การลงทุนธุรกิจ SME ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากรู้วิธีรับมือที่ดี ผู้ประกอบการรายย่อยก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตได้
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบก่อนใครอื่นเลยก็คือกลุ่มธุรกิจรายย่อย หรือกลุ่มธุรกิจ SME เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่าธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งถ้าหากไม่มีวิธีรับมือที่ดีเพียงพอก็อาจจะทำให้ธุรกิจรายย่อยพบกับปัญหาด้านการเงิน หรือบางรายก็อาจจะไม่สามารถยืนหยัดได้ วันนี้เราก็มีวิธีรับมือกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจง่าย ๆ จากนิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวยมาฝากกัน อยากให้ธุรกิจผ่านมรสุมปัญหาเศรษฐกิจไปได้ละก็ วิธีเหล่านี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยได้ดี
1. ปรับแผนกลยุทธ์การตลาดด่วน
แน่นอนแผนการตลาดในยามปกติเรามักดูที่ยอดขาย ดูทำเลขาย ดูโปรโมชั่นในการส่งเสริมการขาย เพื่อให้พนักงานมีแรงจูงใจในการขาย อาจจัดโปรอัดฉีดพนักงานขาย ทั้งหมดนั้นเมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤต ยอดขายหด ผู้ประกอบการต้องเริ่มสังเกตว่าการหดตัวของยอดขาย หดตัวเฉพาะกิจการตัวเอง หรือหดตัวในกลุ่มกิจการประเภทเดียวกัน
ถ้าหดตัวเฉพาะกิจการของเราเอง นั่นแปลว่าเรามีข้อผิดพลาดเอง ค้นให้พบ แล้วปรับกลยุทธ์ เช่น แบบสินค้าเก่า ลูกค้าไม่ซื้อซ้ำเพราะไม่มีสินค้าใหม่ แต่ถ้าเป็นการหดตัวทั้งกลุ่มกิจการประเภทเดียวกัน แปลว่าเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ควรหันมาให้ความสนใจการระบายของค้างสต็อกนาน ยอมตัดขาดทุนบางรายการเพื่อเรียกเงินสดกลับ เป็นต้น
2. เพิ่มช่องทางการขายด้วยต้นทุนต่ำ
ชั่วโมงนี้การตลาดออนไลน์ คือคำตอบ เพราะต้นทุนต่ำที่สุดในบรรดาสื่อสารมวลชนปัจจุบัน แต่การตลาดออนไลน์ก็มีข้อจำกัด และเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องสร้างกลุ่มลูกค้าด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเรียกไลค์ (Like) เรียก Follow จำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างกลุ่มลูกค้า
ข้อควรระวังการทำตลาดออนไลน์ คือ การซื้อไลค์ ซื้อสื่อโฆษณา เพราะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจไม่คุ้มกับการลงทุน ปัจจัยในการสร้างความสำเร็จในการค้าออนไลน์คือ เนื้อหาที่น่าสนใจ (Content) ทั้งภาพ ข้อความ คลิป จำเป็น ต้องตรงพฤติกรรมกลุ่มลูกค้ามาก ๆ และการโปรโมทที่ตรงพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าให้มากและกว้างที่สุดจึงจะประสบความสำเร็จมียอดขายเพิ่มขึ้น
3. เปลี่ยนจากทำธุรกิจแบบเชิงรับเป็นธุรกิจเชิงรุก
ทำเลการค้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงกระแสเศรษฐกิจดีเรามักประสบปัญหาในการหาทำเลการค้ายาก และมีค่าเช่าแพงอย่างมาก และต่อให้จ่ายแพงก็ยังไม่สามารถเลือกทำเลการค้าที่ต้องการได้ ตรงข้ามหากอยู่ในช่วงเวลาวิกฤต ทำเลการค้าต่าง ๆ กลับมีว่างให้เลือกจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถต่อรองราคาได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่จะหาทำเลการค้าใหม่ ๆ ในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมาย โดยสังเกตดูความหนาแน่นของลูกค้าในทำเลนั้น ๆ พยายามสังเกตดูในแต่ละช่วงเวลาต่างกัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีปริมาณลูกค้าเป้าหมายเพียงพอในการเปิดร้านใหม่ สาขาใหม่ หรือปรับธุรกิจให้มีระบบเครือข่าย แฟรนไชส์ หรือตัวแทนจำหน่ายเป็นจุดกระจายสินค้าเพิ่ม
ในช่วงเวลาวิกฤต คือช่วงเวลาที่นักธุรกิจต่างหา “โอกาส” สินค้าใดน่าสนใจและมีโอกาส เขาเหล่านั้นจะรีบคว้าไว้มาจัดจำหน่ายในพื้นที่ของเขาทันที นี่คือโอกาสในการขยายสาขา ขยายธุรกิจอีกช่วงเวลาหนึ่งเช่นกัน เรียกว่าไม่อยู่นิ่งรอความตายอยู่กับทำเลเดิมอีกต่อไป แต่แสวงหาโอกาสใหม่ด้วยต้นทุนต่ำในช่วงเวลาวิกฤต น่าจะสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ”
4. กลยุทธ์จัดการเรื่องเงิน
ธุรกิจใครแข็งกว่ากัน เขาวัดกันที่เงินสดในมือ ยามวิกฤตแบบนี้กลยุทธ์ทางการเงินก็กลายเป็นสิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ขาดกันไม่ได้ แม้ธุรกิจจะประสบปัญหายอดขายลด แต่ธนาคารไม่ได้สนใจว่า เราจะพบอะไรข้างนอก เขาวิเคราะห์ดูเฉพาะตัวเลขในบัญชี ยิ่งวิกฤตยิ่งต้องวิ่งตัวเลขในบัญชีให้สม่ำเสมอ ให้ความสำคัญกับการนำเงินรายได้ทุกบาทเข้าบัญชีก่อนเสมอ
ห้ามจ่ายเงินสดโดยไม่ผ่านบัญชีเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตัวเลขในบัญชีไม่แสดง สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารเงินของกิจการ ถ้าตัวเลขเดินดี ธนาคารจะเป็นฝ่ายเดินหา ไม่ใช่เราวิ่งหา อย่าลืมว่าธนาคารก็เป็นธุรกิจ และถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เขาจะเลือกเฉพาะลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินดีเท่านั้น
4 วิธีจัดการตลาดยามวิกฤต สำคัญต่อธุรกิจมาก เมื่อคุณจัดการสต็อกดี คุณก็จะมีเงินสดในมือมากขึ้น เมื่อมีเงินสดในมือมากขึ้น คุณก็สามารถสร้างตัวเลขให้สถานบันการเงินเชื่อถือ และสามารถจับจังหวะขยายธุรกิจในทำเลสำคัญได้ หรือขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ตัวแทนจำหน่ายได้มาก โดยใช้เครื่องมือออนไลน์ช่วยคุณสร้างแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือ
แม้จะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากรู้จักวิธีรับมือ และมีสติ ไม่ว่าจะปัญหาได้ก็ย่อมจะผ่านไปได้โดยที่เจ็บตัวน้อยที่สุดอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย
โดย วีรยุทธ เชื้อไทย รองผู้อำนวยการสำนักบริการผู้ประกอบการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อ (สสว.)