x close

ธุรกิจ Startup จับถูกทาง รายได้แตะ 100 ล้านง่าย ๆ

ธุรกิจ Startup จับถูกทาง รายได้แตะ 100 ล้านง่าย ๆ

        เศรษฐกิจหมุนวนไปตามกระแส และตอนนี้ธุรกิจ Startup ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และด้วยตัวเลขรายได้จากธุรกิจ Startup ที่ค่อนข้างสูง เลยผลักดันให้ธุรกิจเกิดใหม่ชนิดนี้น่าสนใจมากขึ้นทุกขณะ

        ธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มมีอิทธิพลในวงเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างธุรกิจ Startup เหตุผลใดที่ทำให้ธุรกิจเกิดใหม่บนโลกออนไลน์นี้จับจองพื้นที่การตลาดได้อย่างรวดเร็ว นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวยจะมาเผยเบื้องลึกของธุรกิจ Startup ให้ได้รู้กัน

        Startup เป็นผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยไอเดียที่สด ใหม่ และแตกต่าง เมื่อแปลงออกมาเป็นสินค้าหรือบริการแล้วสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจที่สูงเป็นประวัติการณ์ และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก Startup มิได้จำกัดเฉพาะโลกของเทคโนโลยี ขอเพียงใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจ หา Business Model ให้เจอ ก็สามารถที่จะทำซ้ำและขยายธุรกิจไปได้ทั่วโลก แม้เจออุปสรรคก็พลิกตัวปรับเปลี่ยนได้ไว ไม่ยึดติด จึงเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด

        Startup เริ่มง่าย แต่ก็ตายง่าย แจ้งเกิดหรือล้มเหลวมีแค่เส้นบาง ๆ กั้นอยู่ ทว่าความยิ่งใหญ่ของ Google, Facebook, Alibaba, GrabTaxi หรือแม้แต่ Ookbee Startup พันธุ์ไทย ก็ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากกระโดดลงสนาม Startup เพื่อผลิตความคิดเจ๋ง ๆ ออกมาพลิกโลก ยิ่งคิดใหม่คิดใหญ่ ก็ยิ่งมีคนนำเงินมาให้จำนวนมาก ส่งผลให้ Startup ไทยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 500 บริษัท

        การทำ Startup ทุกวันนี้แม้จะไม่เหนื่อยยากเหมือนในอดีต เพราะ Startup รุ่นไพโอเนียร์ ช่วยกันบุกเบิกปูพรมแดงไว้ให้แล้ว รอเพียงผู้ที่มีจิตวิญญาณแบบ Startup ออกมาเริ่มลุย ล้มแล้วลุกสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลกใบนี้เท่านั้น



ความสำเร็จของ Startup ทุกมุมโลก


        Google, Facebook, Alibaba บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเหล่านี้ ในอดีตเคยเป็น Startup มาก่อน ผู้ก่อตั้งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีแต่ไอเดีย ลูกบ้า และเครื่องไม้เครื่องมือในยุคดอทคอมมาช่วยกรุยทางให้ธุรกิจที่อยู่ในหัวออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงด้วยต้นทุนที่ต่ำ และวันนี้ธุรกิจเหล่านั้นก็ได้สร้างมูลค่าให้บริษัทอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น Google สร้างมูลค่าตลาดสูงถึง 12.5 ล้านล้านบาท หรือเกือบเท่า GDP ของประเทศไทย

        ชื่อของซิลิคอน วัลเลย์ โด่งดังขึ้นมาในฐานะ “ต้นน้ำ” ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ผลิตบุคลากร องค์ความรู้ วิธีคิดแบบ Startup อย่างมีแบบแผน และประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “พิมพ์เขียว” และเกิดการทำซ้ำ ๆ ไปทั่วโลก ส่งผลให้ Startup กลายเป็นเทรนด์ของผู้ประกอบการยุคใหม่ รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน

