กองทุน Thai ESG คืออะไร ใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าไรในปี 2567 มาศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อจูงใจนักลงทุน กองทุน Thai ESG เป็นอีกหนึ่งกองทุนลดหย่อนภาษี ซึ่งเริ่มใช้เมื่อปลายปี 2566 อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้นักลงทุน ให้ความสนใจไม่มากนัก กระทรวงการคลังจึงได้ปรับเงื่อนไขของกองทุนรวม Thai ESG ใหม่ในปี 2567 เพื่อจูงใจให้คนลงทุนมากขึ้น จะมีอะไรบ้างนั้นตามมาอ่านกันเลย ก่อนจะไปรู้จักกองทุน Thai ESG ลองมาทำความเข้าใจคำว่า ESG กันก่อน โดย E หมายถึง Environment (สิ่งแวดล้อม), S คือ Social (สังคม) และ G คือ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดของนักลงทุนทั่วโลกที่พิจารณาธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ตรวจสอบได้ เพื่อการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน ดังนั้น กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) หรือ Thai ESG จึงเป็นกองทุนรวมที่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศที่เข้าเงื่อนไขการเป็น ESG ไม่น้อยกว่า 80% ของทรัพย์สินสุทธิ (NAV) และให้สิทธินำไปหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาลได้ปรับปรุงเงื่อนไขกองทุนรวม Thai ESG ใหม่ในปี 2567 โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2567-2569 รวม 3 ปี ดังนี้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (จากเดิมให้สูงสุดแค่ 100,000 บาท) สำหรับผู้ที่ลงทุนในปี 2567-2569 จะต้องมีระยะเวลาถือครองไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ (จากเดิมต้องถือครองไม่ต่ำกว่า 8 ปี) ดังนั้น ถ้าเราซื้อกองทุนในปี 2567 ก็จะขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขในปี 2572 ลงทุนไม่น้อยกว่า 80% ของทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ดังนี้ 1. หุ้นใน SET/MAI ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (ESG) 2. ESG Bond 3. Green Token 4. หุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล การขายกองทุนรวมก่อนครบกำหนดถือว่าผิดเงื่อนไข ผู้ลงทุนจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมด และต้องจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐย้อนหลังด้วย อย่างที่ทราบว่านอกจากจะมีกองทุนรวม Thai ESG แล้ว เรายังมีกองทุนลดหย่อนภาษีอย่างกองทุนรวม SSF และ RMF ด้วยเช่นกัน ลองมาเปรียบเทียบเงื่อนไขของทั้ง 3 กองทุน ในปี 2567 กันดู กองทุนรวม Thai ESG : ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 300,000 บาท และไม่นับวงเงินรวมกับกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีตัวอื่น ๆ กองทุนรวม SSF : ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนรวม RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี กองทุนรวม RMF : ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี กองทุนรวม Thai ESG : 5 ปีเต็ม (เฉพาะการลงทุนในปี 2567-2569) แต่หากเป็นการลงทุนในปี 2566 หรือหลังจากปี 2569 จะต้องถือครองอย่างน้อย 8 ปีเต็ม กองทุนรวม SSF : 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ (วันชนวัน) กองทุนรวม RMF : ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับจากวันที่ลงทุนวันแรก และต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ กองทุนรวม Thai ESG : ลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG ตราสารหนี้ ESG Bond รวมถึง Green Token กองทุนรวม SSF : ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท กองทุนรวม RMF : ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท กองทุนรวม Thai ESG : ไม่กำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี กองทุนรวม SSF : ไม่กำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี กองทุนรวม RMF : ไม่กำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ แต่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปี (นับเฉพาะปีที่มีรายได้) และต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ กองทุนรวม Thai ESG : ใช้สิทธิซื้อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2566-2575 กองทุนรวม SSF : ใช้สิทธิซื้อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2563-2567 (รอประเมินผลอีกครั้งว่าจะต่ออายุหรือไม่) กองทุนรวม RMF : เริ่มซื้อได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากนับเฉพาะกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีทั้ง Thai ESG SSF และ RMF เท่ากับว่าจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 800,000 บาท คนที่มีฐานภาษีสูงตั้งแต่ 15% ขึ้นไป เพราะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ หรือไม่เกิน 300,000 บาท เช่น หากมีฐานภาษี 20% และต้องถือครองกองทุน 5 ปี เท่ากับว่าได้ผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีปีละ 4% ยังไม่รวมผลตอบแทนจากกำไรหรือขาดทุนที่ได้จากการลงทุน แต่สำหรับคนที่มีฐานภาษีไม่สูง เช่น 5% หากลงทุนใน Thai ESG จะได้ผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีเพียงปีละ 1% เท่านั้น (ยังไม่รวมกำไร-ขาดทุนจากการลงทุน) ซึ่งพอ ๆ กับเงินฝากดิจิทัลหรือเงินฝากประจำที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า จึงอาจดูไม่คุ้มค่าเท่าไร คนที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในกลุ่มการลงทุนเพื่อการเกษียณ เช่น SSF RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ เต็มจำนวน 500,000 บาทแล้ว และยังต้องการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เนื่องจากกองทุนรวม Thai ESG แยกวงเงินออกจากสิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มเกษียณ ต้องการลงทุนในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยสนใจลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม ESG มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นการลงทุนย่อมมีโอกาสที่จะได้กำไรหรือขาดทุน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีใด ๆ ก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น กองทุน Thai ESG คืออะไร เปรียบเทียบตัวช่วยลดหย่อนภาษีแบบใหม่ที่ต่างจาก SSF และ RMF e-Tax Invoice ร้านไหนออกใบกำกับภาษีได้บ้าง เช็กก่อนช้อปลดหย่อนภาษี 2567 เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี เช็กเลย...ถ้ามีรายได้เท่านี้ ต้องเสียภาษีกี่บาท วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี เงินได้พึงประเมิน คืออะไร คำนวณอย่างไร ขอบคุณข้อมูลจาก : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, thailandesg.com
แสดงความคิดเห็น