
นพพร ศุภพิพัฒน์
ตรวจสอบพบ กลุ่มบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ของ นพพร ศุภพิพัฒน์ ถือครองใบอนุญาตโรงไฟฟ้าพลังงานลมเกือบครึ่ง ทำราคาหุ้นพุ่ง ด้าน กพพ. สั่ง กฟผ.-กฟภ.หยุดซื้อ
วันนี้ (7 ธันวาคม 2557) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากที่การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์/ชีวมวลได้ถูกขออนุญาตไปจนเต็มโควตาที่กำหนดไว้แล้ว โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจำนวน 1,800 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมกับคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนจากผู้ประกอบการประมาณ 162,000 ล้านบาท จากความน่าสนใจที่ว่า ผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจะได้รับส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า 3.50 บาท/หน่วย รวมกับอัตราค่าไฟฟ้าฐาน 2.04-3.85 บาท/หน่วย คำนวณเป็นค่าไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบสูงประมาณ 7 บาท/หน่วยในระยะเวลา 10 ปี
และนอกเหนือไปจากส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) แล้ว ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตยังสามารถระดมทุนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ทำให้จนขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ผู้ประกอบการบางกลุ่มปั่นราคาหุ้นทำกำไร ตั้งแต่โรงไฟฟ้ายังไม่ได้เริ่มสร้าง ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ได้ทำให้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องออกมาประกาศพร้อมจะทำการตรวจสอบ ทบทวนการอนุมัติโรงไฟฟ้าพลังงานลมใหม่ทั้งหมด เพราะมีที่อนุมัติไปมาก แต่เกิดขึ้นจริงเพียงส่วนเดียว
ขณะที่ นายอารีย์พงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการตรวจสอบผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งรายเล็กมาก (VSPP) รายเล็ก (SPP) ที่มีใบอนุญาตและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ไม่ให้มีการซื้อขายสัญญา และให้มีการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งหากรายใดไม่ดำเนินการจะมีบทลงโทษต่อไป
ทั้งนี้จากการประเมินกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมปัจจุบัน ปรากฏมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบจริงเพียง 191.75 MW ขณะที่กำลังผลิตที่เหลืออีกประมาณ 1,600 MW ได้ถูกผู้ประกอบการที่สนใจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขออนุญาตผลิตจนเต็มโควตาที่กำหนดไปหมดแล้ว
โดยในจำนวนนี้พบว่า กลุ่มบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ที่มี "นายนพพร ศุภพิพัฒน์" นั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร และปัจจุบันอยู่ในระหว่างหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีหมิ่นเบื้องสูง และคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับ พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ครอบครองส่วนแบ่งโควตาโรงไฟฟ้าพลังงานลมกลุ่มเดียวสูงถึงร้อยละ 40
ขณะที่ด้าน ดร.สุเมธ สุทธภักติ รองนายกสมาคมกังหันลมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีหนังสือถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงาน หยุดรับคำร้องเสนอขายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของผู้ประกอบการ โดยคำสั่งดังกล่าวได้อ้างถึงมติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ระบุอย่างชัดเจนว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ ปัจจุบันมีกำลังผลิตล้นเกินไปจากเป้าหมายตามแผนแล้ว (1,800 MW) แต่ทางสมาคมเห็นว่า คำสั่งของ กกพ. ดังกล่าว จะทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากลมไปไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด เพราะในส่วนของกำลังผลิต 1,600 MW ที่ผู้ประกอบการยื่นคำร้องเข้ามานั้น ในความเป็นจริงมีโครงการที่สามารถดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริงน้อยมาก ส่วนใหญ่จะดำเนินการเพียงแค่ให้ได้มาซึ่ง สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ.-กฟภ. แล้วนำโครงการพร้อมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปขายให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ได้รับยื่นขออนุญาตหรือขอแล้วแต่ไม่ใด้รับอนุญาตให้ผลิต
ดังนั้นเมื่อ กกพ.ออกคำสั่งให้ กฟผ.-กฟภ.หยุดรับคำร้องเสนอขายไฟฟ้า ส่งผลให้ใบอนุญาตพร้อมสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีราคาซื้อขายในตลาดสูงถึง 10 ล้านบาท/MW แต่ก็ไม่มีผู้สนใจซื้อมากนัก เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานมีความเสี่ยงมากกว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจโรงไฟฟ้าต่างทราบดีว่า หากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมไม่ได้อยู่ในพื้นที่มีศักยภาพแท้จริง (กระแสลมพัดผ่านอย่างสม่ำเสมอ) ก็ไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ ที่สำคัญสถาบันการเงินจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้แน่นอน
ด้วยเหตุนี้ ดร.สุเมธ จึงคิดว่ากระทรวงพลังงานควรสั่งให้มีการทบทวนคำร้องขอที่ยื่นเข้ามาให้ชัดเจนว่า ใครที่ทำได้จริงบ้าง ส่วนในรายที่ทำไม่ได้ก็ให้ปลดออกไปจากระบบ เพื่อเปิดให้ยื่นคำร้องขอทำโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมามันมีช่องว่างให้กลุ่มทุนเข้ามาหาประโยชน์จากโครงการนี้ โดยที่กระทรวงพลังงานทำได้แค่รอให้สิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (COD) แล้วจึงพิจารณาให้ผู้ยื่นคำร้องรายใหม่เพิ่มเติมโดยไม่มีการตรวจสอบความคืบหน้า ซึ่งในแต่ละรายจะมีเวลาดำเนินโครงการรวม 2 ปี
ล่าสุดสมาคมกังหันลมแห่งประเทศไทย ได้ตัดสินใจทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อขอให้ดำเนินการตามนี้
1. ขอให้เปิดการทบทวนกำลังผลิตโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในส่วนของ 1,600 MW ว่า โครงการใดสามารถดำเนินการได้จริง และในรายที่ดำเนินการไม่ได้ขอให้มีการเปิดรับคำร้องใหม่เพิ่มเติม
2. ต้องการให้กระทรวงพลังงานสร้างความชัดเจนว่า ในส่วนของกำลังผลิต 1,600 MW จะยังคงให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าในรูปแบบเดิมคือ Adder ที่อัตรา 3.50 บาท/หน่วยใช่หรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่ากระทรวงพลังงานจะปรับ Adder เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบค่าไฟฟ้าแบบ Fit ซึ่งจะสามารถปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าลงได้อีก หากมีการดำเนินการจริงอาจจะไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจที่จะขออนุญาตผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก