สรุปภาวะเงินบาทอ่อนสุดรอบ 6 ปีครึ่ง ชี้ชะตานำเข้า-ส่งออก



สรุปภาวะเงินบาทอ่อนสุดรอบ 6 ปีครึ่ง ชี้ชะตานำเข้า-ส่งออก

           ยังคงต้องจับตาสถานการณ์เงินบาทอ่อน ต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง หลุดแนว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบธุรกิจภาคนำเข้า-ส่งออกของประเทศไทย ด้านนักวิเคราะห์มองค่าเงินบาทยังผันผวนต่อ มีแนวโน้มอ่อนลงอีก ชี้กระทบผู้นำเข้าสินค้าหนักแน่ แนะแนวทางรับมือ

สรุปภาวะเงินบาทอ่อนสุดรอบ 6 ปีครึ่ง ชี้ชะตานำเข้า-ส่งออก

          นับเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่นักลงทุนตลอดจนผู้ประกอบการต่างจับตาเป็นอย่างมาก สำหรับภาวะเงินบาทอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง นับตั้งแต่มีนาคม ปี 2552

          โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอยู่ที่ 36.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากราคาเปิดตลาดที่ 35.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศ

* เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น กระทบเงินบาท

          นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.​ มองว่าสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน

          หนึ่งในนั้นก็คือ เฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ให้มากขึ้น หลังอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงและตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงกว่าที่คาด

* เงินสกุลอื่น ๆ ในเอเชียอ่อนค่าตามเงินหยวน

          นายจิรเทพ  ชี้ว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบ ก็คือการที่เงินบาทอ่อนค่า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

* สถานการณ์หุ้นเอเชีย กระทบค่าเงินในภูมิภาค

          ในส่วนของนักวิเคราะห์ของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ มองว่าการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปตามทิศทางของตลาด ที่หุ้นลดลงทั้งภูมิภาค ทำให้นักลงทุนยังกลัวความเสี่ยงที่สกุลเงินเอเชียจะอ่อนค่าลงตามตลาดหุ้น

* สภาพเศรษฐกิจไทย กับค่าเงินบาท

           นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาเงินบาทถือว่าอยู่ในระดับแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้เงินเริ่มไหลออก

* เหตุระเบิดราชประสงค์ กดเงินบาทอ่อนหนัก

          นักวิเคราะห์และสื่อในต่างประเทศ อาทิ "เอเอฟพี" มองว่าเหตุระเบิดราชประสงค์ ซึ่งเกิดขึ้นในย่านเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย มีส่วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน กดค่าเงินบาทให้อ่อนลง รวมถึงดัชนีหุ้นในตลาดหุ้นไทยร่วงหนักสุดในรอบปี

* สถานการณ์การเมืองไทย กับความเชื่อมั่นของนักลงทุน

          นอกจากนี้ หลายประเทศยังมองว่า ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็เปรียบเหมือนกับเป็นประเทศที่ยังไม่มีประชาธิปไตย จึงยังทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการเข้ามาลงทุนไว้ก่อน และรอดูสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไป

* เอกชนห่วงบาทอ่อนกระทบนำเข้า-ส่งออก

          นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. ตัวแทนความคิดเห็นฝั่งเอกชน มองว่า

          การอ่อนค่าของเงินบาทที่หลุดระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เพราะแม้การที่เงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อการส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกจะได้รับเงินมากขึ้นในธุรกิจ แต่กลับไม่ได้ช่วยเพิ่มคำสั่งซื้อ และหากยิ่งมองลงไปให้ลึกลงไปจริง ๆ จะพบว่าไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกเลย เพราะเมื่อบาทไทยอ่อน ค่าเงินของประเทศคู่แข่งก็อ่อนเช่นกัน

          ในขณะที่ภาคการนำเข้าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการอ่อนค่าของเงินบาท เพราะต้องแบกรับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนอีกด้วย

* ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดผู้นำเข้ากระทบหนัก

          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่านั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทย แต่จะส่งผลเสียต่อผู้นำเข้า เพราะทำให้ประเมินต้นทุนการนำเข้าได้ยาก รวมทั้งผู้ประกอบการที่มีหนี้ต่างประเทศด้วย

          ทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยเร็ว

* ทนง พิทยะ มองเงินบาทอ่อนส่งผลดีต่อไทย

          ขณะที่ภาคเอกชนแสดงความเป็นกังวล นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีคลัง กลับมองว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว เพราะนอกจากจะช่วยด้านการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังทำให้คนไทยประหยัด ช่วยลดการฟุ่มเฟือยจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นจุดดี

           พร้อมกันนี้ นายทนง ยังชี้ว่า ตอนนี้ค่าเงินไทยยังแข็งอยู่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า และคงเข้าสู่ดุลยภาพที่ 36.00-36.50 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว จนถึงช่วงสิ้นปีนี้

* แนะผู้ประกอบการนำเข้า ซื้อประกันความเสี่ยง

          ด้านนายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย แนะนำว่า ผู้ประกอบการนำเข้าจะต้องประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินบาทยังมีทิศทางผันผวนไปจนถึงปีหน้า เพราะเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเฟดวันที่ 16-17 กันยายนนี้ ทำให้เงินไหลออกไปต่างประเทศ

* แนวโน้มในอนาคต

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมคือ 36.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

          นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มองว่า การที่ค่าเงินบาทอยู่ในระดับเกินกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นสัญญาณอันตราย หลังจากนี้คาดว่าค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

           ทั้งนี้ หากสถานการณ์ของจีนยังไม่ดีขึ้นและมีการประกาศลดค่าเงินหยวนอีก ประกอบกับมีการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เกิดขึ้นในเวลาพร้อม ๆ กัน เชื่อว่าภายในปีนี้ค่าเงินบาทจะทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างแน่นอน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เอเอฟพี ตีข่าวเหตุระเบิดราชประสงค์ กดเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 6 ปี

     


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปภาวะเงินบาทอ่อนสุดรอบ 6 ปีครึ่ง ชี้ชะตานำเข้า-ส่งออก อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2558 เวลา 08:54:48 17,828 อ่าน
TOP
x close