        กลุ่ม Startup ในภูมิภาคอาเซียนเติบโตสูงอย่างน่าจับตา โดยเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่มีองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อการตั้ง Startup (Startup Ecosystem) ทั้งทางด้านกฎระเบียบเทคโนโลยี แรงงานด้านไอที โดยมีรัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตี สนับสนุน ทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ติดอันดับ 10 จาก 20 เมืองดาวรุ่งธุรกิจใหม่ (Startup) ระดับโลก-อาเซียน ในปี 2558 จากการสำรวจของ Compass

        GrabTaxi แอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่สัญชาติมาเลย์ สามารถสร้างมูลค่าบริษัทได้สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนคือ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ตลาด Startup เวียดนามและอินโดนีเซียก็เติบโตตามมาติด ๆ ทำให้แหล่งเงินทุนเริ่มแห่กันมาที่ภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้

ธุรกิจ Startup จับถูกทาง รายได้แตะ 100 ล้านง่าย ๆ

Startup ไทยมาช้า แต่ก้าวกระโดด

        ประเทศไทยเริ่มเห็นเทรนด์การสร้าง Startup ในช่วงปี 2555 ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซียกว่า 10 ปี แต่ก็สร้างอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวดเร็วจนแหล่งเงินทุนต่างชาติต้องเหลียวกลับมามอง

        ในปี 2557 Startup ไทยสามารถระดมทุนรวมกันได้ทั้งปีอยู่ที่มูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่นับรวมที่ขายไป แต่ในปี 2558 ผ่านไปเพียงครึ่งปีระดมทุนไปแล้ว 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับตลาด Startup เมืองไทยเติบโต 2 เท่าทุกปี

        นอกจากนี้ยังมี Startup ไทย 2 บริษัท คือ Ookbee และ aCommerce ที่สร้างมูลค่าบริษัทสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

        แม้วันนี้ Startup ไทยจะยังไม่ติดอันดับใด ๆ ในอาเซียนหรือเอเชีย แต่คนในแวดวง Startup ต่างเชื่อตรงกันว่า หากปีหน้ามีการจัดอันดับใหม่ ประเทศไทยเราจะต้องปักหมุดอยู่ในอันดับต้น ๆ แบบไม่อายใคร

        ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 Startup และมีความหลากหลายของธุรกิจสูง ทั้ง Hardware, Software, Web, Mobile Application, Lifestyle Business และ B2B ซึ่งแม้เม็ดเงินมหาศาลจะจูงใจให้คนรุ่นใหม่หลั่งไหลเข้ามาเป็น Startup แต่อัตราความล้มเหลวก็มีสูงถึง 80-90% เลยทีเดียว

        อย่างไรก็ดี Startup ไทยมีบุคลิกเฉพาะที่แตกต่าง คือ ความเกื้อกูลกันในกลุ่ม Startup ประสาพี่ช่วยน้อง น้องถามหาพี่ส่งผลให้ Startup ไทยเรียนรู้และเติบโตขึ้นมาภายใต้ Ecosystem ที่เป็นธรรมชาติ มิได้มีการใส่ปุ๋ยเร่งผลแต่อย่างใด

ธุรกิจ Startup จับถูกทาง รายได้แตะ 100 ล้านง่าย ๆ

ระดมทุนแบบร่วมลงทุน (Venture Capital)

        ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ Startup ต้องการเงินทุน เพื่อมาผลักดันธุรกิจให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ โดยอาจเริ่มต้นจากเงินส่วนตัว หรือชวนเพื่อนฝูงมาร่วมลงทุน แต่ท้ายที่สุดก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่ขึ้น เพื่อให้ธุรกิจพัฒนา เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความเล็กและใหม่ของธุรกิจ ทำให้ผู้ให้กู้ในระบบมองว่ามีความเสี่ยงสูง จึงไม่ค่อยมีเงินทุนตกถึง Startup

