เป็นหนี้บัตรเครดิต ทําไงดี ไม่จ่ายบัตรเครดิต หนี้บัตรเครดิต ไม่จ่าย ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ควรทำอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำมาฝาก
ปัญหาหนึ่งของคนมีหนี้บัตรเครดิตที่ยังไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน แถมใช้จ่ายเงินด้วยความฟุ่มเฟือยหรือใช้จ่ายเงินไม่เป็น อาจก่อให้เกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ทันเวลาที่กำหนด ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ ค่าปรับจากการผิดเงื่อนไขการชำระ ดอกเบี้ยที่คิดจากยอดค้างชำระ ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลเสียจากความเครียดที่มีเพิ่มขึ้น และสุขภาพจิตที่เสียไปเมื่อขาดเงินชำระหนี้
เริ่มแรกเมื่อใช้บัตรเครดิตใหม่ ๆ ไม่มีใครคิดอยากเป็นหนี้ แต่พอเริ่มใช้สักระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าตนเองมีกำลังซื้อจากเงินในอนาคตมากขึ้น จากเดิมที่เคยชำระแบบเต็มวงเงิน เริ่มเปลี่ยนเป็นการชำระเพียงบางส่วน ดังนั้น หากไม่มีวินัยในการใช้เงินที่ดีแล้ว จะเริ่มมีการค้างชำระหนี้บัตรเครดิตจาก 1 เดือน เป็น 2 เดือน 3 เดือน และในที่สุดก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งส่งผลต่อการขอกู้เงิน หรือการขอสินเชื่อในครั้งต่อ ๆ ไป เช่น ในอนาคตหากมีความประสงค์ต้องการซื้อบ้าน รถยนต์ จะทำให้สูญเสียโอกาสในการกู้เงิน เพราะการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน ใช้วิธีดูประวัติการผ่อนชำระผ่านทางระบบข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (Credit Bureau) กล่าวคือ หากเป็นผู้ที่มีประวัติการผ่อนชำระไม่ดี อาจไม่สามารถกู้เงินได้อีกในครั้งต่อไป ดังนั้น คุณผู้อ่านควรรู้จักวิธีบริหารจัดการหนี้ เผื่อไว้สำหรับเวลาที่เดือดร้อนเรื่องเงินจริง ๆ จะได้สามารถพึ่งพาเครดิตของตัวเองได้ ไม่ต้องไปขอหยิบขอยืมเงินใครมาใช้
สำหรับวิธีบริหารจัดการหนี้นั้น ขอเริ่มจากหนี้ที่ง่ายที่สุด คือ หนี้บัตรเครดิต การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีความง่ายและสะดวกสบาย แต่ หากขาดการวางแผนที่ดี อาจก่อให้เกิดเป็นหนี้สินได้ หนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้อันดับแรกที่ควรชำระ เนื่องจากดอกเบี้ยสูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตจะ เริ่มคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่มีการจ่ายเงินแทนลูกค้าออกไป สำหรับเทคนิคการบริหารจัดการหนี้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธีนั้น มีดังต่อไปนี้
ไม่มีเงินจ่าย อย่าได้รูดบัตร ใช้จ่ายให้น้อยกว่า หรือเท่ากับเงินสดที่มีเท่านั้น
ชำระเต็มจำนวน... ตรงตามเวลา จะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย รวมถึงค่าปรับต่าง ๆ ได้
ถือบัตรที่เหมาะกับ Lifestyle มีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้ เช่น เติมน้ำมันผ่านบัตรเครดิตให้ส่วนลดสูงถึง 5% เติมเงินค่าเดินทางรถไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิตมีส่วนลดพิเศษ เป็นต้น
อ่าน Statement อย่างละเอียด เพื่อทบทวนรายจ่ายในแต่ละเดือน
ใช้ Statement เป็นบันทึกการใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น
ใช้สิทธิประโยชน์จาก Point อย่างเหมาะสม ไม่เป็นเหยื่อโปรโมชั่น ของบัตรเครดิต
อันดับแรกต้องใจแข็ง ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ซื้อเฉพาะสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ยารักษาโรค ค่าเดินทางมาทำงาน เสื้อผ้าตามความจำเป็น ฯลฯ มีข้อคิดดี ๆ สำหรับการประหยัดเงินเพื่อมาชำระหนี้เพิ่ม คือ “ถึงแม้ว่าจะถูกแค่ไหน ถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ”
อันดับต่อมา ควรชำระหนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูง ๆ ก่อน หากมีเฉพาะบัตรเครดิต ควรเลือกปิดบัตรที่มียอดหนี้คงเหลือต่ำ ๆ ก่อน แล้วทยอยปิดบัตรที่มียอดคงเหลือน้อยใบต่อไป เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการลดหนี้ ทั้งนี้ ควรมีการบันทึกบัญชีรับ-จ่าย ควบคู่กันไปด้วย เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้เพิ่ม (จะได้หมดเร็ว ๆ) และหากต้องการมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ “บัตรเดบิต” แทน “บัตรเครดิต” เพื่อที่จะได้ใช้จ่ายตามเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะมีเงินมาชำระหนี้บัตรเครดิตหรือไม่ ซึ่งการใช้บัตรเดบิตก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง และพยายามหาทางเพิ่มรายได้ เพื่อนำมาชำระหนี้
อันดับสุดท้ายที่แนะนำ คือ การขายสินทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้ พิจารณาสินทรัพย์ที่มีอยู่และไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หากนำมาชำระหนี้แล้วจะทำให้ลดดอกเบี้ยจ่ายและเงินต้น ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ การวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าเป็นรายเดือน จัดแยกค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค และใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณที่กำหนด จะช่วยให้คุณมีเงินเหลือเก็บมาชำระหนี้มากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โดย คนอง ศรีพิบูลพานิชย์
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย