
ช่วงใกล้สิ้นปีเป็นช่วงที่หลายคนเริ่มวางแผนจัดการสิทธิลดหย่อนภาษี ทั้งสิทธิการเลี้ยงดูบุตร สิทธิการเลี้ยงดูบิดามารดา สิทธิการเลี้ยงดูคนพิการและทุพพลภาพ และอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีตัวเลือกดี ๆ ที่ทั้งได้ประโยชน์ทางภาษี และเป็นการลงทุนไปในตัว นั่นคือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่ง K-Expert มีคำแนะนำก่อนเลือกกองทุน LTF ดังนี้
กองทุน LTF ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี หากต้องการลดหย่อนภาษีปีไหนก็ลงทุนในปีนั้น ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้เฉพาะในปีที่ลงทุนเท่านั้น กองทุน LTF ไม่มีการจำกัดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกองทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กำหนด รวมถึงสามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี โดยสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องถือครองหน่วยลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน เช่น ลงทุนปี 2559 จะครบกำหนดและสามารถเริ่มขายได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
2. รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 ส่วน
สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้จากการลงทุน LTF ส่วนแรกคือ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามที่ลงทุนจริง ส่วนที่สองคือ เมื่อลงทุนครบเงื่อนไข 7 ปีปฎิทินแล้ว กำไรจากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) จะไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้เพื่อคำนวณภาษี แต่หากลงทุนใน LTF เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปี จะถือว่าซื้อเกินสิทธิ ซึ่งกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนจากส่วนที่ลงทุนเกินสิทธิ จะต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย
เช่น ผู้มีเงินได้จำนวน 1 ล้านบาท มีสิทธิลงทุนในกองทุน LTF ได้ไม่เกิน 15% เท่ากับ 150,000 บาท แต่หากลงทุนไป 200,000 บาท จะมีส่วนที่ลงทุนเกินสิทธิไป 50,000 บาท กำไรที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดนั้น จะมีกำไรจากส่วนที่ลงทุนเกินสิทธิไปด้วย ซึ่งจะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี

3. LTF ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน แต่นโยบายการลงทุนต่างกัน
กองทุน LTF มีนโยบายลงทุนในหุ้นเป็นหลักเหมือนกันทุกกองทุน แต่นโยบายและการบริหารจัดพอร์ตของแต่ละกองทุนจะแตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนได้เหมาะสม ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
- วัยเริ่มทำงาน เหมาะกับกองทุน LTF ที่มีนโยบายลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อเน้นสร้างผลตอบแทน เช่น กองทุน LTF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นแบบกำหนดจำนวนหุ้นที่ลงทุนได้ หรือลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง
- วัยกลางคน รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง อาจเลือกกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคง
- วัยก่อนเกษียณ เหมาะกับกองทุน LTF ที่มีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น เช่น ไม่เกินร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น
กองทุน LTF มีทั้งแบบที่จ่ายและไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งกองทุนแบบที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น มีข้อกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องเสียภาษี 10% จากเงินปันผล ดังนั้น ผู้ที่มีฐานภาษีสูงเกิน 10% ควรเลือกให้หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อรับเงินปันผลไปเลย เพื่อไม่ต้องนำเงินส่วนนั้นมารวมคำนวณเป็นเงินได้ เพราะอาจทำให้เสียภาษีมากขึ้น
5. หน่วยลงทุน LTF สับเปลี่ยนได้
เนื่องจากการลงทุนในกองทุน LTF เป็นการลงทุนระยะยาว จึงอาจมีบางช่วงที่ต้องเผชิญความผันผวนของตลาดหุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนสามารถบริหารพอร์ตของตัวเองได้ด้วยการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุน LTF อื่นที่มีนโยบายการลงทุนแตกต่างจากกกองทุนที่ถือครองอยู่ เช่น หากตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลงก็สามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนมายังกองทุน LTF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นแบบจำกัดสัดส่วนการลงทุน เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และเมื่อตลาดหุ้นเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นก็สามารถสับเปลี่ยนกลับไปยังกองทุน LTF เดิมที่ลงทุนได้
จะเห็นว่า กองทุน LTF เป็นการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างวินัยการออมระยะยาวแล้ว ยังสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในช่วงที่หุ้นขาขึ้น และใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
K-Expert Action
• คำนวณรายได้ในปีภาษีนั้น ๆ ว่ามีเท่าไร เพื่อให้ลงทุนไม่เกินสิทธิ
• ลงทุนกองทุน LTF ปีภาษีใด สามารถใช้หักลดหย่อนได้เฉพาะปีภาษีนั้น
• กรณีที่ไม่เสียภาษี ไม่แนะนำให้ลงทุนในกองทุน LTF เพราะจะต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน ดังนั้นผู้ที่ไม่เสียภาษีควรเลือกลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไปจะเหมาะสมกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
