ท่าทีของสมาคมประกันชีวิตไทยได้กลายมาเป็นที่จับตาของคนในสังคม หลังเกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักถึงประเด็นร้อน "โฆษณาประกันชีวิต ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" สินค้ายอดนิยมของบริษัทประกันชีวิตที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการโฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะประกันชีวิตผู้สูงอายุ ที่ดูคล้ายจะลวงผู้สูงอายุให้สนใจ แต่แล้วท้ายที่สุดเงื่อนไขหลังทำสัญญาไม่เป็นไปตามคำโฆษณา หรือเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจนทำให้มีผู้ออกมาร้องเรียนเป็นจำนวนมาก
โวยประกันผู้สูงอายุไม่ตรวจสุขภาพ โฆษณาเกินจริง
มีกระแสการร้องเรียน หรือออกมาแฉ "กลลวงบริษัทประกันชีวิต" กันเป็นจำนวนมากผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงโซเชียลมีเดีย หลังบริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ ได้มีการโฆษณาสินค้าประกันผู้สูงอายุ ที่มาพร้อมกับคำพูดจูงใจว่าผู้สมัครทำประกันนั้น "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" ทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนมากเกิดความสนใจในสินค้าดังกล่าว เพราะเห็นว่าทำได้ง่าย แต่แล้วเมื่อตกลงใจทำประกันนั้น ๆ กลับมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การไม่ยอมจ่ายเงินผลประโยชน์ตามที่ผู้ทำประกันเข้าใจ
นอกจากนี้ยังมีข้อร้องเรียนต่าง ๆ จากผู้ทำประกันสุขภาพโดยไม่ตรวจสุขภาพ แต่สุดท้ายทางบริษัทกลับขอบอกล้าง ยกเลิกสัญญาพร้อมคืนเงินประกันให้ หลังตรวจสอบพบว่าลูกค้ามีความเจ็บป่วยตามเงื่อนไขไม่รับคุ้มครอง มาก่อนหน้าการทำประกัน
ลุยตรวจสอบบริษัทประกัน
หลังจากที่มีประชาชนจำนวนมากออกมาร้องเรียนเรื่องการถูกบริษัทประกันชีวิตเอาเปรียบ และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ของบริษัทประกันชีวิตตามที่มีการโฆษณาผ่านสื่อ โดยเฉพาะการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ
ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเตรียมยื่นหนังสือไปยังคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อขอให้มีการตรวจสอบและกำกับบริษัทประกันชีวิตเอกชนให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนด
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้-ผิดกฎหมาย
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การที่บริษัทประกันชีวิตใช้ข้อความโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ ถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย มาตรา 31 (15) ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทกระทำการโฆษณาจูงใจด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และในกรณีที่ไม่มีการคุ้มครองตามที่โฆษณาไว้ ยังอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 (1) ซึ่งระบุว่าการโฆษณาต้องไม่เป็นข้อความเท็จ เกินจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งต้องเขียนข้อความที่โฆษณาไว้ในกรมธรรม์ด้วย แต่ไม่พบบริษัทใดดำเนินการดังกล่าว
กรมธรรม์เขียนอ่านยาก อ่านไม่เคลียร์
นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นว่าแม้ผู้ทำประกันจะไม่ตรวจสุขภาพก่อนทำสัญญา แท้จริงแล้วในสัญญาได้มีการระบุถึงโรคที่ไม่ครอบคลุมหากผู้ทำประกันเป็นโรคดังกล่าวมาก่อนหน้า อย่างไรก็ตามผู้ทำประกันส่วนมากอาจไม่ทราบถึงเงื่อนไขดังกล่าวเหตุหนังสือสัญญาเป็นภาษากฎหมาย อ่านยาก ทำให้หลายคนเลือกจะไม่อ่าน อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างบริษัทประกันและผู้ทำประกันอันเกิดจากความเข้าใจไม่ตรงกันนี้อาจลดลงได้ หากบริษัทประกันเขียนหนังสือสัญญาที่อ่านเข้าใจง่าย
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากโฆษณา
ไม่ต้องตรวจหรือตอบคำถามสุขภาพ ทำได้ง่าย ๆ เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ ... บาท คือข้อความโฆษณาที่เรามักได้เห็นได้ยินกันจากโฆษณาประกันชีวิตผู้สูงอายุของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเงื่อนไขที่ดูง่ายดายในการสมัครนี้ รวมถึงการโฆษณาถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ผู้ทำประกันจะได้รับนี่เอง ที่กลายมาเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ผู้สูงอายุส่วนมากตัดสินใจทำประกันในแบบดังกล่าว โดยอาจไม่ทันสังเกตเห็นข้อความเล็ก ๆ ที่ปรากฏในโฆษณานั้น ๆ ว่า "เงื่อนไขเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์"
อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนโฆษณานี้เองที่ได้ก่อให้เกิดปัญหา เคลมยากตรงข้ามกับตอนทำ เมื่อถูกบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม หรือแม้กระทั่งการไม่ได้รับจ่ายเงินผลประโยชน์ตามทุนที่ทำไว้หากผู้ทำประกันเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก จากสาเหตุเจ็บป่วย เนื่องจากเงื่อนไขที่เหมือนกันแทบจะทุกบริษัทคือ กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยใน 2 ปีแรกหลังทำประกัน บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้รับทุนประกัน และนี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของเงื่อนไขในการทำประกันนั่นเอง
