
ภาพจาก Nattakit Jeerapatmaitree / Shutterstock.com ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
กทม. ผุดโปรเจคท์รถไฟฟ้าสายสีทอง เชื่อมต่อจาก BTS กรุงธนฯ วิ่งผ่านเจริญนคร คลองสาน ย้ำ ไม่เวนคืนที่ดินในการสร้าง ขณะที่ชาวบ้านเสนอให้ไปต่อถึงราษฎร์บูรณะและศิริราช
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (ส.จ.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชน ในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้าธนบุรี - เขตคลองสาน - ประชาธิปก) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ กทม. ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา โดยคาดว่าจะได้รับข้อมูลครบถ้วนในเดือนมกราคม 2559 และจะสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม 2560
นายทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกคือช่วง กรุงธนบุรี - แยกคลองสาน (BTS กรุงธนบุรี - แยกโรงพยาบาลตากสิน) ลงทุนประมาณ 2-3 พันล้านบาท ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร วิ่งมาตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณาราม มุ่งหน้าไปตามถนนเจริญนคร ผ่านถนนเจริญรัถ แยกคลองสาน และสิ้นสุดหน้าโรงพยาบาลตากสิน มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีไอคอนสยาม (G2) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 และสถานีคลองสาน (G3)
ส่วนเฟสที่ 2 จากโรงพยาบาลตากสิน - วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 1 กิโลเมตร มี 2 สถานี ได้แก่ สถานี G4 อยู่ก่อนถึงโรงเรียนจันทรวิทยา และสถานี G5 อยู่ก่อนถึงวัดอนงคารามวรวิหาร โดยงบประมาณส่วนหนึ่ง จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือกลุ่มไอคอนสยาม นับเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบสายรองของ กทม. และเมื่อโครงการสร้างเสร็จ เอกชนจะโอนให้เป็นทรัพย์สินของ กทม. ทั้งหมด และ กทม. จะเป็นผู้บริหารจัดการ จัดเก็บค่าโดยสารเป็นรายได้ให้กับท้องถิ่น
ทั้งนี้ ในปีหน้าจะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อนำบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้า รวมถึงทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ E.I.A. ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะไม่มีการเวนคืนใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจะประมูลก่อสร้างและบริหารจัดการพร้อมกัน หรืออาจจะให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) รับไปดำเนินการ เพราะการก่อสร้าง จะสร้างบนเกาะกลางถนนและทางเท้า จึงทำให้มีความยืดหยุ่นในการจัดรูปแบบสถานี และช่วยรับส่งคนเข้าระบบหลักอย่าง BTS สายสีม่วงและสายสีแดงได้ในอนาคต คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีทองจะมีผู้ใช้บริการ 47,000 คนต่อวัน เนื่องจากพื้นที่แนวรถไฟฟ้าวิ่งผ่านนั้น มีชุมชน ที่พักอาศัย ตั้งอยู่หนาแน่น และมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงในอนาคต
ขณะที่แหล่งข่าวจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในโครงการรถไฟฟ้า สายสีทอง ให้ความเห็นว่า ไม่อยากให้ กทม. ขยายรถไฟฟ้าเพียงเพื่อเอาใจเอกชนรายใดรายหนึ่ง ด้วยการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่ควรคำนึงถึงความสำคัญของโครงการ และขยายเส้นทางออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น ด้วยการเจรจากับ BTS ให้ลงทุนสร้างในช่วงสถานีกรุงธนบุรี – แยกโรงพยาบาลตากสิน
ส่วนช่วงจากแยกโรงพยาบาลตากสินไปแยกบ้านแขก (เชื่อมกับสายสีม่วงใต้ เตาปูน-พระประแดง) ควรเจรจากับเอกชน คือบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นเจ้าของ ให้เข้ามาร่วมลงทุน และเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่รองรับโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่จะเปิดในเดือนธันวาคม 2560 ของไอคอนสยาม
ส่วนเส้นทางจากสี่แยกบ้านแขก เชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีอิสรภาพและสิ้นสุดที่ใกล้โรงพยาบาลศิริราชนั้น ควรใช้งบของ กทม. ดำเนินการ หากยังไม่มีเอกชนสนใจลงทุนช่วงนี้ และจากช่วง BTS กรุงธนบุรี - ถนนราษฎร์บูรณะ ควรเจรจากับธนาคารกสิกรไทยให้ร่วมลงทุน เพื่อขยายเส้นทางไปถึงหน้าธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

