ชาวสวนยางพารา จี้ให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือ หลังราคาตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี เหลือ 4 กิโลกรัม 100 บาท ด้านบิ๊กฉัตร ยันราคายางยังไม่ต่ำถึง 4 กิโลกรัม 100 บาท เล็งส่งผู้ช่วยลงพื้นที่พบกลุ่มชาวสวนยาง เพื่อหาทางออกร่วมกัน วันที่ 12 มกราคมนี้
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคายางพาราได้ตกต่ำหนักสุดในรอบหลายสิบปี ตั้งแต่มียางพาราเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคากิโลกรัมละ 25 บาท หรือเท่ากับ 4 กิโลกรัม 100 บาท และคาดว่าในช่วงเปิดกรีด ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม บวกกับยางในโกดังรัฐบาลที่มีกว่า 4 แสนตัน ที่ยังไม่ได้ระบายออก อาจเป็นตัวกดตลาด ส่งผลให้ราคาตกลงมากไปกว่านี้
และในตอนนี้ พบว่ามีชาวสวนยางบางส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ถึงขั้นต้องกู้เงินนอกระบบมาเป็นค่าใช้จ่าย มีหนี้สินมากขึ้น บางรายต้องเริ่มโค่นต้นยางเพื่อขายต้นนำมาปลดหนี้ และยอมให้ไฟแนนซ์ยึดรถยนต์ รถจักรยานยนต์บ้างแล้ว เพราะไม่สามารถผ่อนส่งต่อได้ โดยในเบื้องต้นได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล 6 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ในการนำยางในสต็อก 300,000 ตัน มาทำถนน โดยส่งยางพาราทั้งหมดให้ อบจ. หรือท้องถิ่นทั่วประเทศนำไปผลิต เพราะหากรอให้ทางกรมทางหลวง นำยางไปผสม 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์ของยางมะตอยกับเอกชน ทำให้ไม่มีการนำยางไปผลิตอย่างจริงจัง จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร
2. ให้เรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 เนื่องจากตั้งแต่แต่งตั้งยังไม่มีการประชุม
3. ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้แปรรูปยางให้มีมาตรฐาน เพราะหลายกลุ่มทำได้แต่ติดขัดที่การรับรองจากภาครัฐ
4. เร่งจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท ให้ทั่วถึง
5. เร่งหามาตรการหยุดการไหลของราคาไม่ให้ตกต่ำ
6. เรียกผู้ผลิตในกลุ่มอาเซียนมาหารือ เพราะเกษตรกรทุกประเทศขณะนี้เดือดร้อนหนัก ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดขอให้ทำอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 12 มกราคมนี้ แกนนำชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด เตรียมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางเคลื่อนไหว เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่จังหวัดตรัง
ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ ชี้ว่าสาเหตุของราคายางที่ตกต่ำในขณะนี้ เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ภาคอุตสาหกรรมของจีนตกต่ำต่อเนื่อง 5 เดือน บวกกับราคายางสังเคราะห์ ทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น นอกจากนี้จีนยังหันไปซื้อยางจากประเทศเวียดนาม เพราะราคาถูกและขนส่งใกล้กว่าซื้อจากไทย จึงอยากแนะนำให้รัฐบาลเร่งเจรจาความร่วมมือกับรัฐบาลจีน ในการตั้งศูนย์การผลิตยางพาราขึ้นในไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตยางให้แก่จีน ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
ขณะที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ หรือบิ๊กฉัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงราคายางพาราในขณะนี้ว่า ต้องยอมรับว่าราคายางในตอนนี้ เป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำและทำให้เกษตรกรเดือดร้อน แต่เป็นการตกต่ำในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก และขอยืนยันว่า ราคายางยังไม่ตกถึง 4 กิโลกรัม 100 บาท เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ราคายางพาราแผ่นดิบอยู่ที่ 34.32 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 35 บาท เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศผู้ซื้อยางซบเซา และราคาน้ำมันที่ต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบกับกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ ในวันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อรับฟังและร่วมคิดว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มองว่าการช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างยั่งยืน โดยชดเชยไร่ละ 1,500 บาท ผู้ได้รับประโยชน์ คือ ทั้งเจ้าของสวนยางและคนกรีดยาง นอกจากนี้ เรายังอยากจะช่วยให้เกษตรกรสวนยางมีอาชีพเสริม อาทิ การปลูกกล้วยหอมทองแซมในร่องสวนยางพารา อย่างที่ชาวสวนยางใน จ.สุราษฎร์ธานี หรือพื้นที่อื่น ๆ ได้ทำไว้
พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวถึงกรณีที่เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายชดเชย กิโลกรัมละ 50-60 บาท ว่า ตนไม่อยากให้มีการตั้งราคาแบบนั้น เพราะอยากให้มองถึงข้อเท็จจริงด้วย อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางมาโดยตลอด
สำหรับการแก้ปัญหาราคายางนั้น ต้องมีการหารือหลายภาคส่วน เนื่องจากราคายางผูกพันกับราคาตลาดโลก เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ สิ่งที่ต้องเร่งทำในขณะนี้ คือ การระบายยางใหม่ออกจากตลาดให้มากที่สุด และในเร็ว ๆ นี้ ตนจะเดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อเจรจาขายยางเพิ่ม นอกจากรัสเซีย ส่วนกับประเทศจีน ได้เซ็นสัญญาขายให้แล้ว กำลังส่งมอบในเดือนมีนาคมเป็นเวลา 12 เดือน จนครบ 2 แสนตัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก