x close

ร้องนายกฯ เลิกกฎหมายใหม่ เปิดบัญชีร่วมกัน ต้องเสียภาษี 2 เด้ง

ร้องนายกฯ เลิกกฎหมายใหม่ เปิดบัญชีร่วมกัน ต้องเสียภาษี 2 เด้ง

          ประชาชนร้องยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีฉบับแก้ไขใหม่ ชี้ กระทบผู้เสียภาษีร้ายแรง แค่เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารร่วมกัน 2 คนขึ้นไป เจอภาษี 2 ต่อ บังคับใช้แล้วแต่คนไม่รู้ ด้านสรรพากรยืนยันเก็บภาษีไม่ซ้ำซ้อน ถือเป็นคนละทอด หวังดัดหลังคนใช้ช่องโหว่เดิมเลี่ยงภาษี

          เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า มีนักบัญชีรายหนึ่งได้ร้องเรียนถึงการปรับปรุงพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เนื่องจากพบว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้เสียภาษี เพราะจะเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนถึง 2 ครั้ง โดยกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 และคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าตัวเองได้รับผลกระทบด้วย จึงได้ทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยกเลิกกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าว

          ทั้งนี้ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ส่วนที่ถูกมองว่ากระทบต่อประชาชนคือการที่กำหนดให้ "ห้างหุ้นส่วนสามัญ" หมายถึงบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงทำกิจการร่วมกัน ดังนั้น การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารร่วมกัน เปิดบัญชีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ร่วมกัน ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกัน ฯลฯ ก็เข้าข่ายคำว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญ" ดังนั้นหากได้รับดอกเบี้ยธนาคาร หรือกำไรจากการขายหุ้น จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% และยังต้องนำดอกเบี้ยหรือกำไรที่เหลือไปรวมในเงินได้ เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดาในสิ้นปี เท่ากับเสียภาษี 2 ครั้ง

          ผู้ร้องระบุว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้ด้วย เพราะห้างหุ้นส่วนคือบุคคลตั้งแต่ 2 คน ทำกิจการร่วมกัน เพื่อแบ่งกำไร จะทำเป็นหนังสือ หรือตกลงกันด้วยวาจาก็ได้ เช่น แม่ลูกที่เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารร่วมกัน, ผู้ที่ขายหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อในโฉนดร่วมกัน ฯลฯ ตัวอย่างเช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อโฉนดร่วมกัน หากเป็นกฎหมายเดิมจะเสียภาษีเพียง 200,000 บาท แต่ตามกฎหมายใหม่อาจต้องเสียภาษีถึง 2-2.8 ล้านบาท

          ผู้ร้องระบุอีกว่า แม้การออกกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อลงโทษผู้เลี่ยงภาษี แต่กลายเป็นว่าผู้เลี่ยงภาษีไม่เดือดร้อน ขณะที่ ผู้ที่ทำมาหากินสุจริตกลับได้รับผลกระทบอย่างแรง นอกจากนี้ กรมสรรพากรกลับไม่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียภาษีได้ทราบรายละเอียดนี้เลย หลายคนจึงไม่รู้ ไม่ได้ยื่นเสียภาษีส่วนแบ่งกำไร จึงถูกประเมินย้อนหลัง ทำให้เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้เป็นภาระหนักขึ้นไปอีก

          อย่างไรก็ตาม นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า การเก็บภาษีแบบใหม่ไม่ได้ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนพราะถือว่าเก็บคนละทอดกัน เหมือนกรณีบริษัทจำกัด เสียภาษีนิติบุคคลไปแล้ว เวลาจ่ายเงินปันผลก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกที ส่วนกรณีนี้จะเสียภาษีนิติบุคคลในนามห้างหุ้นส่วนสามัญ พอมีกำไรเหลือก็เสียเป็นการส่วนตัวอีกที

          ส่วนประเด็นการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันนั้น อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า จริง ๆ กฎหมายมีช่องให้อยู่ว่า ถ้าถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้ว ไม่ขอคืนภาษีส่วนนี้ ก็จะจบ แต่ช่วงที่ผ่านมามีกรณีไปตั้งคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญหลาย ๆ คณะ แล้วใช้ช่องทางนี้กระจายเงินฝาก เพื่อให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี และยังสามารถขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ได้อีก ทำให้ต้องมีกฎหมายใหม่เพื่อคุมเข้มว่า ต่อไปนี้ไม่ว่าจะกระจายเงินอย่างไร สุดท้ายเงินก็ต้องกลับมาหาตัวเจ้าของ แล้วต้องไปเสียภาษีอีกที

          ด้าน นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ยอมรับว่า กฎหมายดังกล่าวกระทบต่อผลประโยชน์ของลูกค้าบ้าง แต่ทุกธนาคารก็พร้อมปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามต้องมีการหารือถึงเรื่องแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้ลูกค้าสับสน



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กรมสรรพากร
   
   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ร้องนายกฯ เลิกกฎหมายใหม่ เปิดบัญชีร่วมกัน ต้องเสียภาษี 2 เด้ง อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2558 เวลา 14:52:08 3,459 อ่าน
TOP