        Venture Capital (VC) คือ หนึ่งในแหล่งทุนทางเลือกที่ Startup มองหา ซึ่งมีทั้งกลุ่มองค์กร หรือกองทุนร่วมลงทุนที่ต้องการนำเงินที่มีอยู่มาร่วมลงทุนกับ Startup ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยแลกกับสัดส่วนของหุ้น รวมถึงอำนาจในการตัดสินใจต่าง ๆ ระยะเวลาการลงทุนมักจะอยู่ที่ 3-5 ปี แต่การจะได้เงินมา Startup ก็ต้องมีโปรดักส์ให้เห็น หรืออย่างน้อยมี Prototype พร้อมกับจำนวนผู้ใช้มากพอในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน Business Model ที่เป็นไปได้ Financial Projection ที่สมเหตุสมผล ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและดึงดูดเงินทุนให้เข้ามาได้

        บริษัท Startup ใหญ่ ๆ ในต่างประเทศล้วนผ่านการเติบโตจากเงินทุนของ VC ทั้งนั้น เช่น Google, Facebook สำหรับ Startup ไทยหลายรายก็สามารถระดมทุนได้สำเร็จจาก VC ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น aCommerce ล่าสุดก็ระดมเงินทุนในระดับ Series A ได้ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Ardent Capital, Sinarmas และ Inspire Ventures

        ทั้งนี้ การระดมทุนของ Startup ส่วนใหญ่จะมีรอบชัดเจน ใส่ตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ อย่าง Seed Fund และใส่ระดับความมหาศาลของเม็ดเงินลงทุนไปที่ Series A, B, C โดยการระดมทุนแต่ละรอบมีวัตถุประสงค์บอกไว้เลยว่าต้องการเงินเท่าไร เอาไปทำอะไร เพื่อให้นักลงทุนพิจารณาให้เงิน อย่าง aCommerce ก็ชัดเจนว่าจะนำเงินทุนไปเพิ่มขนาดแวร์เฮ้าส์ พัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่ง และเพิ่มทีมงานกว่า 300 ชีวิต

        ในปี 2556 มีการประมาณการว่า Startup ทั่วโลกมีการระดมทุนแบบ Seed Funding (ค้นหาจุดที่ลงตัวระหว่างผลิตภัณฑ์/บริการของคุณกับผู้ใช้งาน) รวมกันกว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 51,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าเม็ดเงินลงทุนในกลุ่ม VC จะโยกมาลงทุนในธุรกิจ Startup ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และสำหรับประเทศไทย คาดว่าจะมีเงินลงทุนใน Startup ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

ธุรกิจ Startup จับถูกทาง รายได้แตะ 100 ล้านง่าย ๆ

อุปสรรคดับฝัน Startup ไทย

        แม้จะเป็นช่วงขาขึ้นของ Startup ไทย แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเราแล้ว ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมี Startup เกิดขึ้นน้อยมาก อันเนื่องมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

         ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น 2 ปีที่แล้ว Startup ผลิตแอพพลิเคชั่นออกมาเต็มไปหมด ปรากฏว่าไม่มีคนใช้ การทดสอบโปรแกรมเหมือนโยนหินลงไปในน้ำ ไม่มีฟีดแบ็คกลับมา จึงไม่สามารถดึงดูดใจนายทุนให้มาร่วมลงทุนได้

         การเข้าถึงแหล่งทุน Startup มีทุนรอนไม่เพียงพอที่จะพัฒนาโปรดักส์ ขยายตลาด ในอดีต Startup ต้องวิ่งหาทุนด้วยตัวเอง ด้วยการหาเวทีใหญ่ ๆ นำเสนอผลงานในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเริ่มมีทางเลือกมากขึ้น

         มองแต่ตลาดในประเทศ Startup ทำโปรดักส์ที่มุ่งแก้ปัญหาคนไทยอย่างเดียว ย่อมยากจะเติบโต เพราะตลาดในประเทศเล็กเกินไป ต้องทำในสิ่งที่สามารถขยายออกไปได้ทั่วโลก

         ขาดทักษะภาษาอังกฤษ ถือเป็นจุดอ่อนของคนไทยส่วนใหญ่ หาก Startup มีทักษะทางภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ย่อมได้เปรียบในการเรียนรู้ เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับ Startup มักเป็นภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันความเชี่ยวชาญทางภาษายังช่วยกรุยทางไปขยายตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

        การสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องยอมรับว่าการเติบโตของ Startup ไทย เกิดจากการที่พี่ช่วยน้อง ภาคเอกชนช่วยกันล้วน ๆ แต่หากจะเพิ่มปริมาณและคุณภาพของ Startup รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น มีมาตรการจูงใจให้ VC เข้ามาร่วมลงทุน ทำให้เกิดการระดมทุน หรือ Crowdfunding ส่งเสริมให้ Startup ออกไปนอกประเทศ หรือทำให้การ Co-Founders กับต่างประเทศง่ายขึ้น เป็นต้น

        แม้ตอนนี้ Startup ไทยจะยังเล็กมาก แต่ Startup คือธุรกิจอนาคต และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจดิจิตอล หากรัฐบาลใส่ใจให้การสนับสนุน Startup ในทิศทางที่ถูกต้อง เท่ากับเป็นการลงทุนสร้างอนาคต อีก 10 ปีข้างหน้าธุรกิจ Startup จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากบ่วงของการเป็นผู้รับจ้างผลิต ซึ่งแข่งขันกันที่ต้นทุน เพราะความแตกต่างของสินค้าน้อย เนื่องจาก Startup แข่งขันกันสร้างประสบการณ์ (Experience) และการนำเสนอคุณค่า (Value Proposition)

 ธุรกิจ Startup จับถูกทาง รายได้แตะ 100 ล้านง่าย ๆ

ระดมทุนมวลชน Crowdfunding

        Crowdfunding หรือการระดมทุนจากมวลชน ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ Startup ให้ความสนใจ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ง่ายกว่า ต้นทุนการระดมทุนต่ำกว่า และใช้เวลาสั้นกว่าการขอกู้เงินจากธนาคาร หรือ Venture Capital

        ในปี 2557 ตลาดทุน Crowdfunding ทั่วโลกมีมูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตสูงถึง 1,000% โดยเว็บไซต์ที่โด่งดังและใหญ่ที่สุดในโลกด้าน Crowdfunding คือ Kickstarter

        ความจริง Crowdfunding นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพียงแต่ Crowdfunding Plattorm สัญชาติไทยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปแบบการให้คืนเป็นรางวัล (Rewards) และการบริจาค (Donation) เช่น Afterword เปิดโอกาสให้นักเขียนระดมทุนผลิตหนังสือจากคนอ่านโดยตรง โดยเปิดระดมทุนครั้งแรกกลางปี 2557 สามารถระดมทุนได้ 1.2 ล้านบาท ภายในเวลา 9 เดือน มีการผลิตหนังสือแล้ว 8 เล่ม หรือ Taejai จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยากทำเรื่องดี ๆ เพื่อสังคม ปัจจุบันมีสมาชิก 8,000 คน มีสมาชิกสนับสนุนโครงการต่าง ๆ 2,400 คน เป็นเงิน 6.7 ล้านบาท ให้กับโครงการสร้างสรรค์ 80 โครงการเป็นต้น

        แต่จากนี้ไปคาดว่า Startup ไทย จะเห็น Crowdfunding Platform แบบ Equity ที่ให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นมากขึ้น เช่น Dreamaker ที่เปิดกว้างให้ Startup SME ศิลปินและครีเอทีฟสามารถนำโปรเจกต์ของตัวเองมาโพสต์บนเว็บไซต์แล้วเปิดระดมทุนจากคนทั่วไป เพื่อนำเงินที่ได้ตามเป้าหมายไปทำธุรกิจหรือผลงานนั้นให้สำเร็จออกมาจริง ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย สุภาวดี ใหม่สุวรรณ์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธุรกิจ Startup จับถูกทาง รายได้แตะ 100 ล้านง่าย ๆ อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2560 เวลา 12:08:49 25,934 อ่าน
TOP