คภป. เร่งแก้-ทุกบริษัทโฆษณาให้ชัดทุกเงื่อนไข
วันที่ 28 สิงหาคม 2558 นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เปิดเผยข้อสรุปจากการหารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยโดยเน้นย้ำให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทต้องดูแลการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปภ. กำหนด โดยเฉพาะการระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปภ. กำหนดในการเสนอขายประกันผ่านสื่อโฆษณา สามารถสรุปได้ว่า ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง มีความชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่กำกวม และต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย หรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย นอกจากนี้ในการโฆษณาที่ระบุว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่
ยอมถอย-ลงมติถอดโฆษณาประกันสูงอายุทุกค่าย
สมาคมประกันชีวิตไทย ลงมติให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัท ถอดโฆษณาการขายประกันชีวิตผู้สูงอายุทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 เพื่อปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนข้อความโฆษณาให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์จากบริษัทประกัน
คุมเข้มแจ้งรายละเอียดผ่านการขายทางโทรศัพท์
ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย ชี้ว่า ในการซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านทางโทรศัพท์นั้นจะมีการบันทึกเสียงระหว่างเจ้าหน้าที่และลูกค้าในแต่ละครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ขายจะต้องแจ้งรายละเอียดเงื่อนไขกรมธรรม์ให้กับลูกค้าได้รับทราบ ทั้งนี้หากพบว่ามีเจตนาขายกรมธรรม์อย่างเดียวโดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงด้านเงื่อนไขความคุ้มครองให้กับลูกค้าได้รับทราบ เจ้าหน้าที่คนนั้นจะต้องถูกลงโทษ โดยมีโทษสูงสุดคือไล่ออก
ขีดเส้นตาย 2 เดือน ปรับปรุงโฆษณาผู้สูงอายุ
สำหรับแนวทางที่สมาคมประกันชีวิตไทย มองว่าควรนำไปปรับใช้ให้การโฆษณาประกันชีวิตผู้สูงอายุ คือการปรับเปลี่ยนข้อความโฆษณาให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์ กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้รับทุนประกัน จากนั้นในปีที่ 3 เป็นต้นไปจึงได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกัน ขณะที่รายละเอียดในเงื่อนไขในกรมธรรม์ของทุกบริษัทจะใช้เหมือนกันทั้งหมดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนก่อนเผยแพร่โฆษณาทางโทรทัศน์ได้
ข้อสรุปแนวปฏิบัติ การเสนอขายแบบประกันผู้สูงอายุ
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ได้เปิดเผยข้อสรุปเรื่องแนวทางปฏิบัติ วิธีการเสนอขายแบบประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ที่บริษัทสมาชิกยินดีให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตาม ดังนี้
1. การโฆษณาขายทางโทรทัศน์ จะดำเนินการปรับถ้อยคำการโฆษณาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีเสียงและข้อความปรากฏที่ชัดเจน เช่น กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5% โดยไม่คืนทุนประกัน
2. ในการเสนอขาย พนักงานขายจะต้องแจ้งรายละเอียดตามข้อ 1 รวมทั้งข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ ให้ลูกค้าทราบและเข้าใจ
3. กรณีการเสนอขายประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่บริษัทส่งกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย บริษัทจะต้องโทรศัพท์ไปขอคำยืนยันจากผู้เอาประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องมีรายละเอียดตามข้อ 2 พร้อมทั้งแจ้งสิทธิว่าผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วัน หากรายละเอียดในกรมธรรม์ที่ได้รับไม่ตรงกับความต้องการ
4. นำสรุปเงื่อนไขที่สำคัญมาไว้หน้าเล่มกรมธรรม์ พร้อมระบุข้อความ เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์มาแล้ว ให้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง หากพบไม่ตรงกับความต้องการ สามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้เล่มกรมธรรม์ในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือขอยกเลิกภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับเล่มกรมธรรม์ กรณีซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้า
ภาพจาก oic.or.th
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, oic.or.th