เงินอุดหนุนบุตร 2568 เข้าวันไหนบ้าง ชวนคุณพ่อคุณแม่มาเช็กปฏิทินเงินอุดหนุนบุตร และหากยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อนก็ตามมาเช็กเงื่อนไขการสมัครกันได้เลย เงินอุดหนุนบุตร หรือที่บางคนเรียก เงินเด็กแรกเกิด เป็นเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลมอบให้กับผู้ปกครองที่มีบุตร เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าตัวเองได้รับสิทธิสวัสดิการจากโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดกับเขาด้วย วันนี้เราจึงมาแนะนำวิธีลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการ ส่วนคนที่เคยสมัครแล้ว ลองมาดู ตารางเงินอุดหนุนบุตร 2568 ว่าจะมีเงินโอนเข้าบัญชีในวันไหนบ้าง โดยปกติแล้ว เงินอุดหนุนบุตรจะเข้าบัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือน ยกเว้นว่าวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการหรือวันสำคัญต่าง ๆ เงินอุดหนุนบุตรจะถูกโอนเข้าบัญชีล่วงหน้าก่อนวันหยุด ตามปฏิทินการจ่ายเงินปี 2568 ดังต่อไปนี้ เดือนมกราคม : วันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 เดือนกุมภาพันธ์ : วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เดือนมีนาคม : วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2568 เดือนเมษายน : วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568 เดือนพฤษภาคม : วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 เดือนมิถุนายน : วันอังคารที่ 10 มิถุนายน 2568 เดือนกรกฎาคม : วันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2568 เดือนสิงหาคม : วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2568 เดือนกันยายน : วันพุธที่ 10 กันยายน 2568 เดือนตุลาคม : วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2568 เดือนพฤศจิกายน : วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2568 เดือนธันวาคม : วันอังคารที่ 9 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงวันที่โอนเงิน กรมบัญชีกลางจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สามารถดู ปฏิทิน ได้จากที่นี่ ผู้ปกครองที่มีลูกวัยแรกเกิดจนถึงอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ หากลงทะเบียนผ่านแล้วจะได้รับเงินอุดหนุนบุตรเดือนละ 600 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ปกครองที่ลงทะเบียน คนที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน และต้องการเข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ เด็กต้องมีสัญชาติไทย พ่อแม่ของเด็กต้องมีสัญชาติไทย หรือคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย เด็กมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนครบ 6 ปีบริบูรณ์ เด็กอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน มีสัญชาติไทย เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในอุปการะ (ไม่ใช่พ่อแม่ก็ได้) เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกในครัวเรือนที่อาศัยอยู่ติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 180 วัน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี (นำรายได้รวมทั้งครัวเรือน 1 ปี มาหารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือน) รับราชการก็สามารถลงทะเบียนได้ มารดาที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ต้องรอให้คลอดบุตรก่อนจึงสามารถลงทะเบียนได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้อนุมัติหลักการปรับเงื่อนไขเงินอุดหนุนบุตร โดยจะปรับเป็นให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า ไม่กำหนดเกณฑ์รายได้ของผู้ปกครอง และขยายอายุของเด็กให้ครอบคลุมตั้งแต่ในครรภ์ 4 เดือน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นยังต้องรอการประกาศเงื่อนไขและรายละเอียดอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่ เมืองพัทยา : ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตามภูมิลำเนา นอกจากนี้ยังสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "เงินเด็ก" โดยทำตามขั้นตอนในคลิปนี้ 1. แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01) (ดาวน์โหลดที่นี่) 2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) โดยต้องได้รับการรับรองแล้วจากบุคคล 2 คน คือ ผู้รับรองคนที่ 1 - กรุงเทพมหานคร : อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการชุมชนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปฏิบัติงานในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง หากไม่มีผู้รับรองคนที่ 1 ให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งในระดับปฏิบัติการขึ้นไป หรือเทียบเท่าที่ปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับรองได้ - เมืองพัทยา : อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเมืองพัทยา - ส่วนภูมิภาค : อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้รับรองคนที่ 2 ได้แก่ ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำตำบล ประธานชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการสถานบริการสาธารณสุขในระดับตำบล ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งในระดับปฏิบัติการขึ้นไปหรือเทียบเท่า ที่ปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่หรือท้องถิ่นแห่งนั้น (ต้องไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายในการรับลงทะเบียน) * กรณีสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน ไม่ต้องมีผู้รับรองสถานะของครัวเรือน 3. บัตรประจําตัวประชาชนแบบ Smart Card ของผู้ปกครอง 4. สูติบัตรเด็กแรกเกิด 5. ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท 6. สำเนาเอกสาร หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรหรือเอกสารอื่นที่แสดงสถานะหรือตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2 7. สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย, บัญชีเงินฝากเผื่อเรียก ธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น) 8. สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์ (หากสมุดหายให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา) หลังจากลงทะเบียนแล้ว ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบสิทธิและติดตามสถานะได้ 3 ช่องทาง คือ 1. เว็บไซต์กรมกิจการเด็กและเยาวชน http://csgcheck.dcy.go.th 2. แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" 3. แอปพลิเคชัน "เงินเด็ก" สำหรับใครที่มีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โทร. 08 2091 7245, 08 3431 3533, 08 2037 9767, 06 5731 3199 (ในวัน-เวลาราชการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.00 น.) เช็กเงินอุดหนุนบุตร ขึ้นสถานะแบบไหน ต้องแก้อย่างไร ทำไมเงินยังไม่เข้าบัญชี ? วิธีตรวจสอบสิทธิเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เช็กง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม เบิกยังไง จ่ายย้อนหลังได้ไหม ต่างกับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอย่างไร ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กรมกิจการเด็กและเยาวชน
แสดงความคิดเห็น