เรื่องภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ ดังนั้นทุกคนจึงต้องยื่นภาษี แต่ถ้าเป็นนักธุรกิจ SMEs ล่ะ ถ้าหากเพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ แต่อยากประหยัดภาษี วันนี้เรามีเรื่องราวน่ารู้ จากนิตยสาร SMEs Today เขียนโดย คุณ ถนอม เกตุเอม บล็อกเกอร์หนุ่มอารมณ์ดี เจ้าของ "บล็อกภาษีข้างถนน" อันโด่งดัง และผู้เขียนหนังสือ "รวยด้วยภาษีใครก็ทำได้" มาให้ความรู้กันค่ะ...
สำหรับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ นอกจากคำถามเรื่องการบริหารจัดการ และการวางแผนงานต่าง ๆ แล้ว มีอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนมักจะเกิดข้อสงสัยว่า "เราจะวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจแบบไหนและอย่างไรดี" เพราะเรื่องของ "ภาษี" นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการทำธุรกิจ
สำหรับคนที่เพิ่งตั้งไข่ธุรกิจมาใหม่ ๆ การลดค่าใช้จ่ายนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด อะไรประหยัดได้ให้รีบประหยัด โดยเฉพาะเรื่องของภาษี ยิ่งลดได้มากแค่ไหน ยิ่งแปลว่ากำไรของธุรกิจยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย วันนี้ผมมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ ถึงวิธีการประหยัดภาษีแบบง่าย ๆ สบาย ๆ
1. เลือกรูปแบบของธุรกิจให้ถูกต้อง
โดยปกติแล้วรูปแบบการทำธุรกิจนั้น สามารถแบ่งประเภทได้เป็น 2 ประเภท คือ "ธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา" เช่น ร้านต่าง ๆ และ "ธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล" เช่น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วน ดังนั้นก่อนที่จะทำธุรกิจ เราอาจจะต้องพิจารณาก่อนว่า รายได้จากธุรกิจในแต่ละรูปแบบนั้น เสียภาษีแตกต่างกันอย่างไร และธุรกิจของเรานั้นเหมาะสมกับรูปแบบไหนมากที่สุด
แต่สำหรับธุรกิจนิติบุคคลนั้น จะแบ่งอัตราภาษีออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ นิติบุคคลประเภท SMEs ที่มีเงื่อนไขตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ คือ เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือพูดง่าย ๆ ว่า “มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมียอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี” นั่นเอง
โดยกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีจากโครงการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้นิติบุคคล SMEs ที่มีกำไรไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนผู้ประกอบการที่มีกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 300,000-3,000,000 บาท เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 15 (จากเดิมร้อยละ 20) และเฉพาะส่วนของกำไรสุทธิที่เกิน 3,000,000 บาทเท่านั้น จึงจะเสียภาษีที่อัตราร้อยละ 20 โดยมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2558 (ที่มา: นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)
แต่สำหรับนิติบุคคลทั่วไป ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท หรือมียอดขายเกิน 30 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรกครับ สรุปได้ว่าทางที่ดีที่สุดก็คือ เราต้องคาดการณ์ธุรกิจของเราให้ถูกต้องว่า จะมีรายได้ประมาณเท่าไร และการเสียภาษีแบบไหน ตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการ และสามารถประหยัดภาษีและเวลาได้มากที่สุด
2. วางแผนใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่าง ๆ
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายด้านภาษีสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีสินทรัพย์ถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน โดยมีการให้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น
การหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรได้ ร้อยละ 40
การหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทอาคาร โรงงานได้ ร้อยละ 25
การหักรายจ่ายในการฝึกอบรมพนักงานได้ 2 เท่า
การหักค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาได้ 300%
(ที่มา: ข่าวและเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th)
สุดท้ายนี้อยากจะเน้นย้ำว่า หากเจ้าของธุรกิจอย่างเรา ๆ เข้าใจรูปแบบธุรกิจได้อย่างถูกต้อง เลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกใจ รับรองว่า SMEs ทุกท่านจะประหยัดภาษีได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจเลยล่ะครับ
ติดตามข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ภาษี สินเชื่อ บทความการเงินน่ารู้มากมาย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก