เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก TaxBugnoms , ทวิตเตอร์ @TAXBugnoms
ยกเลิกลดหย่อนกองทุนรวม LTFและRMF จริงหรือไม่ กรมสรรพากรจะทำการปฏิรูปการเก็บภาษีกองทุนรวม LTFและRMF อย่างไร มาดูกัน
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอต่อ คสช. ให้มีการปฏิรูปภาษีใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากการปฏิรูปที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหารอบด้าน ทำให้ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษี และหนึ่งในข้อเสนอดังกล่าวคือ ทบทวนสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ของกองทุน LTFและRMF พร้อมทั้งมีการศึกษาว่าค่าลดหย่อนทั้งหมด ผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มใดมากที่สุด … ว่าแต่ กองทุน LTFและRMF คืออะไร? ใครได้ประโยชน์จาก LTFและRMF กันแน่? วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการลงทุนคืออะไร? วันนี้กระปุกดอทคอม ได้รับการเอื้อเฟื้อข้อมูลจาก @TAXBugnoms ที่อนุญาตให้นำข้อมูลเรื่อง “เค้าจะปฏิรูป LTFและRMF จริง ๆ หรอครับ” มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน รายละเอียดเป็นอย่างไรไปดูกันเลยค่ะ
เค้าจะปฏิรูป LTFและRMF จริง ๆ หรอครับ
จากข่าวล่ามาเร็วล่าสุดเมื่อวันก่อน เป็นข่าวที่มีหัวข้อสั้น ๆ แต่สั่นสะท้านทุกวงการลดหย่อนภาษีว่า.. “คลังเลิกลดหย่อน LTF-RMF เสนอลดภาษีบุคคลธรรมดา” เพื่อ “ปฏิรูปภาษี” โดยยกเลิกสิทธิลดหย่อนภาษีกองทุนรวม LTFและRMF ดังนั้นบทความพิเศษตอนนี้ @TAXBugnoms อยากจะขอแชร์ข้อมูลดี ๆ แนวคิดใส ๆ และแถลงไขความเข้าใจผิดที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะมีหลายคนหลังไมค์มาถามว่า “ตกลงมันเกิดอะไรกันแน่?”
อันดับแรก! เรามาทำความเข้าใจกันอีกครั้งนะครับว่า “แรกเริ่มเดิมทีกองทุนรวมเฉพาะ LTF เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2559 เป็นปีสุดท้าย” แต่สำหรับข่าวล่ามาเร็วนี้เข้าใจว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปทั้ง LTFและRMF ไปพร้อม ๆ กันเลย เนื่องจากเหตุผลว่า “ประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลางได้รับประโยชน์จริง ๆ หรือไม่” หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือกลัวว่าสิทธิประโยชน์นี้จะเอื้อประโยชน์ให้ “คนที่มีรายได้มาก” มีโอกาสลดหย่อนภาษีมากกว่า “คนที่มีรายได้น้อย” เอ่อ… ว่าแต่คนแบบไหนเรียกว่ารายได้มากหรือรายได้น้อยกันละเนี่ย
ใครได้ประโยชน์จาก LTFและRMF กันแน่
จากการค้นคว้าวิจัยด้วยตัวเอง (ฟังดูอนาถพิลึกนะครับ TwT) พบว่ามีกลุ่มคนอยู่ 4 ประเภท ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อกองทุน LTF และ RMF เพื่อประหยัดภาษี อันได้แก่
1. คนที่ไม่สามารถซื้อ LTF/RMF เพื่อประหยัดภาษีได้ : คนกลุ่มนี้เรียกว่าผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เนื่องจากลำพังจะยาไส้ยังไม่มีปัญหา แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อกองทุนเพื่อประหยัดภาษีกันละโว้ยยย (โทษครับ อินไปหน่อย)
2. คนที่ซื้อ LTF/RMF เพื่อลดหย่อนภาษีบ้างตามอัธยาศัย : คนกลุ่มนี้ได้วางแผนการเงินโดยแบ่งเงินออม หรือรายได้บางส่วนมาซื้อกองทุนไม่ว่าจะเป็นเพื่อการลงทุนหรือประหยัดภาษี แต่ไม่ได้ใช้สิทธิเต็มทั้งจำนวน
3. คนที่ซื้อ LTF/RMF เพื่อลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน : คนกลุ่มนี้มีการวางแผนการเงินที่เรียกได้ว่ายอดเยี่ยม ถ้าเป็นเกมส์ก็เรียกได้ว่าเก็บทุกเม็ด อารมณ์ประมาณเล่นคุกกี้รันแล้วเก็บเพชรได้ทุกเม็ด และคนกลุ่มนี้เองแหละที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
4. คนที่ชีวิตนี้ไม่คิดจะซื้อ LTF/RMF : คนกลุ่มนี้ไม่มีผลใด ๆ ชั้นไม่ซื้อซักอย่าง LTF หรือ RMF ช่างแมร่งงงงง /ฝากออมทรัพย์โลด
หากเราเปรียบเทียบข้อมูลง่าย ๆ เราจะเห็นว่า กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ที่สุดคือกลุ่มที่ 3 นั่นคือได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็มเพดานที่กฎหมายอนุญาต แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการแบ่งประเภทนี้คือ เราไม่รู้เลยว่าคนกลุ่มไหนคือคนรวยหรือคนจน เพราะมันมาจากอุปนิสัยในการใช้เงินและการวางแผนทางการเงินของแต่ละบุคคลมากกว่า
แต่รูปประกอบด้านล่างนั้น คือการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามความเป็นจริง เนื่องจากบางคนอาจจะมีรายได้สูงแต่ใช้สิทธิลดหย่อนและในขณะเดียวกันก็อาจจะมีบางคนไม่ได้ใช้สิทธิ์ ดังนั้นคำถามหนึ่งที่ทางสรรพากรอาจจะต้องพิจารณาคือ คนที่มีรายได้สูงนั้น ใช่คนกลุ่มเดียวกันกับคนที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ ผู้ที่มีรายได้สูงนั้น เราจะนิยามได้อย่างไร ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “เอื้อประโยชน์คนรวย” อาจจะไม่ได้เป็นจริง หากเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์จากข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้
วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการลงทุนคืออะไร
เนื่องจาก LTFและRMF นั้นเป็นกองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการออมระยะยาว โดย LTF จะเน้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดหุ้นไทย เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ลงทุน และเสถียรภาพให้มากขึ้น ส่วน RMF มีวัตถุประสงค์เพื่อสะสมเงินไว้ใช้หลังวัยเกษียณและความมั่นคงของชีวิตหลังเกษียณ
อีกข้อหนึ่ง คือ ปัจจุบันระบบประกันสังคมและการบริการด้านสาธารณสุขยังมีไม่พอเพียงต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุไว้ว่าคนไทยจำนวน 62% นั้นไม่เคยคิดถึงวันเกษียณ และไม่เคยวางแผนใด ๆ ทางการเงินเลย (โอ้ววแม่เจ้า)
ณ จุดนี้ เราคงต้องถามตัวเองว่า วัตถุประสงค์ในการลงทุนของเรานั้นคืออะไร? หากเรามองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวหรือเพื่อเกษียณ เราก็นั่งหน้ามนยิ้มแป้นลงทุนต่อไปให้สบายใจ เพราะถึงไม่ลดหย่อนภาษีเราก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเรามองว่าเป็นการลงทุนเพื่อ “ลดภาษี” เป็นหลัก เราอาจจะต้องถามตัวเองต่อไปอีกสองข้อว่า “ทุกวันนี้เราลงทุนโดยรู้ความเสี่ยงหรือไม่” และ “เรามีหนทางอื่นในการลงทุนแล้วหรือยัง”
แล้วอนาคตตรูจะเป็นอย่างไร?
บอกตรง ๆ ว่า งานนี้มีหนาว เพราะหลังจากปี 2559 จำนวนคนซื้อที่จำนวนลดลงในแต่ละปี อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนอย่างแน่นอน โดยข้อมูลจากเฟซบุ๊กส่วนตัว คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ได้ให้ข้อมูลจำนวนเงินลงทุนและสัดส่วนของกองทุน LTFและRMF ไว้ดังนี้
ตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่า หากยกเลิกกองทุน น่าจะมีผลกระทบไม่น้อยต่อตลาดกองทุนรวม และอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยรวมหรือไม่ อันนี้ @TAXBugnoms คงตอบไม่ได้เช่นเดียวกันครับ แต่เท่าที่ลองสอบถามเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ผู้เชี่ยวชาญในวงการ มักจะได้รับคำตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “ตก” หรือไม่ก็ “ตกหนักแน่” เพราะหลาย ๆ คนมองว่า คนส่วนใหญ่ซื้อเพราะต้องการผลประโยชน์ทางภาษีมากกว่าลงทุน เนื่องจาก (ความคิดเห็นส่วนตัว) สามารถลงทุนในหุ้นได้ผลตอบแทนมากกว่า หรือว่าสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าได้
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข่าวสารและข้อเสนอที่ทางกรมสรรพากรแจ้งต่อทาง คสช. ไว้ ซึ่งเราทุกคนก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจกันไปจนรีบขายตั้งแต่ปีนี้นะครับ (ย้ำอีกครั้งว่าปี 2559 นะครับที่หมดสิทธิ์)
สุดท้ายนี้ ผมคาดว่าคงมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ผมขออนุญาตเตือนใจอีกครั้งหนึ่ง คือ ถึงแม้ว่าจะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ก็ตาม แต่เราทุกคนควรจะสนใจการลงทุนเป็นหลักเพื่ออนาคตในวันหน้า และเพื่อที่จะได้ลัลล้ายามเกษียณนะครับ