุน) อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2560 เวลา 11:53:17 4,574 อ่าน
TOP