x close

รฟม. แจงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คนเดินทางระยะสั้น ไม่น่าซ้ำรอยสายสีม่วง

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

          รฟม. แจงคนมีแนวโน้มใช้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในระยะทางสั้น ๆ และมีแผนหากต้องต่อขยายในอนาคต หลังคนมองอาจจะขาดทุนแบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพราะไม่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว

          จากกรณีปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีแนวเส้นทางไม่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้งานต้องเดินทางหลายต่อ ซึ่งส่อแนวโน้มจะขาดทุนเช่นเดียวกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (รถไฟฟ้าสายสีม่วง) นั้น
          คืบหน้าล่าสุด (13 กันยายน 2559) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงขอชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดแนวเส้นทางและศึกษาออกแบบเบื้องต้นไว้เมื่อปี 2552

          โดยออกแบบให้เส้นทางดังกล่าวเป็นขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) ทำหน้าที่ป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก (Main Line) 4 สาย สู่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สายสีส้ม) Airport Rail Link และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (สายสีเขียว)

          จากนั้นเมื่อ รฟม. ได้ศึกษาทบทวนในรายละเอียดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง พบว่า ผู้โดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยระยะทางสั้น ๆ เพื่อเปลี่ยนถ่ายการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายหลัก สอดคล้องกับคุณลักษณะของแนวเส้นทางที่ออกแบบให้เป็น Feeder Line ด้วยเหตุนี้ รฟม. จึงได้ออกแบบเส้นทางให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักได้อย่างสะดวก ดังนี้

               1. สถานีรัชดา เชื่อมต่อโดยตรงกับอาคารจอดรถ 9 ชั้น และสถานีลาดพร้าว ของสายเฉลิมรัชมงคล

               2. สถานีลำสาลี มีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีลำสาลี ของสายสีส้ม

               3. สถานีพัฒนาการ มีทางเดินยกระดับเชื่อมต่อโดยตรงกับสถานีหัวหมาก ของ Airport Rail Link

               4. สถานีสำโรง มีทางเดินยกระดับเชื่อมต่อโดยตรงกับสถานีสำโรง ของสายสีเขียว

          และหากมีแนวคิดจะต่อขยายเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ก็ได้เสนอไว้ 2 แนวทางคือ

               1. ต่อขยายจากสถานีรัชดา ไปตามแนวถนนลาดพร้าว และเชื่อมต่อกับสถานีห้าแยกลาดพร้าว

               2. ต่อขยายจากสถานีรัชดา ไปตามแนวถนนรัชดาภิเษก และเชื่อมต่อกับสถานีรัชโยธิน

          อย่างไรก็ตามในทางด้านเทคนิคพบว่า ใต้แนวถนนลาดพร้าวจากแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปถึงแยกตัดกับถนนพหลโยธิน มีอุโมงค์รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลอยู่แล้ว การก่อสร้างโครงสร้างยกระดับบริเวณเหนือแนวอุโมงค์จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบต่อความปลอดภัยของโครงสร้างอุโมงค์ ดังนั้นทางเลือกที่ 1 จึงไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการอย่างยิ่ง

          ส่วนทางเลือกที่ 2 รฟม. ได้ออกแบบโครงสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ให้สามารถต่อขยายเส้นทางไปตามถนนรัชดาภิเษกได้อยู่แล้ว หากในอนาคตปรากฏว่ามีความเหมาะสมที่จะต่อขยายเส้นทางออกไปอีก รฟม. จะได้ศึกษาออกแบบเพื่อต่อขยายต่อไป

ภาพจาก เฟซบุ๊ก โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รฟม. แจงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คนเดินทางระยะสั้น ไม่น่าซ้ำรอยสายสีม่วง อัปเดตล่าสุด 13 กันยายน 2559 เวลา 16:03:03 15,529 อ่าน
TOP